ผู้สื่อข่าวรายงานจากประเทศศรีลังกา เพื่อติดตามการส่งกลับ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างไทยที่ถูกส่งมาเป็นทูตสันถวไมตรีให้ศรีลังกา เมื่อ 22 ปีก่อน และด้วยอาการป่วย ทำให้ทางการต้องนำกลับมารักษาที่ไทย โดยมีกำหนดกลับวันที่ 2 ก.ค.นี้ ล่าสุดมีการปรับแผน โดยเปลี่ยนควาญที่ดูแลช้างบนเครื่องบินระหว่างส่งกลับ เป็นควาญศรีลังกา 1 คน เพื่อให้สามารถสื่อสารทั้งภาษาไทยและศรีลังกาได้
บรรยากาศวันนี้ (29 มิ.ย.) ที่สวนสัตว์ Dehiwala เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ผู้สื่อข่าวเดินทางมาเกาะติดการส่งกลับ และรายงานความเคลื่อนไหวของ พลายศักดิ์สุรินทร์ ก่อนส่งกลับไทย วันนี้มีชาวศรีลังกาเดินทางมาชมช้างเป็นจำนวนมาก โดยพลายศักดิ์สุรินทร์ ส่งเสียงร้องทักทายทำให้เด็กๆ ที่มาชมต้องเกาะรั้วดูกันอยู่นาน ขณะที่บางช่วงช้างก็ใช้งวงดึงโซ่ หยอกล้อกับคนที่มาชม ขณะที่ช่วงเย็นทีมงานจากประเทศไทยเตรียมฝึกซ้อมให้ช้างเดินเข้ากรงอีกครั้ง
รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ตามแผนเดิมของการขนย้ายกลับพลายศักดิ์สุรินทร์ ด้วยเครื่องบินแบบ Ilyushin IL-76 (อิลยูชิน อิล-76) จะให้ควาญไทยเดินทางมาพร้อมกัน 4 คน แต่ต้องมีการปรับแผน โดยนำควาญศรีลังกามาด้วยอีก 1 คน เพื่อให้การสื่อสารระหว่างควาญกับช้างเกิดความสะดวกมากขึ้นในการสื่อสาร จึงจำเป็นต้องตัดควาญไทยที่มาจะมากับเครื่องออก 1 คน
...
โดยตำแหน่งที่นั่งบนเครื่องบินโดยสารจะมีควาญประกบด้านหน้าและหลังกรง ส่วนทีมแพทย์อีก 2 ท่านจะนั่งอยู่ด้านหน้า โดยทีมงานที่มาพร้อมกับช้างทั้งหมด 6 คน
นายสัตวแพทย์วิสิทธิ์ อาศัยธรรมกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตอนนี้สุขภาพของช้างค่อนข้างสมบูรณ์ หากไม่มีอุปสรรคจากขาหน้าที่ไม่สามารถงอได้ คาดว่าจะสามารถขนย้ายกลับไทยได้ตามแผน
เมื่อวานได้เจาะเลือดของช้างเพื่อไปตรวจหาวัณโรคที่โรงพยาบาลสัตว์ในศรีลังกา พบว่าไม่มีโรคดังกล่าว และได้นำอุจจาระของช้างไปตรวจหาไข่พยาธิก็ไม่พบ จึงเป็นสัญญาณที่ดีในเรื่องสุขภาพ ขณะที่สุขภาพจิตของช้างมีความปกติ โดยตอนนี้ได้ประเมินความพร้อมของช้างในการส่งกลับแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
แต่สิ่งที่ยังต้องประเมินระหว่างขนส่งคือ อาการตื่นตกใจของช้างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงขนย้ายทางรถยนต์ และขณะเครื่องกำลังขึ้นและลง ดังนั้นทีมสัตวแพทย์ได้มีการควบคุมอาหารของช้าง ซึ่งระหว่างการขนส่งจะให้อาหารที่เป็นชิ้นขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้ช้างอิ่มมากเกินไป และเสี่ยงที่จะตกมันได้
โดยการให้อาหารช้างบนเครื่องจะมีกล้วย อ้อย และหญ้าเนเปีย ซึ่งควาญจะค่อยๆ ให้ชิ้นเล็กๆ ตลอดการเดินทาง แต่ถ้าหากช้างมีอาการตื่นกลัวก็จะให้ยาซึมอย่างระมัดระวัง
ส่วนกรงในการขนย้ายค่อนข้างที่จะมั่นใจได้ว่าตัวของช้างจะไม่โคลงเคลงระหว่างขนส่ง เพราะมีการบุแผ่นกันกระแทก และทำให้ช้างสามารถยืนทรงตัวได้ง่ายขึ้น ส่วนการขับถ่ายระหว่างขึ้นเครื่อง จะมีช่องในการเก็บอุจจาระของช้างไว้ด้านท้ายกรง ส่วนปัสสาวะมีการออกแบบรางน้ำเพื่อให้ไหลไปด้านล่าง ที่จะมีฟองน้ำคอยดูดซับ และมีถังรองด้านใต้กรงอีกชั้น
ทั้งนี้ จากการเฝ้าสังเกตการณ์ของผู้สื่อข่าว ประชาชนในศรีลังกาให้ความสนใจกับการขนย้ายช้างครั้งนี้มากๆ โดยหลายคนที่มาสวนสัตว์ได้ถ่ายภาพและวิดีโอเพื่อเป็นที่ระลึก ขณะเดียวกันประชาชนบางส่วนก็อยากให้ช้างกลับไปรักษาตัวที่ไทย และเมื่อหายก็กลับมายังศรีลังกาอีกครั้ง.