- สังคมกำลังถกเถียง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ "หยก" เยาวชนนักเคลื่อนไหว วัย 15 ปี เคยถูกควบคุมตัวในคดีมาตรา 112 ได้จุดกระแสดราม่าร้อนแรง หลังแต่งกายชุดไปรเวท ย้อมผมสีชมพูเข้าเรียน เพราะมองว่าไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการเรียน และต่อมาได้โพสต์อ้างว่าถูกไล่ออกจากโรงเรียน
- เมื่อหยก ไม่มีสถานะเป็นนักเรียน ไม่สามารถเข้าเรียนได้ จึงยืนประท้วงหน้าโรงเรียน ทวงสิทธิต้องได้รับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับ ก่อนปีนรั้วเข้าไปในโรงเรียน ทำต่อเนื่องติดต่อกัน 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. กระทั่งวันที่ 16 มิ.ย. พยายามปีนรั้วเข้าไปอีก แต่ถูกขู่จะแจ้งความข้อหาบุกรุก จนในที่สุดหยกตัดสินใจกระโดดเข้าทางหน้าต่าง
- สาเหตุที่หยก ไม่มีสถานภาพเป็นนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเนื่องจากไม่ได้มามอบตัวพร้อมผู้ปกครอง เพื่อศึกษาต่อมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภายในวันที่กำหนด และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแนวปฏิบัติตามคู่มือนักเรียน
...
อย่าติดในกรอบใช้คำสั่ง อำนาจ จนไม่มีทางเลือก
ท่ามกลางข้อถกเถียงว่า สิ่งที่หยกทำถูกหรือผิด และดูเหมือนจะยากมากในการหาทางออกที่ลงตัวที่สุด หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่เปิดใจ “ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ” นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วจะต้องมาพูดคุยและทบทวนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในเรื่องความคิดที่แตกต่างกัน หรือมีบางเรื่องสามารถทำให้ลงตัวกันได้ ทำให้เกิดประโยชน์กับหยกและทางโรงเรียน หากยึดประโยชน์ของเด็กเป็นตัวตั้ง และตามด้วยกฎระเบียบของโรงเรียน
“ถ้ายึดกฎระเบียบเป็นตัวตั้ง ก็จะมีแต่ความไม่เข้าใจ ก็จะบานปลายไปใหญ่ ทางผู้บริหารโรงเรียน ต้องรีบพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง ในการพูดคุยหาทางออก ให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และขอให้กำลังใจทั้ง 2 ฝ่าย ได้พูดคุยกัน”
อีกทั้งสถานการณ์กับปัญหาของเด็กรุ่นใหม่ และเด็กร่วมสมัยในปัจจุบัน มีจุดความคิดไปข้างหน้า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทำให้ดีขึ้น ในการแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ ขณะที่โรงเรียนยังติดในกรอบการใช้คำสั่ง ใช้อำนาจ ซึ่งขัดแย้งกับพลวัต ถ้าต่างฝ่ายยึดความต้องการของตัวเอง ก็ไม่มีทางทำให้ชีวิตของหยกดีขึ้นได้ เพราะวิถีชีวิตของเด็กเยาวชนในปัจจุบันเคลื่อนเร็ว แต่กฎระเบียบยังล้าหลังมากกว่า จนเกิดช่องว่างกับความต้องการของเด็ก
เพราะฉะนั้นแล้วการกระจายอำนาจของผู้บริหาร ในการออกระเบียบเรื่องทรงผม การแต่งกาย ซึ่งมีโรงเรียนไม่น้อยจะต้องพูดคุยและทบทวนในเรื่องกฎระเบียบอย่างจริงจัง เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อย ไม่ยอมรับระเบียบกฎเกณฑ์ ต้องมีลู่หลัก และลู่ทางเลือก สร้างฉันทามติกับสมาคมผู้ปกครอง
จากเมื่อก่อนกฎระเบียบใช้ได้ แต่ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้วมีเด็กบางประเภทไม่สามารถปรับตัวได้ จะต้องมีทางออกในการสร้างกฎระเบียบที่มีทางเลือก ต้องถูกสร้างมาปฏิบัติ ให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย ทั้งระบบกฎเกณฑ์ตามความต้องการหลากหลาย เพราะเส้นทางการเรียนรู้ไม่ใช่ลู่เดียวแล้ว ต้องให้อิสรเสรีภาพ ให้เกิดการใช้ระเบียบกฎเกณฑ์จากวินัยตัวเอง ไม่ใช่จากภายนอก
กฎระเบียบต้องยืดหยุ่นตามยุคสมัย เข้าใจเด็กรุ่นใหม่
หากไม่ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ ระบบอำนาจจากบนลงล่าง จะทำให้สถานการณ์ของโรงเรียนกับตัวเด็ก จะเคลื่อนไปอย่างรอบคอบ ไม่ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ให้เป็นลู่เดียวเพราะเด็กรุ่นนี้เน้นการเปลี่ยนแปลง การคลายอำนาจด้วยความสงบ ซึ่งทางโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว ทั้งเรื่องทรงผม การแต่งกาย อย่างโรงเรียนหนึ่ง ให้ครูแต่งกายตามเพศสภาพ เป็นตัวอย่างผู้บริหารที่คิดนอกกรอบ ก็จะทำให้โรงเรียนและทุกฝ่าย อยู่อย่างมีความสุข ดอกไม้ก็จะบานตามธรรมชาติ ไม่ต้องบอบช้ำ
ทางผู้บริหารต้องรู้จักใช้อำนาจอย่างเหมาะสม เพื่อให้ครูและลูกศิษย์เกิดความเข้าใจ เกิดการเปลี่ยนแปลง เข้าใจความแตกต่าง และพัฒนากฎเกณฑ์ที่จะสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการ ต้องปรับปรุงการกระจายอำนาจให้ชัดเจน และยืดหยุ่นให้เข้ากับยุคสมัย เข้าใจแนวโน้มของเด็กรุ่นใหม่ จะทำให้โรงเรียนกลายเป็นแหล่งฝึกฝน ให้เด็กสามารถโชว์ศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่
“แรกๆ ผู้บริหารและผู้ปกครอง อาจตกใจว่าทำไมทรงผมเด็กเป็นอย่างนี้ หลังถูกกดทับมานาน ก็อยากแสดงออกอย่างเต็มที่ แล้วค่อยๆ พัฒนาตัวเองในการอยู่ร่วมกันได้ อย่ากังวล เพราะเป็นธรรมชาติของเด็กให้ได้รับในสิ่งที่ต้องการ ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้ ในการละเมิดและกระทบสิทธิคนอื่น แต่สุดท้ายก็จะมีคนยอมรับในสิทธิที่ตัวเองต้องการเช่นกัน”
...
ครูต้องเมตตา ไม่กดดันลูกศิษย์ เหมือนเป็นผู้ร้าย
กรณีของหยก หากมองลูกศิษย์เป็นคนสร้างปัญหา ก็จะใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ ทำให้ออกจากโรงเรียน แต่ถ้ามองว่าเด็กมีภูมิหลังถูกกระทำอย่างบอบช้ำมาก่อน จะต้องเป็นผู้ปกครองเป็นพ่อแม่ของเด็ก มีจิตที่เมตตา จะทำให้เด็กไม่ต่อต้านและมาพูดคุย ยอมรับในกติกาบางอย่าง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เห็นมีการล็อบบี้ให้ครูอาจารย์ 6-7 คน ใช้คำพูดการแสดงออกในการปฏิเสธเด็กคนหนึ่ง ด้วยความไม่เข้าใจ อาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกต่อต้าน และอาจรุนแรงขึ้น
ในการปฏิบัติกับเด็กต้องใช้ความแยบยล การผ่อนปรน เป็นบุคคลที่เด็กพึ่งพาได้ แต่ขณะนี้เหมือนการประจันหน้า ใช้ท่าที ใช้กระแสโซเชียลมาชนกัน ยิ่งไม่เป็นสิ่งดี หากเป็นผู้บริหารจะเรียกมาคุยกัน ปรับชุดความคิดให้เข้าใจเด็ก จะทำให้ปัญหาค่อยๆ คลายล็อก ให้ทางออกกับเด็กได้ และทางสมาคมผู้ปกครองและครู ก็จะสามารถอยู่ด้วยกันได้ อย่ามองว่าเป็นคู่ต่อสู้กันอีกต่อไป
“เมื่อเห็นปมปัญหาของหยก ต้องเข้าไปดูแลด้วยความเป็นห่วง เพราะเด็กก็คือเด็ก จะกระทำกับเขาเหมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ ครูไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่ศาลต้องมาตัดสิน แต่เราเป็นครู ต้องรักลูกศิษย์ แม้จะดื้อเกเรอย่างไร อยู่ที่การพูดคุยด้วยความเมตตาว่ามีอะไรให้ครูช่วยบ้าง ไม่ใช่ไปกดดันเหมือนเขาเป็นคนร้าย”.
...