ความคืบหน้าการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยทูตสันทวไมตรี ที่ส่งไปให้ศรีลังกาเมื่อ 22 ปีก่อน หลังถูกใช้งานจนมีอาการบาดเจ็บ เดิมกำหนดส่งกลับวันที่ 1 มิ.ย.นี้ แต่ด้วยสภาพอากาศ และการจราจรหนาแน่นในศรีลังกา ทางทีมแพทย์ จึงลงความเห็นเลื่อนการนำกลับมาเป็นเช้าวันที่ 2 ก.ค. นี้ ขณะที่ความคืบหน้าประกอบกรง ในการลำเลียงขึ้นเครื่องบินใกล้แล้วเสร็จ
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การดำเนินการนำช้างไทยกลับจากศรีลังกาครั้งนี้ ขอขอบคุณทางการศรีลังกา กระทรวงการต่างประเทศของไทย กำหนดการล่าสุด จะนำช้างกลับไทยวันที่ 2 ก.ค. ล่าช้าจากกำหนดเดิมหนึ่งวัน เพราะช่วงเวลาขนย้ายเดิมเป็นช่วงบ่าย ที่มีอากาศร้อน ประกอบกับการจราจรในศรีลังกา ค่อนข้างหนาแน่น อาจส่งผลให้ช้างเกิดความเครียด จึงทำการเลื่อนการเดินทางเป็นอีกวันในช่วงเช้า
...
สำหรับการต่อกรง เพื่อนำช้างขึ้นเครื่องบิน ใกล้แล้วเสร็จ เนื่องจากช้างมีงายาว จึงต้องระวังอันตราย และเมื่อถึงไทยแล้ว ต้องตรวจดูสภาพร่างกายช้าง หากร่างกายปกติ จะนำไปที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ลำปาง แต่ถ้าช้างมีอาการอ่อนเพลีย จะพักไว้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ แต่ต้องกักตรวจโรคอีก 14 วัน
พรุ่งนี้ (10 มิ.ย.) จะมีทีมแพทย์และควาญเดินทางไปศรีลังกาอีกชุด เพื่อเตรียมความพร้อมช้างในการนำกลับมาไทย ขณะที่ช้างอีกสองเชือก ที่อยู่ในศรีลังกา การดูแลสวัสดิภาพต่างๆ ค่อนข้างดี เลยยังไม่มีแผนการในการนำกลับมายังประเทศไทย
ทางกระทรวงฯ ขอยืนยันว่า ไม่มีนโยบายในการส่งสัตว์ไปเป็นทูตสันถวไมตรีกับประเทศอื่นอีก สิ่งเหล่านี้จะเป็นมาตรฐาน ที่สากลให้การยอมรับ และสร้างมาตรฐานให้กับประเทศไทยในอนาคต
ใช้งบประมาณ 19 ล้านบาท พาช้างกลับไทย
รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรงที่ใช้ในการลำเลียง จะต่อแล้วเสร็จวันที่ 10 มิ.ย. นี้ แล้วจะทำการฝึกซ้อมช้างเดินเข้ากรง คาดว่าจะเป็นไปตามแผน เบื้องต้นช้างตอบสนองคำสั่งภาษาไทยเป็นอย่างดี ซึ่งการขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ จากศรีลังกากลับไทย ใช้งบตลอดการทำงาน 19 ล้านบาท
หลังจากนำกลับไทยแล้ว จะเร่งทำการรักษาและดูแลในระยะยาว และอาจมีการประสานกับศรีลังกาต่อไป ว่าจะนำช้างไว้ที่ประเทศไทยต่อหรือไม่ เบื้องต้นมีการตรวจสอบช้างไทย ที่อยู่ในต่างประเทศอีก 10 เชือก แต่ยังไม่พบปัญหาในเรื่องการดูแลเหมือนกับพลายศักดิ์สุรินทร์
ควาญเร่งทำความคุ้นเคยกับช้าง
นายสัตวแพทย์วิสิทธิ์ อาศัยธรรมกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการตรวจสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ ทางทีมแพทย์ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างที่ศรีลังกา และประสานกับสัตวแพทย์ทางศรีลังกา พบว่า ฝีด้านข้างหนึ่งบนลำตัวเริ่มยุบเกือบหมดแล้ว แต่ด้วยการเดินทางกลับไทย ต้องใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง การออกแบบกรงจะมีท่อระบายของเสีย ต่อเชื่อมสู่ที่เก็บของเสีย และเตรียมอาหารภายในกรงให้พร้อม โดยจะพยายามไม่วางยาซึม หากไม่จำเป็น โดยพยายามทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างควาญกับช้างให้มากที่สุด เพราะการวางยาซึมมีผลต่อหัวใจของช้าง หลายครั้งช้างเมื่ออยู่ที่สูงบนเครื่องบิน อาจมีความเสี่ยงเสียชีวิตกลางอากาศได้
...
เวลาอยู่บนเครื่องบิน ควาญจะต้องประกบคู่ และสังเกตพฤติกรรม โดยควาญพยายามปลอบโยน แต่พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างที่นิสัยดี ไม่ก้าวร้าว การคุ้นชินของควาญ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เบื้องต้นส่งควาญไป 2 คน จะต้องพิจารณาว่าช้างยอมรับใครมากกว่ากัน และต้องดูว่าควาญคนไหน เข้ากับช้างได้ดี โดยมีการวางโปรแกรมฝึกซ้อมช้างในการเดินเข้ากรง
โดยวันที่ 28 มิ.ย. นี้ จะสามารถบอกได้ว่าการขนส่งจะราบรื่น หรือมีอะไรกังวล แต่ถ้าประเมินแล้วไม่พร้อมอีก ก็มีโอกาสเลื่อนส่งกลับอีกครั้ง ซึ่งทีมแพทย์จะต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพช้างเป็นหลัก
“ที่ผ่านมามีการประเมินสุขภาพช้าง ช่วงที่ยังอยู่ที่วัด มีภาวะโลหิตจางและโปรตีนต่ำนิดหน่อย แต่หลังจากนั้นย้ายมาสวนสัตว์ มีความสมบูรณ์มากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดสถานพยาบาลในศรีลังกา ที่ยังไม่มีความพร้อม ทำให้หลังจากกลับมาไทย จะต้องตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง”.