สถานการณ์สุขภาวะของคนไทยในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร กับหลายสิ่งที่ต้องเผชิญ ได้ฉายภาพให้เห็นในการประชุม “Forum รายงานสุขภาพคนไทย 2566” มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กับสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ซึ่งพบว่าปัจจัยสังคม เป็นตัวกำหนดสุขภาพของคนไทย
เพราะการจะมีสุขภาพดีได้ ต้องมีสภาพแวดล้อมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อหนุนด้วย นั่นหมายความว่าการเจ็บป่วย เกิดโรค ความเสี่ยงทางสุขภาพ ไม่ได้เกิดจากตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อมสถานที่เกิด เติบโต อาชีพการทำงาน และดำรงชีวิต ของแต่ละคนมีความหลากหลายและเหลื่อมล้ำ ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ ยกตัวอย่างพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในปี 2564 มีความแตกต่างระหว่างภูมิภาค พบว่าคนอาศัยในภาคใต้สูบบุหรี่สูงสุด ร้อยละ 22.4 เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 17.4
ในขณะที่กรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงสุด ร้อยละ 1.2 เปรียบเทียบกับในภาพรวมของประเทศ ที่ร้อยละ 0.8 โดยกลุ่มเยาวชนเป็นกลุ่มต้องเฝ้าระวัง เพราะมีสัดส่วนคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปสูงสุดในทุกกลุ่มอายุ ขณะที่สภาพแวดล้อมที่ทำงาน พบว่าคนทำงานด้านการผลิตและบริการ สูบบุหรี่มากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่คนทำงานด้านบริหาร ดื่มแอลกอฮอล์และมีภาวะอ้วนมากที่สุด
...
ที่น่าสนใจในรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 “รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอในประเด็นคำสัญญาของไทยใน “คอป” กับการรับมือ “โลกรวน” ว่า จากรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ชี้ให้เห็นความเสียหายทางธรรมชาติ ไม่อาจกู้คืนกลับมาได้จากน้ำมือของมนุษย์ และแม้วันนี้โลกจะเดินตามเส้นทางใหม่ เพื่อฟื้นฟูความเสียหายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม อย่างในเวทีคอป 26 มีความพยายามจะควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2583 และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่จะไม่สามารถกลับไปเป็นโลกใบเก่าใบเดิมอย่างที่เคยเป็นได้อีกต่อไป
อีกทั้งมหาวิบัติจากความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม 3 ด้าน เป็นจุดที่โลกรับไม่ไหว 1. ความเสื่อมโทรมของผืนดิน เพราะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมทั้งพืชและสัตว์ การระบาดของโรคที่ขยายออกไปจากพื้นที่ดั่งเดิม อาทิ ฝีดาษลิง 2. ความแปรปรวนของระบบนิเวศมหาสมุทร ปริมาณความกรดในระบบนิเวศของมหาสมุทรที่มากขึ้น ส่วนออกซิเจนลดลง 3. ความผันแปรของวัฏจักรน้ำ คุณภาพของน้ำลดลงเพราะปริมาณของออกซิเจนลดลง น้ำแข็งขั้วโลกลดลง ส่งผลต่อประเทศแถบชายฝั่งส่งผลให้เกิดอุทกภัย
แม้ผลการพยากรณ์อุณหภูมิด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ โดยศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรายงานว่าอุณหภูมิของประเทศไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่จำนวนวันที่อากาศเย็นในรอบปี จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ในทางกลับกัน จำนวนวันที่อากาศร้อนในรอบปีก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ฤดูร้อนนานยาวขึ้นกว่าเดิมและฤดูหนาวหดสั้นลงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งความแปรปรวนระหว่างฤดูต่อฤดู หรือระหว่างปีต่อปีก็อาจเพิ่มสูงขึ้นด้วย
สถิติสภาพอากาศย้อนหลัง 6 ปีที่ผ่านมา ไทยประสบสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันมาโดยตลอด เพราะอยู่ท่ามกลางปรากฏการณ์ธรรมชาติหลายอย่างเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดฝนผิดปกติ โดยเฉพาะร่องมรสุมทำให้เกิดฝนบริเวณกว้าง และพายุหมุนเขตร้อนทำให้ฝนตกมากขึ้น
จากการติดตามอุณหภูมิผิวน้ำทะเล และระบบการหมุนเวียนบรรยากาศบริเวณตอนกลาง ด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตร ช่วงปี 2560-2564 พบว่า ไทยประสบกับปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา สลับกัน และบางปีก็พบปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงต้นปี และปลายปีก็พบกับปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เอลนีโญกับความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ หรือปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO)
“ทั้งหมดนี้ทำให้สภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปริมาณฝน และความแล้ง เกิดความแปรปรวน เกิดน้ำท่วมปี 2554 ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย มาจากพายุเข้ามามากกว่า 5 ลูก ในช่วงปลายฤดูฝนที่น้ำในเขื่อนส่วนใหญ่ใกล้เต็มแล้ว และผลกระทบจากลานีญา ทำให้ฝนตกเร็วกว่าปกติ และมีปริมาณมากกว่าปกติ สร้างความเสียหายกว่า 24,000 ล้านบาท
...
หลังจากนั้นในปี 2556 ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ เกิดภัยแล้งรุนแรง สร้างความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท และปี 2563 กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าเป็นปีที่แล้งที่สุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 40 ปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท”
ขณะที่พื้นที่ป่าไม้ของไทยที่สามารถช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้มีนโยบายอนุรักษ์ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของประเทศ แต่มีเพียงภาคเหนือและตะวันตกที่รักษาพื้นป่าไว้ได้นอกนั้นต่ำกว่าร้อยละ 40 และไทยนับเป็นประเทศลำดับที่ 9 เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้กำหนดให้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญของชาติ เห็นได้จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558
“แผนการทำงานของไทย แต่เดิมตั้งใจจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 แต่ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเป้าหมายใหม่ในการประชุม COP 26 จาก 20 เปอร์เซ็นต์เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ และจะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยภายในปี 2593 ยังมีแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ไม่ทำลายระบบนิเวศ เพราะปัญหาโลกรวน ไม่สามารถรอได้อีกต่อไป ถึงเวลาที่มนุษย์จะต้องปรับพฤติกรรมหลายอย่างเพื่อช่วยโลก และต้องทำทันที เพราะใครไม่ Change...แต่ Climate Change”
...
การให้คำมั่นสัญญาในเวที COP เป็นความสมัครใจและการกำกับดูแลของแต่ละประเทศ ไม่ได้มีกระบวนการติดตามหรือลงโทษต่อประเทศที่ไม่ทำตามสัญญา การจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่นั้นจึงขึ้นอยู่กับความจริงจังของนโยบาย การปฏิบัติและการมีส่วนร่วมของประเทศนั้นๆ เมื่อสิ้นสุดการประชุม COP แต่ละครั้งโลกก็คงต้องรอด้วยความหวังจากความจริงใจและความจริงจังในการทำตามสัญญาของนานาประเทศ รวมทั้งไทยด้วย
"เป็นทั้งความท้าทายและแรงกดดันต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพราะหากไม่ร่วมกันดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ และเอาจริงเอาจัง ก็คงจะยากแม้แต่จะเฉียดเป้าหมาย".