Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ตลอดเดือนมิถุนายน ในการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สื่อถึงความภาคภูมิใจและการยอมรับในตัวตนที่แท้จริง ส่วนประเทศไทยจัดกิจกรรมในปีนี้ ภายใต้ชื่องาน Bangkok Pride 2023 ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย. เพื่อขับเคลื่อนความเท่าเทียมแบบ Beyond Gender ทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

เช่นเดียวกับคณะประสานเสียงเกย์ชายแห่งกรุงเทพฯ (Bangkok Gay Men’s Chorus) หรือ BKGMC วงเกย์คอรัสแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2565 จากการรวบรวมชายรักชายที่รักในเสียงเพลง มีจิตอาสา และพร้อมจะช่วยเหลือสังคม มารวมตัวสร้างสรรค์ผลงานทางดนตรี เฉกเช่นอารยประเทศที่มีวงประสานเสียงลักษณะเดียวกัน ให้เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก จากการแสดงความสามารถของชุมชน LGBTQ+ หวังสร้างแรงบันดาลใจร่วมกันสร้างโลกแห่งความเท่าเทียม และความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม

กิจกรรมในงาน Bangkok Pride 2023 ทางคณะประสานเสียงเกย์ชายแห่งกรุงเทพฯ กว่า 30 ชีวิต จากหลากหลายภูมิหลัง จะมาร่วมแสดงความเสมอภาค เพื่อเผยแพร่ความรัก การยอมรับ ความเข้าใจ และความสามัคคี โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งเพศ วัย เชื้อชาติและศาสนา ผ่านการสื่อสารบทเพลงไปยังกลุ่มผู้ฟัง ภายใต้แนวคิด “เพราะเราคือส่วนหนึ่งของโลก” และหวังจะเป็น Soft Power ในการขับเคลื่อนประเทศไทยผ่าน Pride-Pop (Pride popular music) ให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกลุ่ม Pride ทั่วโลก

...

จากความคาดหวังของ “วิทยา แสงอรุณ” ผู้ก่อตั้งคณะประสานเสียงเกย์ชายแห่งกรุงเทพฯ มากว่า 6 เดือน เล่าถึงที่มาการก่อตั้งวงเกย์คอรัสแรกของประเทศไทย ว่า เนื่องจากประเทศชาติตะวันตกที่มีความก้าวหน้าเรื่องความเสมอภาค อย่างสหรัฐฯ มีการก่อตั้งวงคอรัสเกย์ ตามเมืองใหญ่ต่างๆ และกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองใหญ่เช่นกัน ทำไมไม่มีวงคอรัสเกย์ อีกทั้งกิจกรรมสร้างสรรค์ของกลุ่ม LGBTQ+ ก็มีหลากหลาย แต่ในส่วนนี้ไม่มีเลย ทำให้มีความคิดจะก่อตั้งวงคอรัสเกย์ มาหลายปี ให้เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ และเป็นเครื่องมือสร้างแคมเปญในโซเชียล เพราะถ้ามองในรายละเอียด สามารถเข้ากับทุกเพศทุกวัยอยู่แล้ว และต้องการสื่อเรื่องของ LGBTQ+ ในประเด็นสมรสเท่าเทียม

“ชื่อวง Bangkok Gay Men’s Chorus ก็สอดคล้องกับสากลอยู่แล้ว เพื่อแสดงอัตลักษณ์ตัวตนที่ชัดเจน และเพลงที่ใช้ร้อง อย่างเพลง She ก็เป็นเพลง He เป็นความมั่นใจในตัวเอง เพราะเพลงชายหญิงทั่วไป จะร้องตามโน้ต แต่วงของเราจะร้องแตกต่าง อย่างร้องเพลงชื่นชมผู้ชายว่าเป็นอย่างไร และก็มีคำถามว่าทำไมต้องทำวงเกย์ ไม่ทำวงชายหญิงไปด้วย ก็เพราะการแสดงออกในด้านความคิดอาจถูกจำกัด เป็นที่มาของวงคอรัสชายล้วนที่เป็นเกย์ เพื่อสะท้อนความคิดที่ถูกมองข้ามไป หรือใครจะตั้งวงคอรัสหญิงรักหญิง ก็ได้ ท้ายสุดก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน”

อีกอย่างหากเอาผู้หญิงมาร่วมร้องด้วย จะเป็นเรื่องของเทคนิคัล ซึ่งวงของเราสามารถร้องเสียงสูงได้เหมือนกัน จากพลังเสียงที่เปล่งออกมา ได้สร้างความแตกต่างจากที่เคยมีในสังคมไทย ทั้งการร้องเพลงเกี่ยวกับวัฒนธรรมของไทย และเพลงประจำในโบสถ์ แต่ด้วยกรุงเทพฯ เป็นเมืองพหุวัฒนธรรม มีความแตกต่างหลากหลาย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนดู และเชิดชูความเป็นหนึ่งของคนในสังคม จะทำให้คนเชื่อและคิดตาม นำไปสู่การขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงในสังคม

ตั้งวงเกย์คอรัส ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเฟ้นหาคนที่ใช่

เบื้องหลังการก่อตั้งวงกว่าจะได้สมาชิกในวง ต้องเป็นคนที่ทางบ้าน ที่ทำงานและสังคมรู้ถึงตัวตนที่เป็นอยู่ เพื่อการร้องเพลงจะได้เป็นตัวเองจริงๆ ซึ่งที่ผ่านมามีคนสนใจเป็นจำนวนมาก แต่ไม่เคยเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้ทางบ้านได้รู้ จะต้องเป็นคนโอเพ่น เปิดเผยแบบ 360 องศา มีความเป็นตัวเอง ทำให้ไม่ต้องกลัวในสิ่งที่พูดหรือทำ ทั้งบนเวทีและนอกเวที ในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงจะไม่กดและทำร้ายคนอื่น

“วงเกย์คอรัส อาจจะตลกและมีซีเรียส มีส่วนผสมความจริงจังไปด้วยกัน และกว่าจะได้มาทั้ง 30 ชีวิต ค่อนข้างยาก เพราะคนร้องเพลงดีอยู่แล้ว ก็มีหนทางไป ทำให้เริ่มจากคนที่ชอบร้องเพลงคาราโอเกะ ไม่มีประสบการณ์ร้องเพลงประสานเสียง ก็ต้องฝึกฝนอย่างเข้มข้น ไม่ต้องรู้โน้ต แต่ต้องปรับตัวอย่างไร และหลายคนเป็นนักร้องอยู่แล้ว

...

แต่เมื่อมาร่วมร้องกับคนอื่นก็ต้องฝึก อีกอย่างครูตุ้ย วุฒิพันธุ์ พงษ์ธนเลิศ อยากสร้างวงชายล้วนอย่างน้อยหนึ่งวง ก็เลยเสียสละเข้ามาช่วยสอน ไม่เอาเงินเดือนในลักษณะอาสาสมัคร เหมือนกับคนที่มาร้องในวง ไม่ได้สร้างให้ใครดัง แต่ถ้าไปด้วยกันไม่ได้ ก็แนะนำไปวงอื่น เพื่อให้เกิดแพสชัน ต่อยอดได้ อย่างวงคอรัสในมหาวิทยาลัย”

เมื่อมีการก่อตั้งวงเกย์คอรัส ได้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างโมเดล จากหลายปัญหาที่เจอให้เป็นคู่มือ และเมื่อไปจังหวัดต่างๆ หากคนในพื้นที่อยากมีวงคอรัสในลักษณะนี้ ก็สามารถทำได้ ซึ่งคาดหวังว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นวงคอรัสเกย์ขนาดใหญ่ มีสมาชิกมากถึง 150 คน และจะทำเพื่อการกุศล อาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี โดยขณะนี้มีแผนจะทำภูมิภาคแรกใน จ.เชียงใหม่ หรือใครต้องการตั้งวงคอรัส LGBTQ+ ก็ยินดีให้คำปรึกษา

ปัจจุบันสังคมไทยยอมรับมากขึ้นในการจัดกิจกรรมของกลุ่ม LGBTQ+ หากเทียบกับในอดีต หวังว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 2 รองจากไต้หวัน และวงคอรัสเกย์ชาย จะเป็นหนึ่งในกลุ่มเล็กๆในการขับเคลื่อน และกิจกรรมในงาน Bangkok Pride 2023 ได้รับมอบหมายให้ดูแลขบวนสันติภาพ ซึ่งมีสถานทูตต่างๆ และพรรคการเมือง เข้าร่วม เพื่อแสดงให้เห็นว่าวงคอรัส LGBTQ+ สามารถทำงานได้กับทุกกลุ่ม และเตรียมบทเพลง Imagine มาร้อง ซึ่งไม่เคยร้องมาก่อน ทำให้ต้องซ้อมกันอย่างหนัก เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนทั่วโลกต้องการสันติภาพ และเปิดให้คนร่วมร้องทางเพจ Bangkok Gay Men’s Chorus

...

นอกจากนี้ ยังมีเพลง I will survive และเพลงต้องสู้ถึงจะชนะ ของเจินเจิน บุญสูงเนิน เพื่อให้กำลังใจคนทั่วไป รวมถึงเพลงเก่าๆ ซึ่งคนร้องเป็น LGBTQ+ จะนำมาร้องให้ได้รู้สึกว่ามีคนชื่นชมน้องๆในวงคอรัสของเรา ภายหลังเคยถูกรับเชิญไปร้องยังบ้านทูตแคนาดา มีทูตจากหลายประเทศมาร่วมฟัง จนหลายคนในงานและน้องในวงคอรัส มีความรู้สึกตื้นตันใจ เพราะบางคนเคยเก็บตัวมานาน เมื่อเติบโตขึ้นมา ก็รู้สึกว่าได้สูญเสียอะไรไป จนในที่สุดได้ปลดปล่อย ได้ร้องเพลงที่เป็นตัวของตัวเอง.