หลังการออกมาแฉส่วยทางหลวง และสติกเกอร์ใบเบิกทางผ่านตลอด ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันจับตาการกระทำผิด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่ตั้งตัวเป็นมาเฟียนอกรีต จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า ส่วยรถบรรทุกมีมานาน ส่วนใหญ่เจ้าของบริษัทขนส่งยินยอมจ่ายเพื่อแลกกับการขนของได้น้ำหนักมากกว่าที่กำหนด เลยทำให้ขบวนการนี้มีมาทุกยุคสมัย
กรณีนี้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาโพสต์ข้อความถึงขบวนการจ่ายส่วยของรถขนส่งสินค้าที่มีการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการผ่านตลอด โดยมีการโพสต์สติกเกอร์ลายพระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง จนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำการตรวจสอบ
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ให้ข้อมูลว่า ส่วยทางหลวง เป็นผลมาจากการบรรทุกของเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ ส่งผลเสียทำให้ถนนเกิดความเสียหายรวดเร็วหลายพื้นที่ และเมื่อถนนพัง ก็ต้องนำภาษีประชาชนมาซ่อม ทั้งๆ ที่ขบวนการเก็บส่วยไม่ได้จ่ายเงินให้กับภาครัฐ สิ่งนี้ทำให้รัฐต้องเสียงบมหาศาลในการซ่อมแซมถนนหลวงแต่ละปี
...
“ส่วยที่แพร่ระบาด เห็นได้จากถนนทางหลวงเส้นสำคัญ เลนทางขวาชำรุดเป็นร่องลึก ทำให้ประชาชนบางส่วนตั้งคำถามว่าถนนที่สร้างขึ้นได้มาตรฐานหรือไม่ ทั้งที่ต้นเหตุมาจากการบรรทุกของน้ำหนักเกิน ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนมีการใช้เส้นสายเพื่อไม่ต้องเข้าไปจุดชั่งน้ำหนัก โดยเหตุผลของการไม่เข้าจุดชั่งน้ำหนัก เพราะไม่อยากเสียเวลา ต้องการประหยัดต้นทุน โดยขนของไปเกินน้ำหนัก เพื่อจะได้ขนของไปเที่ยวเดียว”
สิ่งนี้ทำให้มีคนกลางที่ตั้งกลุ่มเพื่อรับส่วย โดยมีสติกเกอร์สัญลักษณ์แสดงไว้หน้ารถ แสดงว่ารถคันดังกล่าวเป็นของกลุ่มนอกรีตสายไหนที่ช่วยหลีกเลี่ยงการตรวจจับ ซึ่งถ้ามีการกวาดล้างจริงจัง สามารถตามจับได้ไม่ยาก เนื่องจากมีการทำมานาน และบริษัททำการขนส่งต่างรู้ดี
ที่ผ่านมารถที่ไม่ใช่ส่วนบุคคล มีการจ่ายส่วย โดยมีการติดสัญลักษณ์สติกเกอร์ บางเจ้ามีคนกลางจดเลขทะเบียน ลักษณะตัวรถให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทราบ ซึ่งเป็นที่ทราบกัน แต่น่าสนใจว่ากลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ มักใช้สติกเกอร์เป็นสัญลักษณ์ในการเปิดทาง
ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการบางกลุ่มที่วิ่งรถทุกวัน ตัดสินใจจ่ายส่วย เพื่อได้บรรทุกน้ำหนักเกิน เพราะคุ้มกว่าการถูกลงโทษ ช่วยทำให้ประหยัดต้นทุน โดยส่วนใหญ่มีกฎระบุว่า ไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกิน 20 ตัน แต่ถนนบางเส้นทางระบุความหนักของรถแตกต่างกัน ตามคุณภาพของถนน เลยทำให้เป็นช่องว่างที่ต้องจ่ายส่วยเพื่อแลกกับการเดินทางที่สะดวก ไม่ต้องเสียเวลาในการถูกด่านตรวจสอบ
การแก้ไขปัญหาส่วยทางหลวง แม้มีกฎบังคับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่าน ต้องมีกล้องติดประจำตัว แต่ขณะนี้ยังประเด็นถึงความไม่พร้อม ทำให้เป็นช่องว่างในการตรวจสอบ นอกจากนี้หน่วยงานรัฐต้องมีการตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มักมีกลวิธีในการอ้างว่าตรวจสอบรถเพื่อประวิงเวลาไว้นาน ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าได้ทัน ซึ่งแนวทางแก้ไข หน่วยงานเกี่ยวข้องควรจัดการเอกสารให้เป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้.