บันไดจัดตั้งรัฐบาลของแกนนำพรรคก้าวไกล มาสู่จุดเริ่มต้นในการร่าง MOU กับพรรคร่วม แต่มีความกังวลจากบางพรรค ที่ต้องการให้ปรับแก้นโยบาย ตามความเห็นนักวิชาการทางการเมือง มองว่า การร่าง MOU เป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ควรมีการปรับ โดยระบุไทม์ไลน์การทำงานชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น “สายล่อฟ้า” ทางการเมือง

รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิเคราะห์กับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ร่าง MOU ของพรรคก้าวไกล ในการจัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นข้อตกลงที่สร้างจุดร่วมในการตั้งต้นรัฐบาล แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่เนื้อหาในร่าง อาจมีจุดเปราะบางในเชิงรายละเอียด ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลได้มีเวลาขบคิดไตร่ตรอง ว่าจะมีส่วนร่วมได้ตามนโยบายไหน

“ร่าง MOU ไม่ได้หมายความว่าเป็นร่างข้อสัญญา ที่ทำให้เกิดการปฏิบัติตามได้ พรรคร่วมที่มีความเห็นต่างบางข้อ อาจตัดสินใจเดินต่อไป หรือหยุดชะงักได้ ดังนั้น พรรคก้าวไกล แม้มีพรรษาทางการเมืองน้อย แต่น่าจะมีกุนซือที่มาช่วยปรับลดเงื่อนไขในร่างให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลจะไปตัดเนื้อหาที่หาเสียงไว้มากไม่ได้ เพราะทำให้คนที่เป็นฐานเสียงเกิดการตั้งคำถาม จนพรรคก้าวไกลสะดุดทางการเมืองได้”

...

ดังนั้น ในร่าง MOU ต้องมีการทบทวน แก้ไขเนื้อหาที่พรรคร่วมรู้สึกยอมรับ เหมือนกับการเดินมาคนละครึ่งทาง

สำหรับเนื้อหาในร่างที่ค่อนข้างน่าห่วง คือ ปฏิรูปกองทัพ มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะการยกเลิกสภากลาโหม และควรแยกการแก้ไขผลกระทบจากรัฐประหารที่ผ่านมา ออกจากการปฏิรูปกองทัพ เพราะอาจทำให้เกิดความคลางแคลงใจตามมาได้

“เช่นเดียวกับประเด็นที่มีการยกตัวอย่างว่าช้างป่วย เรื่องบําเหน็จ บํานาญ เป็นประเด็นที่ก้าวไกลกำลังจะเปลี่ยนแปลงระบบราชการไทย สมัยทักษิณ เคยทำในการปฏิรูประบบราชการ ที่เป็นในแนวทางค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ได้เป็นในเชิงหักล้าง ดังนั้น ระบบราชการก็เตรียมพร้อมจะรับมือกับพรรคการเมืองอย่างก้าวไกล จึงเป็นจุดอ่อนไหว ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก”

ก้าวไกลจะไปปรับนโยบายที่ตนเองหาเสียงไว้ในร่างมากไม่ได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ในร่างควรมีไทม์ไลน์ชัดเจนว่า นโยบายไหนที่จะมีการสานต่อ และทำในช่วงเวลาไหนบ้าง ขณะที่เป็นรัฐบาล เพราะถ้าเป็นร่างในภาพรวมที่นำมาจากหลายพรรค แล้วมาเขย่ารวมกัน ยังไม่ชัดเจนในการทำงาน ที่ให้เกิดเป็นรูปธรรมในเวลาอันจำกัด

การกำหนดไทม์ไลน์ชัดเจน ทำให้พรรคร่วมเกิดความสบายใจ ขณะเดียวกันบางนโยบายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจไม่สำเร็จแบบพลิกฝ่ามือภายใน 4 ปี ของการเป็นรัฐบาล

ร่าง MOU ต้องทำไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เคยได้บทเรียนในการออกนโยบายที่สร้างผลกระทบ เช่น การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งก้าวไกลต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการซ้ำรอยเหมือนอย่างอดีต เพราะอาจเป็นชนวน จุดให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมไทยหรือไม่

ร่าง MOU จะไม่มีสภาพบังคับเหมือนกับสัญญาในทางกฎหมาย แต่เป็นเพียงข้อตกลงร่วมกัน หากให้ดีควรมีกรอบเวลาว่า แนวทางนโยบายเหล่านี้มีผลบังคับใช้กี่ปี เช่น 1-2 ปี เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว ดังนั้น ร่างที่เกิดขึ้น ขณะนี้ยังไม่ค่อยมีความลงตัวกับพรรคร่วม เลยทำให้ก้าวไกลจำเป็นต้องไปปรับเปลี่ยนนโยบายของตนเอง เพื่อลดความกังวลในอนาคตของพรรคร่วมส่วนใหญ่.

...