309 เสียง กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เพียงพอหรือไม่ ยังเป็นคำถาม ที่รอการพิสูจน์
แต่สำหรับจุดยืนของ “ไทยสร้างไทย” ของคุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับการร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล จะเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ นโยบายในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ได้ไขคำตอบกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับนายศิธา ทิวารี ในฐานะ เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย
จุดยืนไทยสร้างไทย “หญิงหน่อย” ไม่ขัดข้อง หนุน “พิธา” เป็นนายกฯ :
ศิธา กล่าวว่า คุณพิธา ได้คุยกับคุณหญิงสุดารัตน์ ในเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการให้กำลังใจและแสดงความยินดีกันและกัน เช่น มีคำพูดว่า “อยากให้มาร่วมงานกันนะครับ” เราอยู่ฝั่งเดียวกัน ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย และฝ่ายค้านร่วมกันอยู่แล้ว
“เนื่องจากพรรคของเรา อาจจะไม่มีนัยสำคัญมากมายทางการเมือง แต่ด้วยที่เราทำงานในทิศทางเพื่อประเทศชาติ และประชาชนเหมือนกัน คิดว่าไม่น่ามีข้อขัดแย้งอะไร แต่...ในฐานะก้าวไกลเป็นแกนนำเขาคงต้องให้ความสำคัญกับพรรคที่มีนัยสำคัญในการตั้งรัฐบาลก่อน”
เมื่อถามว่า คุณหญิงหน่อย จะสนับสนุนคุณพิธา เป็นนายกฯ หรือไม่ นายศิธา ตอบทันทีว่า “กระบวนการประชาธิปไตยเป็นแบบนั้น และเท่าที่ผมได้คุยกับคุณหญิงฯ ก็ไม่ได้ขัดข้อง”
...
ส.ว. ไม่หนุน “พิธา” ประชาชนจะตัดสินเอง :
พรรครัฐบาล 309 เสียง เพียงพอหรือไม่ เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ยืนยันว่า เป็นจุดที่พอดีมากๆ ในระบบประชาธิปไตยที่ไม่มีการบิดเบือน โดยให้ ส.ว. มาเลือกนายกฯ เรื่องนี้เป็นประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว
หากแต่จะรวมให้ได้ 376 รัฐบาลไทยรักไทยเดิม ก็เคยได้ 377 จากนั้นก็ถูกข้อครหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น พรรคที่ดูเหมือนจะมีเสถียรภาพมากจนเกินไป ทำให้ยืนอยู่ได้ไม่ถึงปี เกิดการประท้วง และเกิดรัฐประหารขึ้นมา
ฉะนั้น การตรวจสอบถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตยที่สวยงาม ควรอยู่ที่ตัวเลข 300 นิดๆ ส่วนตัวมองว่ามันเป็นความสวยงามในระบอบประชาธิปไตยที่สุด สามารถผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ได้ หรือกฎหมายที่ต้องใช้ความระมัดระวังก็สามารถเกิดเสียงแตกได้ ฝ่ายค้านก็สามารถให้ความคิดเห็นที่หลากหลายได้
หาก ส.ว. ไม่ยกมือให้ในการโหวตนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ประชาชนจะวินิจฉัยเอง.... ซึ่งการทำงานในระบบรัฐสภา มันควรส่งเสริมให้ประชาธิปไตยเดินหน้าได้ ถ้า ส.ว. ไม่โหวตให้จริงๆ การทำงานในสภาล่าง ก็ไม่รู้จะทำงานร่วมกันได้หรือไม่
“หากจะให้หล่อมากๆ คือ หากพรรคการเมืองที่เคยอยู่พรรครัฐบาลเดิม เช่นภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา หรือประชาธิปัตย์ ประกาศออกมาว่าจะปิดสวิตช์ ส.ว. จากสภาล่างเอง จนได้เสียงเกิน 375 หากทำแบบนี้จะเป็นเป้าหมายสูงสุดของประชาธิปไตย เพราะการกระทำที่ไม่เอาเงื่อนไขร่วมรัฐบาลมาต่อรอง ส่วนจะไปเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ก็อยู่ที่ฝ่ายความคิดเห็นของรัฐบาล ส่วนการจะเป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ ทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน หากทำแบบนี้เชื่อว่าพรรคการเมืองเหล่านี้จะกลับมายืนอย่างสง่าผ่าเผยได้อีกครั้ง เป็นสุภาพบุรุษประชาธิปไตย ซึ่งก่อนเลือกตั้งมีคนแสดงจุดยืนแบบนี้คือพรรคเดียว คือ ก้าวไกล ในขณะที่ พรรคไทยสร้างไทย เราก็มีจุดยืนแบบนี้ เพราะเราเป็นกาวใจ ตัวเชื่อม ให้เดินไปข้างหน้าได้ ถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งใน 3 พรรคนี้แสดงจุดยืนแบบนี้ จะเป็นอะไรที่สง่างามมาก และคุณจะได้กลับมาอยู่ในใจประชาชน อาจจะไม่ถึงสมัยหน้าก็ได้ คุณอาจมีโอกาสเข้ามาร่วมรัฐบาลด้วย” นายศิธากล่าวถึงความคาดหวังของตนเอง
ไทยสร้างไทย ได้ตามเป้าหมายหรือไม่ นายศิธา ตอบว่า ที่ผ่านมาไม่เคยพูดถึงตัวเลขการเลือกตั้งเลย เพราะมีการส่งผู้แทนลงหลายเขตมาก ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งแบบหวาดระแวงลุง ที่ผ่านมา เคยเจอบรรยากาศแบบนี้ตอนเลือกผู้ว่าฯ กทม. แต่เวทีนี้เลือกในทิศทางเดียวกัน แต่แตกไปก้าวไกลกับเพื่อไทย คนที่เลือกฝั่งเสรีประชาธิปไตย มีมากเกิน 50% ฉะนั้น มันจึงเป็นเหมือนฉันทามติของประชาชน ตรงนี้เอง คือที่มาของการเสนอให้ทั้ง 3 พรรค หากเป็นเช่นนั้นได้ เราจะเห็นนักการเมืองอาชีพที่เป็นบรรทัดฐาน
เงื่อนไขร่วมรัฐบาลของ “ไทยสร้างไทย” :
ศิธา กล่าวในประเด็นสำคัญนี้ว่า ประเด็นที่ต้องดูคือเรื่องนโยบาย ซึ่งพรรคเราไม่มีประเด็นขัดแย้งกับพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เงินดิจิทัล” ก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมา เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจดับเกือบทั้งหมด ภาคใหญ่ที่สุด คือ การใช้จ่ายของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรจะยอมรับนโยบายทั้งหมด แล้วมาคุยกัน เจอกันพอดีๆ ก็ได้...เงินดิทัล ควรเป็นเท่าไร ให้ตั้งแต่อายุ 18 ปีเลยหรือ “บำนาญประชาชน” ควรเป็นขั้นบันไดหรือเปล่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถพูดคุยกันได้
...
“อย่าทิฐิ หรือเสียฟอร์ม ถ้ามองว่าหากนโยบายไหนเป็นประโยชน์ก็ขอให้ทำ”
มีนโยบายไหน ที่ทางไทยสร้างไทย อยากจะผลักดัน เลขาธิการพรรค ตอบว่า คุณหญิงมองเรื่องบำนาญประชาชน ซึ่งส่วนตัวผมก็มองว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะทำตามโยบายของทุกพรรค เพราะมันก็จะเป็นภาระด้านงบประมาณมากเกินไป ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้าน หรือ 1 ล้านล้าน อาจจะไม่เพียงพอ กับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา 9 ปี แต่...ต้องคุยกันว่า จะใช้ประโยชน์สูงสุด
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...