เลือกตั้ง 2566 ใกล้เข้ามาในวันที่ 14 พ.ค. นี้ กับการใช้สิทธิใช้เสียงลงคะแนนของประชากรไทย 52 กว่าล้านเสียง รวมถึงผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว เป็นการชี้ชะตาประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป และต้องจับตากลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 4 ล้านกว่าคน หรือ 7.67% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ถือเป็นตัวแปรสำคัญมีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่น้อย ทำให้แต่ละพรรคการเมืองต้องสื่อสารให้ตรงใจกับกลุ่มคนเหล่านี้ให้มากที่สุด

สื่อสารให้ตรงจุดคนรุ่นใหม่ ต้องการความท้าทาย-สิ่งใหม่ๆ

แล้วอะไรคือสิ่งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการ “รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก บอกในทันทีเลยว่า ธรรมชาติของคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อย และเกิดท่ามกลางบรรยากาศของเทคโนโลยีทั้งหลาย ทำให้ได้เห็น ได้รับรู้ข่าวสาร จนมีความคิดอิสระ ค่อนข้างกล้า มีแนวโน้มไปทางเสรีนิยม และถ้าพรรคการเมืองอยากจะสื่อสาร เพื่อโน้มน้าวคนรุ่นใหม่ ต้องสื่อสารด้วยการนำเสนอสิ่งใหม่ ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลง อย่างพรรคก้าวไกล มีการนำเสนออย่างสุดขั้ว “กาก้าวไกล 2 ใบ แล้วประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม”

...

“เวลาก้าวไกลออกไปรณรงค์หาเสียง มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศ เปลี่ยนทุกอย่าง และนโยบายล้ำมาก เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เอาทหารออกจากการเมือง และแก้มาตรา 112 ซึ่งพรรคอื่นไม่กล้าเสนอ จนโดนใจคนรุ่นใหม่ที่ชอบอะไรใหม่ๆ และท้าทาย"

ประกอบกับรัฐบาลบริหารบ้านเมืองมา 8 ปี ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพัฒนา หลายเรื่องบริหารล้มเหลวทั้งเศรษฐกิจ โควิด เมื่อคนมองเข้าไปก็เห็นแต่ความบกพร่องของรัฐบาล ถ้าใครเสนอการเปลี่ยนแปลง ทำให้คนอยากเปลี่ยน ก็จะเข้าตา ในแง่การสื่อสาร ส่งสารไปยังคนรุ่นใหม่ จนมองว่าดี อย่างคนรุ่นใหม่ผู้ชาย หลายคนเคยเรียนรด. ก็รู้สึกว่าเกณฑ์ทหารไม่ได้รับใช้ชาติ แต่ไปรับใช้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ทำให้เสียเวลาดำเนินชีวิต ซึ่งโดนใจมากๆ

จากผลโพลที่ผ่านมามีการแยกลักษณะของประชากรในการจะเลือกผู้นำประเทศและเลือกพรรคใดในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่าคนอายุน้อยไปจนถึงอายุปานกลางในกลุ่มเจน Z มีการเลือกตั้งแต่อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร จนมาถึงพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง และเลื่อนขึ้นไปในกลุ่มเจน Y เจน X ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในโพล ระบุเลือกพิธา และเลือกอิ๊งค์ ซึ่งเปลี่ยนไปจากการเลือกตั้งปี 2562 โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จะเลือกพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคเพื่อไทย คนอายุมากกว่าจะเลือก แต่ก็มีคนอายุน้อยเลือกเช่นกันแต่ไม่มาก แสดงให้เห็นว่าคนอายุน้อยไปจนถึงอายุปานกลาง เลือกทั้งพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล

คนสูงวัย ชอบขั้วเก่า หรือเปิดโลกทัศน์ใหม่ ซบเสรีนิยม

ขณะที่คนสูงวัย มีแนวโน้มไปทางอนุรักษนิยม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะมองว่าการเปลี่ยนแปลงไม่มีความแน่นอน ก็จะเลือกพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิม ทั้งรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคเหล่าจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนสูงวัยมากกว่า และจากการนำเสนอคลิปของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ถามคนไทยแบบสุดขั้วมากๆ “อยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมจริงหรือ” เพราะต่อไปจะไม่มีศาสนา จะไม่มีทหาร เป็นโฆษณาชวนเชื่อเหมือนช่วงสงครามเย็น ทำให้คนเชื่อและโน้มน้าวคนกลุ่มนี้

“เป็นการนำเสนอสิ่งต่างๆ เพื่อฉุดรั้งไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการแยกกันอย่างชัดเจนว่าคนสูงวัยเป็นแฟนของกลุ่มนี้ แต่ก็มีคนสูงวัยที่ทันสมัย เล่นโซเชียลรับข้อมูลข่าวสารอยู่เป็นประจำในการเปิดโลกทัศน์ แม้อายุเยอะก็จะเลือกก้าวไกล หากทำให้สังคมดีขึ้น กลายเป็นเทรนด์ในโลกโซเชียล เพราะก้าวไกล สื่อสารในโลกโซเชียลได้เข้มข้นกว่า ให้คนเข้าใจว่าเปลี่ยนแบบธรรมดาถ้าไม่เอ็กซ์ตรีม ก็ต้องเปลี่ยนแบบสุดขั้วไปเลย แต่หากคนสูงวัยจะเลือกเพื่อไทย ก็เพราะต้องการการกินดีอยู่ดี”

...

เพื่อไทย-ก้าวไกล คะแนนมาแน่ ระวังอุบัติเหตุซ้ำรอย

เมื่อประเมินศึกเลือกตั้งครั้งนี้คิดว่าพรรคเพื่อไทย จะได้คะแนนสูงสุดจากส.ส.แบบแบ่งเขต เพราะพรรคก้าวไกล ยังไม่ได้สร้างส.ส.ในพื้นที่เขตให้แข็งแกร่ง ทำให้ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 จากส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่จำนวนที่นั่งส.ส.แบบแบ่งเขต ระหว่างทั้ง 2 พรรค ก็ต้องจับตาดูว่าจะได้มากน้อยต่างกันแค่ไหน พรรคก้าวไกลอาจเบียดในช่วงโค้งสุดท้าย จนพรรคเพื่อไทยออกอาการกลัว และทำให้ทักษิณ ชินวัตร ออกมาทวีตว่า "แฟนคลับอย่าปันใจ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้กลับบ้าน" เป็นการออกอาการเริ่มกังวล หลังคะแนนนิยมของพิธา แซงอิ๊งค์-แพทองธาร แต่ในความเป็นจริงแล้วการจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภา และ ส.ว. 250 เสียง จะเลือกโหวตเลือกใคร

แต่ก่อนจะถึงวันนั้นทุกอย่างสามารถพลิกผันได้ตลอด เกรงว่ากกต.ซึ่งทำหน้าที่จัดเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม จะค่อนข้างมีอคติอย่างไม่มีระบบ อาจเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ จากความไร้ประสิทธิภาพไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ก็จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง อย่างกรณีประเด็นการถือหุ้นไอทีวีของพิธา หากกกต.รับลูก ก็จะทำให้พิธา ถูกฟัน และเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยเหมือนกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

...

หวั่นการเมือง หลังเลือกตั้ง ติดเดดล็อก เมินเสียงมวลชน

หรือถ้าผลการเลือกตั้งออกมาแม้ว่าพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ที่นั่งส.ส.รวมกันทั้ง 2 พรรคอาจไม่ถึง 376 ที่นั่ง หากเป็นเช่นนั้นก็จะอยู่ในสภาวะเดดล็อก เพราะทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีเสียง ส.ว. 250 เสียง ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว และการที่วิษณุ เครืองาม ออกมาพูดแปลกๆ ว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็สามารถทำได้ เหมือนเป็นการชี้ช่องเอาไว้ก่อน เพราะสุดท้ายแล้วก็จะได้เสียงข้างมากไปเอง อาจจะเกิดสิ่งเหล่านี้ในอนาคตก็ได้

“เมื่อฟังแล้วดูสยองๆ แล้วก็ไม่รู้ว่ากกต.จะจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมแค่ไหน และเสียงของคนส่วนใหญ่คาดหวังจะให้ใครเป็นนายกฯ อาจกลายเป็นเสียงรัฐบาลข้างน้อยก็ได้ จนสุดท้ายเกิดการเมืองข้างถนนซ้ำอีก เพราะเมืองไทยเคยเกิดเรื่องที่คนคิดว่าทำไม่ได้ อะไรที่ฝืนหรือสวนกระแส ก็ทำได้ทั้งนั้น หรือแม้แต่การยิงเลเซอร์ไปยังสะพานพระราม 8 ก็เกิดมาแล้ว ไม่สนว่ามวลชนจะรับได้หรือไม่”

...

หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับการเมืองไทยต่อจากนี้ ต้องจับตาดูต่อไป คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะใช้ระยะเวลานานมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ดูได้จากคะแนนเสียงซีกเสรีนิยม แม้จะได้มากกว่า แต่ซีกของฝ่ายอนุรักษนิยม คุมเสียง ส.ว. ได้ทั้งหมด ทำให้เสียงไม่ขาด จะส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะใช้เวลาตีกันอีกยาว และยังมีอีกหลายเรื่องจะเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้ทางกกต.ได้ออกมาขู่ว่าจะมีเซอร์ไพรส์ แล้วเซอร์ไพรส์นั้นคืออะไร จะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหรือไม่?.