เปิดไทม์ไลน์ คดีสะเทือนวงการสงฆ์ อดีตพระคม รวมหัวอดีตเจ้าอาวาส ยักยอกเงินวัดป่าธรรมคีรีกว่า 300 ล้าน นักวิชาการด้านพุทธศาสนา ชี้ปัญหาเงินวัด VS เงินส่วนตัว ...

เกิดคดีฉาว กับวงการพระสงฆ์อีกครั้ง

และแน่นอน ปัจจัยการเกิดก็มาจาก 2 ข้อ “ต้องห้าม” 

ข้อแรก คือ “การเสพเมถุน” ข้อสองมาจาก “ปัจจัย” หรือ ก็คือเงินทอง แต่คราวนี้มากโข ทั้งเงินสดที่ซุกซ่อน และเงินในรูปแบบบัญชี และยังมีทองคำ ที่มีการซุกซ่อนไว้บนภูเขาของวัด 

ที่กล่าวถึงนี้คือ คดีของอดีตพระอาจารย์คม อภิวโร หรือ นายคม คงแก้ว อายุ 39 ปี นายวุฒิมา หรือ พระหมอ อายุ 38 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าธรรมคีรี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ น.ส.จุฑาทิพย์ ภูบดีวโรชุพันธุ์ อายุ 35 ปี น้องสาวของนายคม ที่ถูกตำรวจควบคุมตัว ตั้งข้อหาร่วมกันยักยอกเงินวัด

จากข้อมูลล่าสุด ตำรวจระบุว่า มีทรัพย์สินที่ถูกยักยอกไปประมาณกว่า 300 ล้าน แบ่งเป็นเงินสดที่พบในที่พักของน้องสาว 51 ล้าน เงินสดที่ขุดพบบนเขาหลังวัด 80 ล้าน ทองคำแท่งมูลค่า 19 ล้าน และเงินในบัญชีธนาคารอีกว่า 130 ล้าน รายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งจะมีการขยายผลต่อ  

...

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เผยในวันที่ 8 พ.ค.ว่า คณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจสอบที่วัดแล้ว ยังไปพบทองคำแท่งมูลค่าประมาณ 19 ล้านบาท เงินสดอีก 80 ล้านบาท ที่ผู้ต้องหานำไปขุดดินฝังไว้บนเขาบริเวณหลังวัด โดยถ้ารวมกับทรัพย์สินที่พบครั้งแรกแล้ว รวมแล้วกว่า 300 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. ระบุว่า หลังการจับกุม นายคม และน้องสาว ได้ให้การยอมรับในข้อเท็จจริงว่า มีการยักย้ายถ่ายโอนเงินของวัดไปเข้าบัญชีธนาคารน้องสาวของนายคมจริง บางส่วนให้นำไปเก็บไว้ที่บ้าน แต่ยังยืนกรานปฏิเสธตามข้อกล่าวหา เพราะไม่มีเจตนาที่จะโกงเงินวัดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ส่วนตัวนายวุฒิมานั้นให้การรับสารภาพ

รายงานข่าว ระบุว่า การจับกุมอดีตพระอาจารย์คม และเจ้าอาวาส เริ่มต้นจากชาวบ้านมีการร้องเรียนเรื่องเงินบริจาค และพฤติกรรมที่สงสัยว่าจะมีการเสพเมถุนกับสำนักงานพุทธศาสนา โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากเป็นพระชื่อดังในพื้นที่ มีคนเลื่อมใสศรัทธามาก ได้รับเงินบริจาคมาก แต่มีการใช้จ่ายไม่สมดุลกับเงินที่เข้ามา แม้การเสพเมถุน จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่สมควรแก่การเป็นเพศบรรพชิต จึงได้มีการประสานไปยังกองปราบเพื่อตรวจสอบ 

ไทมไลน์ของดคีนี้เริ่มต้นตั้งแต่...

ปี 2563 : ประชาชนได้ร้องเรียนไปยังสำนักพุทธศาสนา ถึงพฤติกรรมที่น่าสงสัย โดยเฉพาะประเด็นการรับบริจาค และการใช้จ่ายเงินของวัดป่าธรรมคีรี 

1 พ.ค. 66 : อดีตเจ้าอาวาส อดีตพระคม และพระลูกวัด แอบสึกเงียบๆ ที่วัดบวรนิเวศน์ 

5 พ.ค.66 : แต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาส เริ่มการตรวจสอบทรัพย์สินวัดป่าธรรมคีรี

6 พ.ค.66 : ออกหมายจับ อดีตเจ้าอาวาส พระคม น้องสาว คดียักยอกทรัพย์ 180 ล้านบาท

7 พ.ค.66 : กองปราบแถลงจับกุม อดีตเจ้าอาวาส อดีตพระอาจารย์คม และน้องสาว 

หลักฐาน : เงินสด 51 ล้านบาท พบภายในบ้านน้องสาว และเงินในบัญชีส่วนตัว 130 ล้านบาท 

8 พ.ค.66 กองปราบยึดทองคำมูลค่า 19 ล้านบาท และเงินสดอีก 80 ล้านบาท หลังไปขุดพบบนเขาหลังวัด 

ล่าสุด กองปราบเตรียมขยายผลหาทรัพย์สินที่ถูกยักยอกเพิ่มเติม

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวถือว่ามีอัตราโทษสูง เนื่องจาก พระหมอ (เจ้าอาวาส) เป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ โทษสูงสุดถึงจำคุกตลดชีวิต พระคม (อดีตพระอาจารย์คม อภิวโร) และน้องสาว ไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน จึงถูกหมายจับในฐานะผู้สนับสนุน (อัตราโทษ 2 ใน 3) 

...

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวถึงหลักฐานเส้นทางการเงินของผู้ต้องหาคงต้องใช้เวลาสอบสวนอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะแค่บัญชีธนาคารของวัดนั้นมีมากถึง 6 บัญชี ส่วนสาเหตุจูงใจน่าเชื่อว่าจะมาจากเรื่องเงินจำนวนมาก ที่ได้รับบริจาคมาจากชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธา ตัวผู้ต้องหาอาจมองว่าเงินที่ได้มานั้นมาจากชาวบ้านศรัทธาในตนเอง ซึ่งมันไม่ถูกหลัก ตนขอยืนยันว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งอย่างแน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่นั้นทำงานด้วยความรับผิดชอบและรัดกุม นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบร่วมกันทุกกระบวนการอีกด้วย 

เงินส่วนตัว VS เงินวัด

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับ "ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์" นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและสังคม และอดีต ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.พระพุทธศาสนาแห่งโลก 

ดร.ทวีวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของคดีที่เกิดขึ้น คงต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป แต่หากพูดในเชิงหลักการกว้างๆ ของการ “ใช้เงิน” ภายในวัด จะประกอบด้วย เงินกองกลางของวัด และเงินส่วนตัว

...

เงินกองกลางของวัด : มาจากเงินบริจาคของชาวพุทธ ไม่ว่าจะมาจากกฐิน หรือ ผ้าป่า การใช้จ่ายเงินจะมีไวยาวัจกร และคณะกรรมการวัด และเจ้าอาวาสวัด เป็นผู้ดูแล ดังนั้น เวลามีปัญหาเรื่องเงินตรงนี้ กลุ่มบุคคลเหล่านี้ แม้แต่ชาวบ้านก็อาจจะเข้ามาช่วยเหลือ 

นอกจากนี้ “เงินกองกลาง” ของวัด ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่มาจากงบประมาณจากทางภาครัฐที่สนับสนุนวัดและพระพุทธศาสนา โดยผ่านทางสำนักพุทธศาสนาประจำจังหวัด อย่างไรก็ตาม เงินส่วนนี้หากได้ติดตามข่าวก็เคยมีปัญหาเรื่อง “เงินทอนวัด” ซึ่งหากมีปัญหาตรงนี้ สำนักพุทธฯ ก็มีสิทธิ์เข้ามาตรวจสอบ 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากคดีนี้ มาจาก “เงิน” ที่ไม่ใช่ภาครัฐ ฉะนั้นจึงกลายเป็นเรื่อง “ความโปร่งใส” ที่เกิดขึ้นภายในวัดนั้นๆ เอง ด้วยเหตุนี้เมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้น คนที่ร้องเรียนก็มักจะเป็นชาวบ้านที่มาร้องเรียนกับสื่อและตำรวจ 

ฉะนั้น เส้นแบ่งระหว่าง “เงินวัด” กับ “เงินส่วนตัวพระ” จึงอยู่ตรงนี้ คือ ถ้าเป็นเงินบริจาคในนามวัด ก็จำเป็นต้องเข้าบัญชีวัด หรือ กองกลาง 

แต่...บางครั้ง บางวัด ก็ใช้บัญชี “เจ้าอาวาส” แทน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้... ประเด็นคือ อาจจะมองได้ 2 แบบ คือ เจตนา กับ ไม่เจตนา 

หากไม่เจตนา แปลว่า พระท่านเขาไม่ค่อยรู้เรื่องการใช้บัญชี ส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาด 

หากเจตนา แปลว่า อาจจะตั้งใจยักยอกทรัพย์เข้าบัญชีส่วนตัว โดยเฉพาะพระในต่างจังหวัด บางท่านอาจจะไม่รู้เรื่องการทำบัญชีเช่นนี้ เพราะมีเงิน “กองกลาง” กับ “ส่วนตัว” ปะปนกันอยู่ 

“ทางออกของเรื่องนี้ คือ วัดแต่ละวัดต้องมีบัญชีต่างๆ ให้ชัดเจน แต่มันก็เป็นเรื่องยาก เพราะบางครั้ง บริษัทเอกชนยังมีปัญหา ของแบบนี้จำเป็นต้องใช้คนที่มีความรู้ด้านบัญชีพอสมควร ฉะนั้น สิ่งที่อยากจะแนะนำคือ ถ้าเป็นไปได้ คนในวัด หรือ พระในวัด หรือ ไวยาวัจกร เป็นนักบัญชีได้ ก็เชื่อว่าจะช่วยได้ แต่ในความเป็นจริงคือ วัดแต่ละวัดแทบไม่มีนักบัญชีเลย และปัจจุบันการจะเปิดบัญชีที่ไม่ใช่ชื่อบุคคลก็เปิดไม่ง่าย ธนาคารเขากลัวเรื่องการฟอกเงิน สิ่งสุดท้าย คือ ต้องดูที่เจตนา ว่าการยักย้ายถ่ายเทเงินในบัญชีนั้นมีเจตนาอะไร...”

...

พระสงฆ์ กับทรัพย์สินมหาศาล 

เมื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการสงฆ์ในลักษณะนี้ ถือว่ากระทบภาพลักษณ์หรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ ยอมรับว่า น่าจะกระทบ...โดยเฉพาะการบริจาคเงิน ซึ่งในความจริงที่ได้ข่าวมา พระสงฆ์ที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมจริงๆ ก็มี แต่บางส่วนก็มีกระบวนการทำลายภาพลักษณ์ก็มี  

เมื่อถามว่า ปัญหาการ “ยักยอกเงินวัด” ในระดับประเทศ มีมากน้อยแค่ไหน ดร.ทวีวัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ค่อนข้างจะ “กำกวม” เพราะบางครั้ง ญาติโยมต่างๆ นั้น เป็นผู้ถวายเงิน และปัจจัย โดยระบุว่าเป็นตัวของเจ้าอาวาส หรือพระที่มีชื่อเสียง ฉะนั้นเงินและทรัพย์สินดังกล่าว จึงถือเป็นเงินส่วนตัวของพระ ไม่ใช่ “เงินวัด” เรื่องนี้ถือว่าไม่มีความผิดอันใด 

แต่การให้ทรัพย์สินมากๆ ถือว่าผิด หรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ ให้ความเห็นว่า สามารถรับได้ เพราะต้องยอมรับว่าสมัยนี้การบวชเป็นพระก็มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าพระจะเดินทางไปไหนก็จำเป็นใช้เงิน และก็มีพระจำนวนมาก ที่เก็บสะสมเงิน เพื่อใช้จ่ายในระหว่างใช้ชีวิต แต่ต้องไม่เกี่ยวข้องกับเงินของวัด...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

กราฟิก : Chonticha Pinijrob

อ่านบทความที่น่าสนใจ