วิวาทะเศรษฐา ทวีสิน และ อนุทิน ชาญวีรกูล ตัวชี้วัดสมรภูมิเลือกตั้งภาคอีสาน ที่ทั้งเพื่อไทยและภูมิใจไทยต้องสู้กันสุดตัว...

สวนคนละหมัดจากหนูถึงพี่นิด ปรอทวัดอุณหภูมิศึกเลือกตั้งภาคอีสานในช่วงโค้งสุดท้ายระหว่าง พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ที่อาจเป็นสมรภูมิสำคัญที่เป็นตัวกำหนดรัฐบาลชุดต่อไปว่าจะเป็น “ขั้วรัฐบาลเดิม” หรือ “ขั้วฝ่ายค้าน” อะไรคือสิ่งที่ “ชักลาก” ให้สองนักธุรกิจที่เข้าสู่ถนนทางการเมืองอย่างเต็มตัวในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ต้องแสดงบทบาท” เปิดศึกวิวาทะเกทับบลัฟกันอย่างหนักหน่วงถึงขนาดนี้ วันนี้ “เรา” ค่อยไปไล่เรียงจากจุดเริ่มต้นกันก่อน 

วาทกรรม เลือกน้องหนู อาจได้ลุงตู่ : 

"นายเศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 2 พรรคเพื่อไทย ขึ้นปราศรัยบนเวทีหาเสียงจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 1 พ.ค.66 โดยระบุว่า... 

...

“สิ่งที่ผมอยากจะตอกย้ำก็คือ พรรคร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือ พรรคภูมิใจไทย ครับพี่น้องครับ เขาไม่ใช่แค่ร่วมรัฐบาลแล้วไม่ได้เห็นหัวพี่น้องประชาชน เขายังเป็นพรรคที่จะเสนอ กัญชาเสรีเพื่อมามอมเมาพี่น้องประชาชนทุกคนครับ รับไม่ได้นะครับ รับไม่ได้ 

ถ้าเขาบอกมาว่า ส.ส.เขต ให้เลือกภูมิใจไทย ส.ส.พรรค ให้เลือกเพื่อไทย ไม่ได้นะครับ ถ้าเกิดเป็นอย่างนั้น ประยุทธ์ จะกลับมาอีกครับ พี่น้อง เรายอมไม่ได้ครับ เราไม่ยอม 

พี่น้องครับนโยบายดีๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเกิดพี่น้องแยก 2 ใบ ใบหนึ่งให้พรรคภูมิใจไทย แล้วเลือกพรรคเพื่อไทย พี่น้องต้องไม่ทำอย่างนั้น ผมมาวันนี้ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มาขอร้องให้พี่น้องเลือกพรรคเพื่อไทยทั้งสองใบครับ ถ้าไม่เช่นนั้นนายกฯ ตู่ จะกลับมาอีกครับ พี่น้อง!”

ทำให้ในเวลาต่อมา "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ได้มีการตอบโต้โดยโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก อนุทิน ชาญวีรกูล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญที่น่าสนใจว่า..

พี่นิดจะได้เรียนรู้การเมืองอีกแบบ : 

“พี่นิด เปลี่ยนไปมาก ตั้งแต่เข้ามาสู่การเมือง ผมไม่อยากเชื่อว่า เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่กี่วัน พี่นิดจะเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ จะเป็นไปได้ขนาดไหน 

พรรคภูมิใจไทย ไม่สนับสนุนกัญชาเสรี เราจึงออกกฎหมายมาควบคุมการใช้กัญชาทางที่ผิด ส่งเสริมการใช้กัญชาทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ พี่นิดทราบไหมครับว่า พรรคเพื่อไทย ลงมติถอดกัญชาออกจากประมวลกฎหมายยาเสพติด และลงมติรับหลักการร่างกฎหมายกัญชา กัญชง 

นี่คือความจริง ที่พี่นิดควรรู้ ก่อนจะขึ้นเวทีปราศรัยและต้องรู้ด้วยว่า การที่พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่สนับสนุนการออกกฎหมายกัญชา กัญชง จึงทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงกัญชาได้ เพราะไม่มีกฎหมายควบคุม

พรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรี ติดป้ายไปทั่วประเทศ ไม่เคยพูดว่าเลือกภูมิใจไทย ได้ ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี การที่พี่นิดปราศรัยบนเวทีว่า เลือกภูมิใจไทยได้ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการให้ข้อมูลเท็จกับประชาชน ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ผมยืนยันว่า เลือกภูมิใจไทย เบอร์ 7 เป็นอันดับ 1 อนุทิน จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ ภูมิใจไทย เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว แต่เลือกเพื่อไทย ไม่รู้ว่า เศรษฐา ทวีสิน จะได้เป็นหรือไม่ เพราะคะแนนนิยมยังน้อยกว่า แพทองธาร ชินวัตร อีกมาก หลัง 14 พ.ค. พี่นิดจะได้เรียนรู้การเมืองอีกแบบ” 

...

ถึงเวลาจริงๆ ก็รู้กันอยู่ว่าใครเคาะได้ : 

และนั่นคือ “ยกแรก” สำหรับการปะทะกันระหว่างพี่นิดและน้องหนู จากนั้นดีกรีการปะทะได้เพิ่มความร้อนแรงขึ้นเมื่อคราวนี้ “น้องหนู” ได้กระตุกใส่พี่นิดแรงๆ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า...

“ถึงเวลาจริงๆ ก็รู้กันอยู่ว่าใครเคาะได้ ใครได้แต่พูด ตรงนี้คนการเมืองเขารู้ดี ผมไม่ขอพูด” 

ทำให้ภายในวันเดียวกันนั้นเอง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 2 ของพรรคเพื่อไทย จึงได้ให้สัมภาษณ์ “หยิกกลับไปเบาๆ” ขณะลงพื้นที่หาเสียง ที่ตลาดนัดวัดหอมเกร็ด จ.นครปฐม โดยระบุว่า...

“พรรคเพื่อไทยชัดเจน ถ้าจะร่วมกับเรา กัญชาก็ต้องการแพทย์อย่างเดียว ชัดเจนนะครับ” 

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นดูเหมือนว่า...ดีกรีความร้อนแรงในวิวาทะระหว่าง พี่นิด และ น้องหนู กลับดูเหมือนจะยิ่งทวีความร้อนแรงมากขึ้นๆ เป็นลำดับ โดเยฉพาะการปราศรัยของ นายเศรษฐา ทวีสิน บนเวทีหาเสียงพรรคเพื่อไทย ที่ตลาดบางแค กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 66 โดยคราวนี้ “พี่นิด” ได้เน้นย้ำข้อพิพาทเดิมโดยระบุว่า... 

...

“ถ้าพรรคไหนเอากัญชามาขาย แล้วบอกว่าจะทำให้ร่ำรวย ห้ามไปเลือก อย่าไปเลือก ต้องกัญชาเพื่อการแพทย์พรรคเพื่อไทยเท่านั้น ถ้าเลือกพรรคอื่นที่เคยเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล เขาอยู่กินกันมา เขาทำงานร่วมกันมา ถึงแม้เขาจะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นคนของพรรคเขา แต่ถ้าเกิดเขาได้คะแนนเสียงไม่พอ พี่น้องว่าเขาจะเสนอใครเขามาอีกครับ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาแน่นอนครับ!”

เมื่อถูก “จิกกัด” ในประเด็นข้อครหาเดิมอีก คราวนี้ดูเหมือน “น้องหนู” จะไม่มีวลีที่ดู “รอมชอม” เช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป โดยในการขึ้นปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 4 พ.ค.66 คราวนี้น้ำเสียงของน้องหนูทั้งเกรี้ยวกราด และดุดันมากขึ้นกว่าเดิม โดยระบุว่า....

“ที่เขาบอกว่า ผมจะไปยกคนอื่นให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่จริงแน่นอน ไม่เคยทำ ไม่คิดจะทำ และไม่มีวันทำ ถ้าผมมาเยอะกว่าคนอื่น ผมต้องเป็นเองครับ คือ ถ้าพรรคภูมิใจไทยมาเยอะ พรรคภูมิใจไทยเป็นเองครับ ไม่ให้คนอื่นเป็น

...

หาเสียงมันต้องไม่โกหก ถ้าโกหกประชาชนตั้งแต่หาเสียงยังไม่เข้าไปทำงาน แล้วเวลาเข้าไปทำงานจะโกหกอะไรอีกล่ะ? คนโกหกไม่ทำชั่วไม่มีใช่ไหม เพราะการโกหกคือ การทำชั่วลำดับต้นๆ เราโกหกพี่น้องประชาชนไม่ได้ครับ แล้วมันไม่มีใครปัญญาอ่อนหรอกครับ ถ้าเกิดมาเยอะ เนี่ยดูสิ เดินทางร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำปราศรัยจนคอแหบคอแห้ง เสร็จแล้วไปบอกว่าถ้ามาเยอะๆ แล้วเอาสิ่งที่เราพึงจะได้ไปประเคนให้คนอื่นเนี่ย มันมีที่ไหน อันนี้คนไม่ใช่ควาย! กินข้าวครับ กินก๋วยเตี๋ยวนครพนมครับ ไม่ฉลาดเต็มที่ แต่ฉลาดพอครับ ที่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรครับ”

เรียกว่า...พอมาถึงโค้งสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการตัดสิน ทั้งพี่นิดและน้องหนูต่างถูกวัตถุประสงค์ทางการเมือง “ชักลาก” ให้ต้องทำในสิ่งที่อาจจะไม่เคยคิดอยากจะทำเข้าจนได้! 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ คือในยามที่ถูกตั้งคำถามในเรื่อง “จุดยืนทางการเมือง” คือ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ต้องปรับกลยุทธ์การหาเสียง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งถือเป็น “สมรภูมิชี้เป็นชี้ตาย” เพื่อไปสู่เป้าหมาย “แลนด์สไลด์” พรรคเดียวใช่หรือไม่? 

ด้วยเหตุนี้...ความพยายามหยิบยื่น “คำถาม” ถึง “ความคลุมเครือ” ต่างๆ ทั้งในเรื่อง “จุดยืนทางการเมือง” หรือแม้กระทั่ง “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตัวจริง” ที่หลายฝ่ายมองว่ากำลังทำให้ “เป้าหมายแลนด์สไลด์ถดถอย” จึงถูกยิงตรงไปถึง “คู่ขับเคี่ยวตัวจริงในภาคอีสาน” อย่าง “พรรคภูมิใจไทย” เข้าให้บ้าง? เพื่อหวังทั้งปิดคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายตัวเอง รวมถึงหวังว่าจะทำให้เกิด “แรงสั่นสะเทือน” ขึ้นกับฝ่ายตรงข้ามได้บ้าง 

หากแต่..ฝ่ายที่ตั้งรับกลยุทธ์นี้ มิใช่ พรรคที่อ่อนพรรษาทางการเมือง แต่พรรคที่ถนัดถนี่เหลือเกินกับ เกมการเมืองในลักษณะเช่นนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ถูกยิงสวนกลับ ทั้งในเรื่อง “คนที่พูดไม่ใช่ตัวจริง” รวมถึง มีการตั้งคำถามที่ว่า...เหตุใดในการเลือกตั้งปี 62 พรรคเพื่อไทยซึ่งได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่ 1 จึงโหวตเลือก “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” จากพรรคอนาคตใหม่เป็นนายกรัฐมนตรี? เข้าให้อีก! 

หนำซ้ำฝ่ายพรรคภูมิใจไทย ยังสบช่องในการย้อนเกล็ด ด้วยการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อเอาผิดฐานใส่ร้ายตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 73(5) ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือ จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ด้วย!

เรียกได้ว่า “แรงมาแรงกลับ” ชนิดไม่มีออมมือ ตามสไตล์พรรคที่บำเพ็ญตบะการเมืองมาอย่างแก่กล้า!

ทั้งนี้ การถูกตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่อง “จุดยืนทางการเมือง” จะบีบให้ “ไพ่ 3 ใบ” ที่พรรคเพื่อไทยเตรียมมาอย่างดิบดีสำหรับการ “หยิบฉวยมาใช้” ให้เหมาะสมกับ “ผลการเลือกตั้ง” ที่จะเกิดขึ้น จะถูกบีบให้เหลือทางเลือกเพียง “ใบเดียว” ก่อนถึงเวลาอันเหมาะสมหรือไม่? 

และที่สำคัญไปกว่านั้น...การถูกรุมบีบจากทั้งฝ่ายขั้วเดียวกันและขั้วตรงกันข้ามในเรื่อง “จะเอาลุงหรือไม่เอาลุง” กันแน่? เหล่านี้คือ คำถามสำคัญสำหรับพรรคเพื่อไทย ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อไปให้ถึง “เป้าหมายที่คาดฝัน”? 

ในขณะที่ฝ่ายพรรคภูมิใจไทยเอง จะมี “กลยุทธ์ตีกลับเอาคืนที่แรงกว่านี้” เพื่อรักษาความเสถียรแบบมาเงียบๆไม่อิงกระแสใดๆ ในการเจาะพื้นที่อีสานให้ได้มากที่สุดตามเป้าหมายหรือไม่?

และนี่คือเกมการเมืองที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิด และหลังจากนี้จะถูกตัดสินจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ต่อไป...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน   

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :