เวลานี้ทั้งสื่อพยายามขุดเจาะ คดี “แอม ไซยาไนด์” หรือ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ อายุ 36 ปี สาวท้องวัย 4 เดือน แทบจะทุกมิติ ทั้งครอบครัว คนรอบข้าง พฤติกรรม รวมไปถึง “รูปคดี” ที่ออกมาจากปากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาคลี่ขยายปมอย่างกว้างขวาง ซึ่งล่าสุด พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. กล่าวถึงความคืบหน้าคดีนี้ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากฝีมือ “แอม” มีทั้งหมด 14 ศพ มีผู้รอดชีวิต 1 ราย แต่กำลังรอพิสูจน์ผู้เสียชีวิตรายอื่นเพิ่มเติมว่า มีความเกี่ยวข้องหรือไม่ ขณะนี้ตำรวจได้ขอศาลออกหมายจับแอมทั้งหมด 3 หมาย และรับเรื่องร้องทุกข์ไว้ 11 คดี
กลับกัน ในฝั่งของผู้ต้องหาในคดีวางยาฆาตกรรม อย่าง “แอม” แทบจะไม่ปริปากพูดหรือให้ข้อมูลใดๆ เลย วันที่โดนจับกุม “แอม” ก็ไม่ให้ “สัมภาษณ์” สื่อ และที่สำคัญคือ เมื่อตำรวจสอบสวน “แอม” ก็ไม่ขอให้การใดๆ หลายคนจึงตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือ “เหลี่ยม” ของ “แอม ไซยาไนด์” ที่ใช้ไว้เตรียมสู้คดี (ไม่นับเรื่องกำลังท้อง 4 เดือน ที่อาจทำให้รอดโทษประหาร)
...
ข้อสังเกต มุมกฎหมาย และเหลี่ยมการสู้คดี
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล มุขแจ้ง อดีตหัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นนี้ว่า คาดว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ อาจจะมีความคุ้นเคยในการทำงานของตำรวจ เพราะเคยมีสามีเป็นตำรวจ จึงทำให้เขาอาจจะรู้ขั้นตอนการทำงานของตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมไทยทุกอย่าง อะไรที่ควรให้การ ไม่ควรให้การ หรือแม้แต่การสร้างพยานและหลักฐาน สิ่งนี้เองเขาอาจจะเลือกใช้ นำมาเป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง
“เพราะเท่าที่ดูข่าวมา แทบจะไม่พูดอะไรเกี่ยวกับคดีนี้เลย ไม่สารภาพ ไม่ปฏิเสธ ไม่ทราบว่าส่วนตัวเขาเคยมีประสบการณ์การถูกดำเนินคดีมา หรือได้รับความรู้จากคนที่ทำงานด้านตำรวจมา ฉะนั้น การดำเนินการหลังจากนี้ จึงจำเป็นต้องมีหลักฐานและพยานที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาหลักฐานทางฝ่ายเหยื่อนั้น ถูกนำมาเปิดเผยในที่สาธารณชนหมด ดังนั้น เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะเป็นผลดีกับ “แอม” ในการต่อสู้คดีก็เป็นได้”
หลักฐานที่เป็นลักษณะ “คำบอกเล่า” คำให้การต่างๆ ส่วนมากจะมีน้ำหนักน้อย ส่วนสิ่งที่เป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมาก จะต้องเป็นหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ มีแต่สิ่งนี้ที่จะเป็นการยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหาได้ เรื่องนี้เป็นคดีค่อนข้างยาก เพราะการตายของแต่ละคน บางครั้งก็หาหลักฐานการตายได้ยาก
“ฆาตกรต่อเนื่อง” หญิง-ชาย แตกต่างกัน
ทีมข่าวฯ ถามถึงความแตกต่างของฆาตกรต่อเนื่อง ชายและหญิง เป็นอย่างไร ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล อธิบายว่า ฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย เพราะมีความนิยมความรุนแรงมากกว่า แต่...มีน้อยมาก ที่จะเป็น “ผู้หญิง”
ส่วนประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยมาก “ผู้ชาย” จะลงมือกับคนรู้จักหรือไม่รู้จัก แต่ “ผู้หญิง” นั้น หากจะมีการก่อเหตุอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ มักลงมือกับคนใกล้ชิด เช่น สามี คนรัก เพื่อน
“การก่อเหตุของผู้หญิง โดยมากมาจากอารมณ์และความรู้สึก ถูกกระทบกระเทือนอารมณ์ทางจิตใจ เช่น หึงหวง มีเมียน้อย โกรธแค้นเหมือนลูกโป่งที่ถูกบีบอัดขึ้น จนวันหนึ่งมันระเบิด”
แต่... สำหรับคดีการวาง “ไซยาไนด์” อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อย ตั้งข้อสังเกตว่าแตกต่าง... เขาเลือกที่จะตีสนิทกับคนอื่นๆ บางคนรู้จักตั้งแต่เด็ก เป็นเหยื่อที่ถูกสร้างความสัมพันธ์ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนไปถึงจิตใจของผู้ลงมือ หากเป็นเรื่องจริง ก็ถือว่ามีจิตใจโหดเหี้ยมเกินมนุษย์ เกินเป็นเพศแม่
...
“ส่วนตัวไม่ทราบว่าเขาผ่านการเลี้ยงดูมาอย่างไร สถาบันครอบครัว กลไกทางสังคมที่เพาะบ่มนิสัยสมบูรณ์หรือไม่ มี “ตราบาป” เรื่องใดในวัยเด็กหรือเปล่า..แล้วกลับมาแก้แค้นสังคม”
อดีตอาจารย์อาชญาวิทยา ตั้งข้อสังเกตถึงแรงจูงใจว่า น่าจะเป็นการประสงค์ต่อทรัพย์สิน เพราะเท่าที่สังเกต คือ คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดล้วนเป็นคนมีฐานะ เพียงแต่วิธีการที่ลงมือ ไม่ได้เป็นการลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ แต่เป็นการลงมือที่เหี้ยมโหดกว่านั้น ทำทุกอย่างโดยไม่สนอะไรเลย...
ฝากเตือนสังคมต้องระวัง จิตใจมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง
สำหรับสิ่งที่คนในสังคมต้องระมัดระวัง กูรูอาชญาวิทยาเตือนว่า สังคมสมัยนี้อันตรายมาก ไม่ว่าจะมาในรูปแบบคนรู้จัก หรือในโลกโซเชียลมีเดีย การคบใครต้องไม่ไว้ใจจนเกินไป การรับอาหารจากคนแปลกหน้า หรือแม้แต่คนรู้จักก็ต้องระวัง ต้องตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ถ้าเป็นภาษาตำรวจจะเรียกว่า “รักษาความไม่ประมาทเสมือนชีวิต” อย่าไว้เนื้อเชื่อใจคนง่ายๆ ต้องรู้จักเอะใจ
“สิ่งที่ต้องระวัง คือ อาจจะกลายเป็นการเลียนแบบ เพราะไม่ใช่แค่ “ไซยาไนด์” แต่ยังมียาอื่นๆ ที่เป็นภัยต่อชีวิตและร่างกาย โดยเฉพาะวัยรุ่น เช่น ยาเสียสาว ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ซึ่งมันอาจจะมาพร้อมกับคนใดคนหนึ่งที่หยิบยื่นให้เราก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องจริง ไม่ได้มีแค่ในละคร”
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ