งวดเข้ามาทุกที สำหรับการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ที่จะมีขึ้นวันที่ 14 พ.ค.นี้ ใครจะมาวิน ใครจะได้เป็นนายกฯ อีกไม่เกินเดือนคงจะรู้ผล
แต่ในเวลานี้ สิ่งที่ทุกพรรคกำลังหาเสียง โชว์วิสัยทัศน์ และถูกจับตามากที่สุด ก็คือ “นโยบายพลังงาน” เพราะเจอ “บิลค่าไฟเดือนเมษายน” เข้าไป จากร้อนๆ กลายเป็นหนาวกันเลย...
แต่ละพรรคชูนโยบายพลังงานอะไรบ้าง วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะไล่เรียง เพื่อเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจมาให้เลย...
เพื่อไทย : ลดราคาพลังงาน แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทรัพยากรในทะเล หนุนโซลาร์ ลดค่าไฟ
ข้อมูลจากเว็บไซต์เพื่อไทย ระบุนโยบายพลังงานกว้างๆ 3 ข้อ ดังนี้
• ปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซทันที เพื่อลดภาระในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในชีวิตประจำวันให้ประชาชน
• เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูก และสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากค่าภาคหลวง
• สนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก เพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานแบบดั้งเดิม เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
...
และจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ ระบุว่า
1. การลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้ทันทีคือ นโยบายที่จะลดราคาน้ำมัน ไฟฟ้า และ ก๊าซหุงต้ม ซึ่งสามารถทำได้ทันที โดยเข้าไปปรับเปลี่ยนแก้ไขโครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้ชี้แจงมาตลอด และจะสามารถเข้าไปแก้ไขและลดราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มได้
2. เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือน ซึ่งเป็นทิศทางของโลก โดยเฉพาะปัจจุบันที่ค่าไฟฟ้าจะขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของไทยอย่างมาก
3. เร่งเจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อที่จะนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง โดยอย่างน้อยก็เท่ากับก๊าซที่ขุดจากอ่าวไทย ซึ่งต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2-3 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
4. ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก โดยลดขั้นตอนขออนุญาต และการขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ให้ กฟผ. รวมทั้งจัดหาแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ที่คุณภาพดีและราคาถูกให้ประชาชน
พลังประชารัฐ : ค่าไฟครัวเรือน หน่วยละ 2.5 บาท ผุด “โซลาร์ประชารัฐ”
ทีมข่าวฯ ได้ตรวจสอบ ข้อมูลนโยบายเกี่ยวกับนโยบายพลังงานในเว็บไซต์ พลังประชารัฐ ปรากฏว่า มีคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง 3 พันธกิจ ประกอบด้วย สวัสดิการประชารัฐ เศรษฐกิจประชารัฐ และสังคมประชารัฐ แต่เมื่อกดเข้าไปดูข้อมูล ก็ไม่ปรากฏนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์เฉพาะทางของพรรคพลังประชารัฐ ได้ชูนโยบายเกี่ยวกับพลังงาน 3 เรื่อง ได้แก่ การลดราคาน้ำมันเบนซิน 18 บาท ดีเซล 6 บาท โดย ลุงมิ่ง อธิบายว่า จะขอตัดค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วนประกอบของราคาน้ำมันออก โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันและสรรพสามิต แค่ 2 ตัวนี้ก็คิดเป็นเงินราว 15 บาทแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย “แก๊สเพื่อประชาชน” พร้อมลดราคาแก๊ส เหลือ 250 บาทต่อถัง ด้วยวิธีการรื้อและปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ด้วยการใช้งบประมาณให้ถูกทาง
ล่าสุด กับนโยบายค่าไฟ นายมิ่งขวัญ ชูว่า จะลดราคาค่าไฟภาคครัวเรือน เหลือหน่วยละ 2.50 บาท ภาคอุตสาหกรรม หน่วยละ 2.70 บาท โดยใช้แนวทางจากการปรับเปลี่ยนสัญญาสัมปทานผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพื่อทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับลง และสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้กว่า 50%
อย่างไรก็ตาม พลังประชารัฐได้มีการชูนโยบายเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ ด้วยโครงการ “โซลาร์ประชารัฐ” สนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง ส่วนไฟฟ้าที่เหลือขายให้แก่การไฟฟ้าฯ
โครงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากหากบ้านที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน
โครงการ 1 อบต. 1 โรงไฟฟ้า ซึ่งจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์เซลล์ในชุมชนขึ้นมา โดยความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยสร้างโซลาร์ฟาร์มขนาด 500 K-1 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฯ โดยกำไร 50%
...
ภูมิใจไทย : ฟรี “โซลาร์เซลล์” ลดค่าไฟ 450/เดือน กับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผ่อนเดือนละ 100 บาท
ในเว็บไซต์ภูมิใจไทย ได้ระบุนโยบายพลังงาน แบ่งออกเป็น 2 โครงการ ด้วยคำจำกัดความว่า “พลังงานสะอาด”
1. ฟรี โซลาร์เซลล์ หลังคาบ้าน ลดค่าไฟฟ้า หลังคาเรือนละ 450 บาท
ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการใช้หลังคาบ้าน ติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ในบ้านเรือนของตนเอง คิดเป็นค่ากระแสไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 450 บาทต่อเดือน และส่งกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ ขายให้แก่รัฐบาล ผ่านระบบของการไฟฟ้า ซึ่งจะต้องปรับบทบาทหน้าที่ เป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้ของรัฐบาล
รัฐบาลจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แก่ประชาชน ที่นำบ้าน หรือที่พักอาศัย สถานประกอบการ เข้าร่วมโครงการฟรี และรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากประชาชน โดยการบันทึก เป็นเครดิตพลังงาน ที่ประชาชนนำไปใช้จ่ายเมื่อใช้กระแสไฟฟ้า สำหรับบ้านเรือน และ ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าได้
ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะได้รับส่วนลดค่ากระแสไฟฟ้าและเครดิตพลังงาน เป็นเวลา 25 ปี ตามอายุโครงการความร่วมมือผลิตกระแสไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน
...
2. รับสิทธิซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ราคา 6,000 บาท ผ่อนจ่ายเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 60 งวด
เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์เต็มที่ ประชาชนทุกคนที่นำบ้าน ที่พักอาศัย เข้าร่วมโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ฟรี จะได้รับสิทธิซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าบ้านละ 1 คัน ในราคา 6,000 บาท ด้วยระบบผ่อนชำระ เดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 60 เดือน และสามารถใช้เครดิตพลังงาน เติมกระแสไฟฟ้าได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าพลังงานสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายให้แก่ประชาชน ทั้งการซื้อรถราคาถูก และไม่ต้องเสียเงินค่าพลังงาน
ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากรัฐบาล ในฐานะผู้ผลิตพลังงานสะอาดให้กับรัฐบาล ลดการลงทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าของรัฐบาล และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย ที่จะก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ผลิตพลังงานสะอาด เป็นลำดับต้นๆ ของโลก
ก้าวไกล : ลดค่าไฟ 70 สต./หน่วย ทันที ติดหลังคาโซลาร์ เปลี่ยนแดดเป็นเงิน
สำหรับนโยบายด้านพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องราคาไฟฟ้า น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ระบุว่า มีแผน 5 ขั้น เตรียมผลักดันหากได้เป็นรัฐบาล
...
1. เปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติ จากเอื้อกลุ่มทุน เป็นเอื้อประชาชน โดยใช้กลไกคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายพลังงาน (กกพ.) กำหนดนโยบาย ซึ่งสามารถทำได้เลยภายใน 100 วันแรก และเห็นผลในบิลค่าไฟ ลดได้ทันที 70 สตางค์ต่อหน่วยในปีแรก พร้อมกันนั้น ต้องเร่งเจรจาสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้า
2. เปลี่ยนแดดเป็นเงิน ปลดล็อกระบบขายไฟมิเตอร์หมุนกลับจากหลังคาบ้านเรือน (Net Metering) เพื่อให้ทุกบ้านเรือนที่ต้องการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านสามารถทำได้อย่างถูกต้อง เชื่อว่าใน 4 ปี จะเห็นผล
3. เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเลือกซื้อไฟฟ้าได้เอง ไม่ต้องถูกมัดมือชกซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยุติการรับประกันกำไรให้เจ้าสัวพลังงาน
4. ชนกับกลุ่มทุนใหญ่เสือนอนกิน เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัมปทานกับกลุ่มทุนพลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจาก ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง
5. ขั้นของพรรคก้าวไกลที่เราเตรียมจะไปเสนอ เพื่อเปลี่ยนนโยบายพลังงานของประเทศไทยใหม่ทั้งหมด ให้การผลิตไฟฟ้าของประเทศนี้ เอื้อประโยชน์ประชาชนมากกว่ากลุ่มทุน มีการผลิตซื้อขายอย่างเสรี ด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
ประชาธิปัตย์ : ทบทวนโครงสร้างราคาและภาษีด้วยต้นทุนจริง เล็งจะยกเลิกค่า FT
พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ เพิ่งทำการเปิดตัวนโยบายพลังงานสดๆ ร้อนๆ วันนี้ (19 เม.ย.) โดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ ปชป., นายอลงกรณ์ พลบุตร และ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.
ประเด็นสำคัญด้านพลังงาน นายเกียรติ ได้แถลงว่า นโยบายของพรรคด้านพลังงานหลักๆ จะเป็นการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยน้ำมันเราจะกำกับค่าการกลั่นไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร ค่าการตลาดไม่เกิน 1.5 บาทต่อลิตร ทบทวนโครงสร้างราคาและภาษีด้วยต้นทุนจริง ทบทวนเงินเข้ากองทุน ทบทวนการคำนวณต้นทุนน้ำมันที่อ้างอิงราคามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน ส่วนก๊าซธรรมชาตินั้น จะต้องเฉลี่ยต้นทุนระหว่างนำเข้ากับแหล่งในประเทศ ให้สะท้อนต้นทุนที่จริงและเป็นธรรม ปฏิรูปสูตรคำนวณและวิธีการกำกับดูแลใหม่ และทบทวนสัญญาระยะยาวที่เอาเปรียบและไม่เป็นธรรม
ส่วนไฟฟ้าพรรคจะปรับราคาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม กำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตระหว่างรัฐกับเอกชนให้เหมาะสม ซึ่งขณะนี้เรามีกำลังการผลิตสำรองถึง 50% ถือว่ามีจำนวนมาก ที่สำคัญต้องมีการทบทวนความจำเป็นการมีค่าความผันแปร หรือค่า FT โดยค่าดังกล่าวในโลกนี้ มีใกล้เคียงอยู่เพียง 3-4 ประเทศเท่านั้น เราจึงต้องการยกเลิกและมีวิธีอื่นที่ดีกว่า แต่ทั้งนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อพรรค ปชป.เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือกำกับกระทรวงพลังงานอย่างจริงจัง
ชาติพัฒนากล้า : รื้อโครงสร้างพลังงาน ปรับสมดุลผลิตไฟฟ้า เปิดแข่งขันอย่างโปร่งใส
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เคยประกาศในเวทีหาเสียงว่า ชาติพัฒนากล้า จะเข้ามารื้อราคาพลังงาน แก้ปัญหาน้ำมันแพงและค่าไฟแพง โดยเฉพาะค่าไฟแพง โดยมีการตำหนิสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ออกนโยบายขึ้นค่าไฟในภาคประชาชน แต่กลับลดค่าไฟในภาคอุตสาหกรรม
นายกรณ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ข้อเสนอนโยบายสำคัญต่อมา คือ การปรับโครงสร้างภาคพลังงาน ประกอบด้วย ธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า เพราะหลักๆ เลยพรรคชาติพัฒนากล้าเชื่อในเรื่องของการแข่งขัน เชื่อว่าภาคเอกชนมีประสิทธิภาพในการแข่งขันและดูแลประชาชนได้ดีที่สุด ตราบเท่าที่มีการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพราะปัญหาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นจากกลไกที่มีความบกพร่อง และผูกติดกับทุกปัญหา เรียกว่าเป็นโครงสร้างที่บิดเบี้ยว ฉะนั้น ภาครัฐต้องปลดล็อกให้เกิดการแข่งขันในรูปแบบที่ประชาชนได้ประโยชน์ โดยแก้ปัญหาการผูกขาดให้หมดไป ต้องทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า อะไรคือต้นทุนแฝงที่ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นก็ควรยกเลิก
“เรื่องราคาน้ำมัน ควรยกเลิกการอ้างอิงราคาสิงคโปร์ และมาดูว่าต้นทุนของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร และควรกำหนดราคาขายเท่าใดถึงจะเหมาะสม”
แก้ปัญหาไฟฟ้าแพง สิ่งที่ต้องปรับโครงสร้างวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สมดุล เนื่องจากไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ กว่า 70% และใช้พลังงานหมุนเวียนเพียง 20% จึงต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนได้เพิ่มขึ้น เช่น ในกรุงเทพฯ มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาได้อีก 6,000 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่เกิด เพราะว่าติดปัญหาสายส่ง และติดแนวคิดว่าการผลิตไฟฟ้า ต้องสงวนไว้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เอง ทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกของนโยบายที่ควรสนับสนุน คือเลิกผูกขาดกิจการสายส่ง โดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยยังคงให้ กฟผ.ถือหุ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนขายไฟฟ้า หรือเลือกใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกได้ ซึ่งวิธีการแบบนี้จะเกิดการแข่งขันทันที ราคาพลังงานก็จะถูกลง เพราะประชาชนสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่จำหน่ายไฟฟ้าในราคาถูก หรือว่าสามารถเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ โดยอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมและโปร่งใส
ไทยสร้างไทย เลิกสัญญาทาส แก้ค่าไฟแพง ค่าไฟต้องไม่เกิน 3.50 บาท
ในเว็บไซต์ไทยสร้างไทย ระบุถึงนโยบายพลังงานว่า...
• ปรับโครงสร้างค่านํ้ามัน/ค่าแก๊ส กําหนดเพดานค่าการกลั่นให้เป็นธรรมกับคนไทย
• ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า รื้อสัญญาทาส ค่าไฟต้องไม่เกิน 3.50 บาท
• ไม่เก็บภาษีคนตัวเล็กที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 300,000 บาท/ต่อปี หรือรายได้ไม่เกิน 40,000/เดือน
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวในเวทีดีเบตไทยรัฐ ว่า การรื้อโครงสร้างเพื่อปรับราคาพลังงาน เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลที่ผ่านมา มีการทำสัญญาเสียเปรียบเอกชน คล้ายทำสัญญาทาส เป็นข้อสงสัยจากดิฉันแทนประชาชน
ยกตัวอย่าง “ไฟฟ้า” เราไปสัญญากับโรงไฟฟ้าเอกชน ผลิตไฟฟ้ามากจนเกินความต้องการของประเทศ ซึ่งประเทศไทยใช้ไฟมากที่สุด คือ 33,000 เมกะวัตต์ เซ็นสัญญาผลิต คือ 50,000 กว่าเมกะวัตต์ ที่สำคัญคือ ก่อนจบ ครม.ที่ผ่านมา ไปเซ็นเพิ่มขึ้นอีก แปลว่าเรามีไฟฟ้าสำรองสูงถึง 50-60%
“ถ้าเราอยู่เศรษฐกิจขาขึ้นไม่เป็นไร แต่วันนี้การลงทุนจากต่างประเทศเราต่ำเตี้ย จาก 40% เหลือเพียง 4% มีเหตุใดที่ต้องสำรองไฟขนาดนั้น”
และเหตุใดถึงใช้แก๊สผลิตไฟ ทั้งที่ในอ่าวไทยมีน้อย แต่ปรากฏว่า แก๊สเรามีน้อยก็เอาขาย แต่กลับไปซื้อแก๊สจากต่างประเทศเข้ามา และที่ผ่านมาไม่เคยสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งมันควรจะเกิดมานานแล้ว ทุกวันนี้ไปดูบิลค่าไฟ คนไทยต้องจ่ายค่า FT ค่าความพร้อมจ่าย แต่โรงไฟฟ้าไม่ได้ผลิตไฟแม้แต่หน่วยเดียว ผลักภาระให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพง เพิ่มขึ้น 0.7 บาท/หน่วย เป็นเงินกว่า 25,000 ล้าน/ปี
ทั้งหมดคือข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพราะราคาพลังงานเกี่ยวพันกับชีวิตคนไทยทุกคน การประกาศนโยบาย เปรียบเสมือนคำมั่นสัญญา ถ้าใครที่พิจารณาแล้วว่า เป็นนโยบายขายฝัน ก็อย่าเลือกคนเหล่านั้นเข้าสภา
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ