หลินฮุ่ย แพนด้าในสวนสัตว์เชียงใหม่ เสียชีวิตด้วยอายุ 21 ปี หลังสร้างความสุขให้คนไทยมายาวนาน และสร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการสัตวแพทย์ไทย ในการผสมเทียมแพนด้า จนประสบความสำเร็จ เป็นแพนด้าตัวแรกของโลก ที่เกิดในประเทศเขตศูนย์สูตร นอกฤดูผสมพันธุ์ของแพนด้า โดยองค์ความรู้เหล่านั้น ได้ถูกพัฒนาในการดูแลสัตว์ตัวอื่นๆ
แพนด้าหลินฮุ่ย ทูตสันถวไมตรีระหว่างไทยและจีน ภายหลังย้ายมาอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ จึงเริ่มมีความพยายามให้เกิดการผสมพันธุ์ตามแบบธรรมชาติ โดยผู้เชี่ยวชาญพยายามสร้างบรรยากาศต่างๆ จนต่อมา แม้มีการแสดงอาการพร้อมผสมพันธุ์ แต่ทุกอย่างยังล้มเหลว หลังจากนั้นมีการตั้งคณะทำงานทั้งสัตวแพทย์ไทยและจีนกว่า 30 คน เพื่อทำการผสมเทียม จนประสบความสำเร็จ และมีการถ่ายทอดสด ให้เห็นถึงความน่ารัก ของแม่มือใหม่อย่าง หลินฮุ่ย
โดยวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 ได้ให้กำเนิดลูกแพนด้า น้ำหนักประมาณ 200 กรัม จำนวน 1 ตัว เป็นผลจากผสมเทียม และมีการตั้งชื่อว่า หลินปิง แพนด้ายักษ์เพศเมีย ตัวแรกของโลกที่เกิดในประเทศเขตศูนย์สูตร นอกฤดูผสมพันธุ์ของแพนด้า
...
รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวกับ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า การตายของ หลินฮุ่ย เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ แต่ที่ผ่านมาก็สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการสัตวแพทย์ จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ซึ่งแพนด้าในวัย 21 ปี ถือว่ามีอายุมาก หากมีการเสียชีวิตด้วยโรคชรา ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ด้วยอายุขัยของแพนด้า
การเข้ามาของ หลินฮุ่ย เป็นการยกระดับวงการสัตวแพทย์ของไทย โดยเฉพาะเทคนิคการผสมเทียมแพนด้า ที่มีความยาก แต่ทีมสัตวแพทย์ไทยสามารถทำได้ ทั่วโลกมีแค่ไม่กี่ประเทศสามารถทำได้อย่างนี้ เพราะการผสมเทียมแพนด้าได้ ไม่ใช่แค่ความพร้อมด้านเทคนิคการแพทย์ แต่ต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู ซึ่งหน่วยงานด้านการแพทย์ของจีน มีการตั้งมาตรฐานที่สูง และทีมสัตวแพทย์ไทยสามารถทำได้ประสบความสำเร็จ
ความพยายามในการผสมเทียมแพนด้า สัตวแพทย์ไทย ได้เรียนรู้ทั้งระบบอัลตราซาวนด์ และการตรวจฮอร์โมน ขณะเดียวกัน การที่แพนด้าจากประเทศจีน มาอาศัยอยู่ในสวนสัตว์ในไทย ก็เป็นการกระตุ้นความคิดของคนในวงการสัตวแพทย์ และเรียนรู้เพื่อต่อยอดการใช้ชีวิตของแพนด้าในด้านต่างๆ
ขณะเดียวกัน องค์ความรู้เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมว่า ประเทศไทยสามารถดูแลแพนด้าในรุ่นต่อไปได้ รวมถึงทำให้วงการอนุรักษ์แพนด้าทั่วโลก มีการจับตาองค์ความรู้ของสัตวแพทย์ในไทย ที่ได้รับการยอมรับอีกด้วย.