กลายเป็นมุกตลกล้อเลียน แต่เจ็บในทรวงข้างใน เมื่อถามว่า อะไรสามารถคลายร้อนได้...คำตอบคือ “บิลค่าไฟ” ที่แค่ได้เห็น ก็หนาวแล้ว...

ช่วงนี้ อากาศร้อนจัด ทำให้เกือบทุกครัวเรือน ต้องพึ่งพา “แอร์” และแน่นอน เมื่อเปิดแอร์ ค่าไฟก็พุ่งสูง บางคนหาหนทางลดค่าไฟ ด้วยการลงทุนติดโซลาร์เซลล์ แต่...ต้องยอมรับว่า มันไม่ใช่ “ของถูก” เพราะค่าเฉลี่ยการติดบนหลังคาทั่วไป ก็ประมาณ 130,000-200,000 บาท แบบนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรดี

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ได้กล่าวถึงปัญหาค่าไฟแพง และการเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าว่า

ดร.ไกรสร ยอมรับว่า การควบคุมค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน เป็นไปได้ยากมาก เพราะราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะ “ค่าไฟฟ้าผันแปร” หรือ ค่า FT (Float time) การลอยค่าต้นทุนไม่สามารถควบคุมได้ เพราะมีการอุดหนุนจากหลายส่วน เช่น การสนับสนุนการใช้โซลาร์เซลล์ ทำให้ทุกอย่างผสมลงมา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่อง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ต้นทุนด้านราคาพลังงานเชื้อเพลิงของโลกแพงขึ้น

...

“ที่สำคัญ คือ ตอนนี้อากาศร้อนมาก ทางเดียวที่จะลดอุณหภูมิคลายร้อนได้ คือการ เปิดแอร์ ซึ่งตอนนี้มีอัตราการใช้กันเยอะ ซึ่งปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ EGAT ก็มีการทดสอบประสิทธิภาพในการลดค่าไฟ ซึ่งก็มีการให้เบอร์ 5 และแบ่งเป็น 1-3 ดาว”

จากสถิติที่มีขายในท้องตลาด “แอร์” เกือบ 100% ถือว่าได้มาตรฐาน เบอร์ 5 ทั้งหมด ซึ่งเดิมที การแสดงสัญลักษณ์ประหยัดไฟฟ้า ก็มีแค่ เบอร์ 1-5 ต่อมามีการพัฒนาและแข่งขันในตลาด ทุกบริษัทก็พัฒนาแอร์ของตนเองผ่านมายังเกณฑ์เบอร์ 5 แล้ว

แต่...หน่วยงานที่เป็นคนให้ฉลากเองไม่ได้อยากให้หยุดแค่นี้ ซึ่ง 95% เดิม ได้เบอร์ 5 ฉะนั้น จึงพัฒนาแอร์ให้ดีขึ้น เป็น 97, 98, 99 เป็นที่มา เบอร์ 5 และอีก 1 ดาว คือ มีประสิทธิภาพประหยัดพลังงานดีขึ้นกว่าเดิม หากมี 3 ดาว คือ ประหยัดพลังงานที่สุด

“สิ่งนี้เองสะท้อนกลับมาที่ผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้แต่ละครั้งในการเปิดแอร์ จ่ายเงินในกระเป๋าน้อยลงนั่นเอง”

หลังคา โซลาร์เซลล์ ลงทุนเพื่อรอด ?

ผอ.ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่กำลังพัฒนาและมีการพูดคุยกันอยู่มากในเวลานี้ คือ การใช้หลังคา “โซลาร์” ปัจจุบัน รัฐบาลไม่ได้ผลักดันให้มีการใช้งานในบ้านกันเยอะ ส่วนหนึ่งต้นทุนสูง และอีกมุมหนึ่ง คือ ผู้ให้บริการอย่าง การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีธุรกิจหลักคือการขายไฟฟ้า หากทุกบ้านติดหลังคาโซลาร์ แปลว่า ตอนกลางวันเขาจะขายของได้น้อยลง...

เมื่อราคาต้นทุนสูง ทุกสิ่งทุกอย่าง จะต้องถูกแชร์กลับเข้ามาคือ ค่า FT บ้านที่ไม่ได้ใช้หลังคาโซลาร์ ถือเป็นการซัพพอร์ตต้นทุน ขณะเดียวกัน คนที่ติดหลังคาโซลาร์ หากต้องการขายไฟฟ้า ทางการไฟฟ้าก็จะรับซื้อ และมีการจ่ายค่าชดเชยลงไป ด้วยเหตุนี้ ค่าใช้จ่ายของการไฟฟ้าที่ซื้อไฟฟ้าจากคนที่ติดโซลาร์เซลล์ ก็จะถูกคำนวณในค่า FT

แบบนี้แปลว่า คนที่ใช้โซลาร์ ทำให้ค่า FT สูงขึ้น? ดร.ไกรสร กล่าวว่า ไม่ใช่แค่นั้น แต่คนที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งค่าแก๊ส และอื่นๆ ถูกผสมลงมาใน “กองทุนพลังงาน” รถยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนใช้ไฟฟ้ากันมากขึ้น

แปลว่าในอนาคต หากเรามีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ค่าไฟก็จะสูงขึ้นเช่นเดียวกัน? ผอ.ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยกตัวอย่างว่า หากอนาคตสัดส่วนคนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV มากขึ้น โดยปกติแล้ว หากเราจะชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า นำสายไฟชาร์จไปเสียบที่สถานีชาร์จทั่วไป ตัวสายส่งไฟฟ้าก็ไม่กระทบเยอะ แต่ถ้ามีรถยนต์ไฟฟ้าเยอะมาก ปัญหาจะเกิดขึ้นอีกแบบคือ สายส่งของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะต้องเพิ่มต้นทุน ในการลงทุนกับการจ่ายไฟฟ้า

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนไป คือ ต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้าใหญ่ขึ้น สายไฟฟ้าโต เร็ว แรงขึ้น ทุกอย่างจะกลายเป็นการลงทุนครั้งมหาศาล และทุกอย่างสะท้อนกลับเข้ามาสู่ผู้บริโภคเช่นเดียวกัน ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

...

“ที่สำคัญคือ ส่วนหนึ่งของการผลิตไฟฟ้า คือ การซื้อเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเข้ามา หากเป็นแบบนั้น โครงสร้างต้นทุน มันก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก”

เมื่อถามว่า หากมองในทางกลับกัน ประเทศไทยมีการติดโซลาร์เซลล์ในครัวเรือนเยอะมากขึ้น จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงไหม เพราะการผลิต อาจซื้อพลังงานน้อยลง ดร.ไกรสร กล่าวว่า การซื้อเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าก็อาจจะน้อยลง และนำเชื้อเพลิงดังกล่าวไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ห้าง หรือตึกใหญ่

“ความจริง หากมีการติดโซลาร์เซลล์ภายในบ้านได้ เราอาจจะไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าในตอนกลางวันเลย”

หากเป็นเช่นนี้ แปลว่า บ้านไหนที่ไม่ได้ติดโซลาร์เซลล์ ก็อาจจะต้องแบกรับการคำนวณต้นทุนไฟฟ้ามากขึ้นหรือไม่ ดร.ไกรสร กล่าวว่า ก็...หากโครงสร้างค่าไฟฟ้ายังไม่ปรับปรุง สิ่งที่กล่าวมาอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ มี “ส่วนหนึ่ง” ต้องรับในส่วนนี้ด้วย

ตอนนี้ก็เห็นผู้สมัครบางคน พูดถึงเรื่องการสนับสนุนการใช้โซลาร์เซลล์ แต่...หากทำอย่างนั้นจริง ภาครัฐต้องแบกต้นทุนค่อนข้างเยอะในการอุดหนุน..

...

ลงทุน โซลาร์เซลล์ กับการคืนทุน

ผอ.ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่า การลงทุนกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ จุดคุ้มทุนขึ้นอยู่กับกำลังวัตต์ที่ใช้ ซึ่งจากข้อมูลก็พบว่าต้องใช้เวลา 7-8 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การคืนทุนจะเร็วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับราคาเชื้อเพลิงในการคำนวณในเวลานั้นด้วย หากราคาน้ำมันแพง จะคืนทุนเร็ว

ทางรอดในการประหยัดไฟฟ้า

ดร.ไกรสร ระบุว่า หากสังเกตดีๆ เราจะทราบว่าอุปกรณ์ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ในบ้านช่วงฤดูร้อน ก็คือ “แอร์” หรือ “เครื่องปรับอากาศ” สิ่งที่ต้องดูแลมากๆ คือ ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อน ได้มีการล้างแอร์กันบ้างหรือไม่ เพราะประสิทธิภาพของแอร์มีการทดสอบก่อนนำมาขายอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการใช้งานสักระยะ สิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันช่องแอร์ ท่อน้ำตัน ฉะนั้น เมื่อเราเซตอุณหภูมิแอร์ไว้ ยกตัวอย่าง 20 องศาฯ แต่แอร์มันเจอฝุ่นอุดตัน มันก็ทำอุณหภูมิไม่ได้ เมื่ออุณหภูมิไม่ได้ แอร์ก็จะทำงานหนักตลอดเวลา ส่งผลให้มีค่าไฟแพง

ตู้เย็น : หากไม่ได้เปิดประตูตู้เย็นคาไว้ก็ไม่น่ามีปัญหา

...

ส่วนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กคาไว้อื่นๆ เช่น ทีวี หากเราเสียบไฟค้างไว้ แม้จะปิดไว้ แต่มันก็มีไฟเข้าอยู่ รอการกดเปิดจากรีโมต การเสียบไฟเช่นนี้ มันก็ยังกินไฟ ซึ่งแต่ละเครื่องอาจจะกินไฟ 1 วัตต์ หรือไม่ถึงวัตต์

แต่หากทุกบ้านในประเทศไทย มีทีวี 10 ล้านเครื่อง แล้วเสียบปลั๊กทิ้งไว้ ในโหมดสแตนด์บาย จะกินไฟฟ้า 10 ล้านวัตต์ เท่ากับ ปริมาณโรงไฟฟ้าใหญ่ๆ จำนวน 1 แห่งเลย

ขณะเดียวกัน การประหยัดไฟเบอร์ 5 ก็ควบคุมอยู่ โดยมีการวัดค่าพลังงานการเสียบปลั๊กทิ้งไว้ โดยเราก็มีเรตในการควบคุมเรื่องเหล่านี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องของ “เราเตอร์ไวไฟ” ตอนนี้กำลังมีการผลักดันให้มีการทดสอบการกินไฟ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่เสียบไฟตลอดเวลา ฉะนั้น จึงมีแนวทางศึกษา การประหยัดพลังงานอยู่ ถึงแม้เราเตอร์จะกินไฟน้อย แต่...รวมทั้งประเทศก็ถือว่าใช้ไฟเยอะอยู่

“สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้ คือ คนป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง หากบ้านไหนมีแอร์ ก็ไม่มีปัญหา แต่บางบ้าน อยู่ในบ้านที่อุณหภูมิอบอ้าว สิ่งที่แนะนำคือ ต้องทำให้บ้านมีระบบระบายอากาศดีๆ เช่น เปิดประตู หน้าต่าง เพราะหากปล่อยไว้ก็เกรงจะเกิดอันตราย เรื่องฮีตสโตรกได้”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ