เกษตรจำแลงที่ปลูกกล้วย และพืชเกษตรอื่นๆ กำลังเป็นกลุ่มคนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพราะหากปล่อยที่ดินรกร้างว่างเปล่าเหมือนที่ผ่านมา ต้องเสียภาษีที่ดินสูงกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีจำนวนมาก
เกษตรจำแลง คือใคร
เกษตรจำแลง เป็นอีกสถานะหนึ่งของแลนด์ลอร์ด หรือเศรษฐีที่ดินในกรุงเทพมหานครในยุคนี้ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า เริ่มส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของ กทม. เพราะแปลงที่ดินที่ปลูกพืชเกษตรในกรุงเทพมหานครที่มีเจ้าของเป็นเกษตรจำแลงได้สิทธิ์จ่ายภาษีที่ดินในอัตราต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราภาษีที่เก็บจากที่ดินว่างเปล่า หรือสิ่งปลูกสร้างประเภทอื่น
ยกตัวอย่างพื้นที่ทำเลทองกลางเมืองแห่งหนึ่ง ขนาดพื้นที่ 7 ไร่ หากประเมินราคาที่ดินและมูลค่าภาษีที่ต้องจ่ายสูงถึง 4 ล้านบาท แต่เมื่อเจ้าของที่ดินปรับพื้นที่กลายเป็นเกษตรจำแลงก็ได้สิทธิ์จ่ายภาษีที่ดินเพียง 3 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งมีพื้นที่ลักษณะนี้อีกจำนวนมาก ทำให้ กทม. เสียรายได้หลายร้อยล้านบาท
เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ประเมินที่ดินของ กทม.ต่างรู้กันว่าที่ไหนบ้างเป็นพื้นที่ของเกษตรจำแลง ซึ่งเจ้าหน้าที่ กทม.รายหนึ่งเปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ว่า การสังเกตดูพื้นที่ไหนเป็นที่ดินของเกษตรจำแลงนั้นดูได้จากสภาพที่ดินเปลี่ยนไปหลังได้รับการตรวจสอบการใช้ที่ดินจากเจ้าหน้าที่แล้วหรือไม่
กรณีตัวอย่างคือ การประเมินที่ดินในช่วงปีภาษีจนถึงวันที่ 1 มกราคมของแต่ละปี เมื่อเจ้าหน้าที่ไปดูที่ดิน พบว่าเจ้าของที่ดินปลูกต้นกล้วยตามเกณฑ์อย่างถูกต้อง คือ 200 ต้นต่อไร่ แต่ผ่านไป 4-5 เดือน เมื่อไปสำรวจอีกครั้งพบว่าสวนกล้วยนั้นไม่ได้รับการดูแล ปล่อยให้วัชพืช หรือต้นหญ้าขึ้นเต็มสวนกล้วยไปหมด
...
เกษตรจำแลง จึงเป็นที่รู้จักกันว่า คือเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้มีอาชีพเกษตรกรจริงๆ แต่มีที่ดินจำนวนมาก จากที่เคยลงทุนซื้อที่ดินไว้ก่อนหน้านี้ หรือได้มรดกตกทอดมา แต่ยังไม่มีแผนพัฒนาที่ดิน หรือรอปล่อยขายหรือเช่า จึงหาวิธีเสียภาษีที่ดินให้น้อยที่สุด
เกษตรจำแลงกับเม็ดเงินภาษีที่หายไป
แหล่งข่าวจาก กทม. เปิดเผยว่า จากการสรุปจำนวนที่ดินเกษตรกรรมในกรุงเทพมหานครล่าสุด ในปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ในพื้นที่ที่มีเจ้าของเป็นเกษตรกรจริง และพื้นที่ที่เป็นเกษตรจำแลง พบว่าปี 2566 มีพื้นที่เกษตรกรรมทั่วกรุงเทพฯ เพิ่มจำนวนมากเกือบ 1 หมื่นแปลง
เมื่อเจาะลึกดูรายละเอียดพบว่า ในปีภาษี 2565 (ณ วันที่ 1 มกราคม 2565) กทม.สำรวจพบแปลงเกษตรจำแลง 22,870 แปลง จัดเก็บภาษีตามเกณฑ์วัตถุประสงค์การใช้ที่ดินเป็นพื้นที่เกษตร ได้มูลค่ารวมเพียงประมาณ 20.91 ล้านบาท จากการจัดเก็บอัตรา 0.01-0.10% ของมูลค่าที่ดินที่เกิน 50 ล้านบาท
ขณะที่หากจัดเก็บตามความจริง คือ ตามเกณฑ์ตามสภาพที่ดินที่ปล่อยรกร้าง 0.3% จะได้เงินภาษีมูลค่า 630.13 ล้านบาท เท่ากับส่วนต่างเงินเข้ารัฐหายไปประมาณ 609.22 ล้านบาท
ผ่านมา 1 ปี ในปีภาษี 2566 (ณ วันที่ 1 มกราคม 2566) พบว่ามีเกษตรจำแลงเพิ่มเป็น 32,743 แปลง จัดเก็บภาษีได้ 28.45 ล้านบาท แต่หากจัดเก็บตามเกณฑ์ตามสภาพที่ดินที่ปล่อยรกร้าง 0.3% ดังกล่าว จะได้เงินภาษีเข้ารัฐมูลค่าถึง 856.25 ล้านบาท
ด้วยช่องทางจ่ายภาษีลดลง จึงทำให้สวนกล้วยพรึบทั่วเมืองหลวงอย่างที่เห็น แถมยังทำให้อาชีพรับจ้างปลูกกล้วยพร้อมบริการในเมืองหลวงเต็มที่ แล้วผู้ว่าฯ กทม.กำลังทำอะไรอยู่บ้าง
เรื่องนี้โดยสรุปว่า กทม.ต้องพึ่งรัฐบาลช่วยจัดการ ซึ่งผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุถึงสิ่งที่กำลังดำเนินการว่า ได้เสนอแผนรัฐบาลขอเปลี่ยนพื้นที่เขตชั้นในที่ปลูกเกษตรกรรมขอเก็บภาษีสูงขึ้น เพราะเป็นห่วงเกษตรกรตัวจริงที่อยู่รอบนอก กทม. อย่างหนองจอก มีนบุรี ซึ่งอย่าลืมว่าจุดมุ่งหมายของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พอคนเลี่ยงได้ การบังคับใช้กฎหมายไม่ตรงเจตนารมณ์ก็ต้องหาทางเสนอเพื่อแก้ไข
“เราอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย มีอะไรที่เสนอได้ เราก็จะเสนอไป
เราคือท้องถิ่น รัฐบาลดูภาพรวม และเราไม่ได้ขัดแย้งอะไรกัน” นั่นคือสิ่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติทำได้ในตอนนี้ และคงต้องรอเวลาว่ารัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งจะแก้ปัญหานี้ได้แค่ไหน
อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีกี่ประเภท และคิดเท่าไร
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 และเริ่มเก็บภาษี 1 มกราคม 2563 ซึ่งอัตราภาษีคำนวณจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตั้งแต่ปีละ 0.01%-3% ของมูลค่าประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผู้ที่ต้องเสียภาษีคือผู้ถือกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครองใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นๆ ซึ่งแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภทที่เสียภาษีอัตราต่างกัน ดังนี้
...
- เพื่อเกษตรกรรม ทั้งการปลูกพืช และเลี้ยงปศุสัตว์ แมลง มูลค่าประเมินต่ำกว่า 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นหากสูงกว่า 50 ล้านบาท คิดอัตรา 0.01%-0.10%
- เพื่อการอยู่อาศัย ในกลุ่มบ้านหลักที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท จ่ายภาษีในอัตรา 0.03%-0.10% ส่วนเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านบาท 0.02%-0.10% ส่วนในกลุ่มบ้านรอง ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท จ่ายภาษีในอัตรา 0.02%-0.10%
- เพื่อใช้ประโยชน์อื่น เช่น เชิงพาณิชย์ จ่ายภาษีในอัตรา 0.30%-0.70%
- ที่ดินว่างเปล่า จ่ายภาษีในอัตรา 0.30%-0.70%