“เชื่อว่าหลังจากนี้ จะเกิดไฟป่าแบบนี้อย่างต่อเนื่อง!”
วลีข้างต้นเป็นของ “ชาติชาย ไทยกล้า” ผอ.สถาบันฝึกดับเพลิง และกู้ภัยชั้นสูง ทาฟต้า นักผจญเพลิงดับไฟป่าชั้นครู พร้อมคำแนะนำสำหรับการดับไฟป่า ที่เกิดขึ้นที่เขาแหลม-เขาชะพูล จ.นครนายก
นายชาติชาย กล่าวว่า มีลูกศิษย์ได้ลงพื้นที่ไปดับไฟป่า ส่วนตนก็ได้ติดตามข่าวอยู่ตลอด ที่มีรายงานว่าลุกลามไปทางโรงเรียนนายร้อย จปร. นั้น เบื้องต้น สิ่งที่ต้องทำ คือ
1. Fire Barrier ด้วยการถาง หรือ ใช้รถแทรกเตอร์ เกลี่ยไปไม่ให้ไฟลามไปติดอาคาร เป็นแนวกันไฟ
2. ใช้วิธีการเผาบางส่วน เช่น หากมีพื้นที่ใกล้หมู่บ้าน เราก็เผาป่าบางส่วนโดยมีรถดับเพลิงไปอยู่ใกล้ๆ เพราะเมื่อเราเผาไปก่อน 10-20 เมตร ไฟมาถึงก็ไม่สามารถลามมาได้ ที่สำคัญคือ เรามีรถดับเพลิงควบคุมอยู่
“การบินดับไฟป่า อาจจะไม่ได้ผลนัก เพราะบางครั้งมีการดับไปแล้ว แต่มีบางจุดยังติดอยู่ และที่สำคัญคือ การเผา บางครั้งเป็นเรื่องวิถีชีวิตประชาชน ที่ใช้วิธีการนี้เพื่อการล่าสัตว์ จับนก เขียด กระแต ในขณะที่ป่าไม้ที่ถูกเผาไป ไม่เกิน 3 สัปดาห์ มันก็เริ่มที่จะขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะหญ้าอ่อนๆ จากนั้น กวางเก้ง ก็จะกลับมา เพราะถึงจะมีไฟป่า แต่ป่าก็ไม่ตาย”
นักผจญเพลิงชั้นครู เผยข้อเท็จจริงว่า ไฟป่า บางครั้งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะธรรมชาติอย่างเดียว บางทีก็มาจากน้ำมือมนุษย์ บางทีเราอยู่บน ฮ. บินอยู่ เรามองลงไปเห็นเลย กำลังเผา แต่ก็ทำอะไรได้ยาก เพราะเป็นวิถีชีวิตของเขา ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต. เทศบาล ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน และหากเริ่มเห็นกลุ่มควัน สามารถเข้าไปดับได้ ก็ควรลงมือทำทันที โดยเฉพาะ “ป่าต้นน้ำ” ต้องดูแลรักษาให้ดี
...
“ยังไงปีนี้จะแล้ง ปีหน้าแล้งหนักขึ้น ปีหน้าถึงขั้นเขื่อนแห้ง หากดูแลไม่ดี นี่คือ สิ่งที่ อาจารย์เสรี ศุภราทิตย์ กูรูด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นคนบอก เราเองก็เคยทำงานกับท่านมาร่วม 20 ปีแล้ว ฉะนั้นจึงต้องเตรียมตัวให้ดี”
อันตรายจากการดับไฟป่า 5 ข้อต้องรู้
ชาติชาย กล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่จะเดินเข้าไปดับไฟป่า ทำแนวกันไฟนั้น เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ถ้าไม่มีองค์ความรู้เรื่อง มีสิทธิ์เสียชีวิตได้ อาจโดนลมควันได้ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ
1. ทางเข้าออก ต้องชัดเจน มี 2 ทางจะดี ยกตัวอย่าง หากเป็นป่าราบ ป่าอ้อย ป่าหญ้า การเดินเข้าต้องหาเชือก ธง หรือ ผ้าขาวม้า ผูกต้นไม้ให้ชัดเจน
2. รถดับเพลิง ห้ามหันหัวเข้า ต้องถอยเข้าไป เพราะเมื่อถึงเวลา จะได้ขับออกมาทันที
3. หากมีเทคโนโลยีมาช่วย เช่น โดรน ก็จะเพิ่มความปลอดภัย
4. วิธีการดับไฟป่า จะไม่ใช้น้ำเข้าไปฉีด แต่จะใช้เป็นการขุดดิน และกลบ ฉะนั้นการดับไฟป่าในวิถีของอเมริกัน เขาจะให้แค่ เสียม กับ คราด คนละอัน ยืนห่างกัน 10 เมตร ใช้คราดเอาหญ้าออก เป็นแนวขวางไฟไว้ อาจจะใช้ยางตบๆ ส่วนน้ำก็จะมีลักษณะเป็นแบ็กแพ็ก จะไม่เอาเข้าไปเยอะ
5. ต้องมีกำลังสนับสนุนในจุดบัญชาการ โดยเฉพาะเสบียงอาหาร เพราะพี่น้องนักดับเพลิงอยู่ในบริเวณนั้น ต้องได้รับการช่วยเหลือ บางคนได้รับบาดแผล บาดเจ็บ ป่วย รถพยาบาลต้องพร้อม
“สิ่งสำคัญที่สุดในการสนับสนุน คือ น้ำ เพราะนักดับเพลิงกู้ภัยจะสูญเสียน้ำในร่างกายเยอะ ไฟป่ายังไม่ดับ ไม่ใช่ปัญหา ก่อนอื่นเราต้องเอาชีวิตให้รอดก่อน เพราะตอนที่เกิดเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ที่สหรัฐฯ มีคนร่วมดับไฟ 30,000 - 40,000 คน ก็ยังเอาไม่อยู่ พวกเราก็ไปกันมาแล้ว กลับกันหากเป็นของเรามีคน 100-200 คน อุปกรณ์ก็ยังไม่พร้อม ถ้าหากจะให้แนะนำ คือ การป้องกัน ตั้งรับที่ดีดีกว่า”
ไฟทั้งภูเขา ดับไม่ได้ ทำได้แต่ตั้งรับ ทำแนวกันไฟ
นายชาติชาย อุทานว่า ไฟไหม้ทั้งภูเขา เราจะไปทำอะไรได้ นอกจากการตั้งรับ เพราะมันดับได้ยากลำบาก สิ่งสำคัญคือเราต้องอ่านทิศทางของไฟ เพื่อป้องกันพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะสถานที่ราชการ โดยเราอาจจะใช้น้ำพรมอาคารต่างๆ ไว้
หากอาคารยังแฉะอยู่ และอาคารนั้นเป็นปูน ไม่น่ามีปัญหา กลับกันหากอาคารเป็นไม้ และคลายไฮโดรคาร์บอนออกมา ไฟก็จะติด แต่ถ้าไม้ยังแฉะอยู่ ไม่คายไฮโดรคาร์บอนออกมา ก็เชื่อว่าไฟลามมาก็ไม่ติด ในขณะที่อาคาร ก็เตรียมน้ำในสปริงเกอร์ไว้ น้ำมาถึงก็ฉีด
...
ยกเว้น จะใช้เครื่องบิน C-130, ซีนุก บินเติม และ CL-415 ของกองทัพเรือ ช่วยโปรยน้ำและสารเคมี ในขณะที่การใช้ ฮ. ในการรดน้ำดับไฟนั้น มองว่าเป็นการปกป้อง ประคองสถานการณ์ แต่จะได้ผลนั้น ต้องมีกระบวนการที่ทำจริงๆ เพราะการใช้ ฮ. จะสามารถใช้น้ำได้ประมาณ 600-800 ลิตร น้ำบางส่วนที่หอบไป เมื่อรดไปแล้ว กลายเป็นไอบ้าง ทิ้งผิดจุดบ้าง ลมพัด ไหลออกไปบ้าง แต่ถ้า C-130 บรรทุกได้ 12 ตัน แต่เป็นเครื่องบิน ปภ. ก็จะได้ 3,000 ลิตร
ติ่งหูร้อน..ต้องเผ่น เซนส์เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า
นักผจญเพลิง อายุกว่า 70 ปี กับประสบการณ์มากมายในสมรภูมิเดือด อธิบายว่า ชุดกันไฟป่า แตกต่างกับดับเพลิงอาคาร ไม่เหมือนกัน เพราะชุดกันไฟป่าบางครั้งจะไม่ใส่หน้ากาก ฉะนั้นการสังเกตว่าควรอยู่ต่อหรือไม่ ให้วัดความร้อนที่ติ่งหู เรียกว่าหาก “ติ่งหูร้อน” ประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส ก็พอ ต้องถอย หรือถ้าใครหน้าด้านอาจจะเข้าไปใกล้หน่อย แต่ถ้า “ติ่งหู” เราจะบางกว่าหน้า
ชุดดับเพลิงของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า เป็นเพียงผ้าใบหนาๆ เพราะหากใส่ชุดหนามาก จะทำให้เสียเหงื่อมาก ก็อาจจะเป็นลม หน้ามืดได้ ฉะนั้นใส่แค่หน้ากากกันควัน ใส่แมสก์
...
“เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปจะเสียเหงื่อเยอะ จำเป็นต้องกินน้ำเยอะ คนหนึ่งกินน้ำไม่ต่ำกว่า 5-10 ลิตร การกินน้ำดังกล่าว แทบไม่ได้ฉี่ออกเลย เพราะมันไปกับเหงื่อ นอกจากนี้ ยังต้องกินน้ำเกลือแร่ด้วย”
สิ่งที่เราทำ คือ ทำแนวป้องกัน ไม่ให้ไหม้เพิ่ม หรือไหม้สถานที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไร เพียงแต่ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบางครั้ง จะให้ดับเลยก็คงเป็นไปได้ยาก
แรงสนับสนุนสำคัญ มีผลต่อการดับไฟ
ช่วงท้าย นายชาติชาย กล่าวถึงสิ่งที่อยากจะแนะนำ คือ แผนดับไฟป่าของประเทศ จำเป็นต้องมีการฝึกฝน หรือ หากในพื้นที่ อบต. บางแห่ง ที่มีความสุ่มเสี่ยงก็ให้มีแท็งก์น้ำชั่วคราวไปตั้งไว้ 10-20 ถังก็ยังดี เพราะเวลาเกิดปัญหา จะได้ส่งคนไปประจำจุดต่างๆ
“สิ่งสำคัญที่สุด เวลาเกิดเหตุ การจะเข้าไปดับไฟ ใครจะเป็นคนจ่าย... เพราะการทำงานทุกอย่างจำเป็นต้องใช้เงิน ใช้แรงสนับสนุน คนที่เข้าไปก็ต้องกิน แค่ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ก็เท่าไรแล้ว ที่สำคัญ ตอนนี้ยังไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ก็ยังไม่สามารถใช้งบได้ ที่ผ่านมาเคยเขียนแผนไว้ว่า ประเทศชาติต้องมีการเตรียมความพร้อม สิ่งสำคัญ คือ การสร้างชุมชนเข้มแข็ง หากชุมชนเข้มแข็ง จะช่วยกันได้ เพราะสมัยก่อนไม่มี ปภ. ชาวบ้านก็ยังช่วยเหลือกันได้ แต่ปัจจุบัน แม้กระทั่งการเรียนดับไฟป่า ไปเรียนที่สหรัฐฯ ยังต้องใช้ทุนตัวเอง ที่สำคัญ คือ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่เราจะสอน คือ เราต้องให้เขารู้จักความสำคัญของ ต้นไม้ ไม่จำเป็นต้องรักชาติ รักแผ่นดินหรอก แค่รักในธรรมชาติ ช่วยกันดูแลป่า ปลูกป่าบ้าง ทำทางน้ำ ทำพื้นที่ให้เป็นกาลักน้ำ แต่บ้านเราตัดไม้กันอย่างเดียว เราต้องช่วยกันสร้างชุมชนให้แข็งแรง” ผอ.สถาบันฝึกดับเพลิง และกู้ภัยชั้นสูง ทาฟต้า กล่าว
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ