เหตุสลดเศษอาหารติดคอระหว่างรับประทานอาหาร ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่หมอได้ออกมาเตือนถึงปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดการสำลัก จนอาหารอุดหลอดลมเกิดจากการทานแล้วคุยไปด้วย รวมถึงการช่วยชีวิตที่ถูกต้องภายใน 4 นาที ก่อนเสียชีวิต
รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวกับ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ปกติอาการอาหารติดคอมักพบในกลุ่มวัยรุ่นน้อย ส่วนใหญ่พบในเด็ก ที่มีปัญหาการกลืนอาหาร ผู้สูงอายุ ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพร่างกาย ทำให้มีน้ำลายน้อย ส่งผลให้ขาดการหล่อลื่นเวลากลืนอาหาร
ทางการแพทย์เรียกกรณีนี้ว่า สำลัก เพราะปกติอาหารที่กลืนเข้าไปจะลงไปในหลอดอาหาร แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเศษอาหารอาจลงไปในหลอดลม ทำให้เกิดการปิดกั้น จนทำให้เสียชีวิต
ปกติร่างกายมนุษย์หลอดอาหารและหลอดลมอยู่ใกล้กัน โดยมีระบบเปิดปิดอัตโนมัติของร่างกาย แต่ถ้ามีสิ่งกระตุ้นทำให้การเปิดปิดผิดจังหวะ จะทำให้เศษอาหารเข้าไปติดในหลอดลม โดยเกิดขึ้นได้ทั้งเศษอาหารขนาดเล็กและใหญ่
...
สิ่งกระตุ้นทำให้เศษอาหารหลุดเข้าไปในหลอดลม เกิดจากเวลาทานอาหารแล้วคุยไปด้วย หรือรีบทานอาหาร โดยเคี้ยวไม่ละเอียด สำหรับกรณีเนื้อหมูและตับ มีโอกาสทำให้เกิดการสำลักได้
กิจกรรมระหว่างทานอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการสำลัก ที่ผ่านมาพบว่า คนที่มีอายุน้อย ระบบการเคี้ยวและน้ำลายยังปกติ แต่เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับการทานอาหาร จะเกิดการสำลักได้มากขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์ ให้ระบบการเปิดปิดหลอดลม ทำงานผิดปกติ
“คนส่วนใหญ่มักเข้าใจสับสน กรณีที่อาหารติดคอจะมีความรู้สึกเหมือนมีสิ่งตกค้างอยู่ในลำคอ เช่น ก้างปลาที่ติดคอ สามารถแก้ไขได้ โดยปั้นข้าวเหนียวแล้วกลืน หรือดื่มน้ำเพื่อให้สิ่งตกค้างหลุดไป เพราะปกติระหว่างการทานอาหาร เมื่อกลืนลงไป หลอดอาหารจะถูกเปิด แต่หลอดลมจะถูกปิด แต่ถ้ากินอาหารแล้วคุยไป ระบบการเปิดปิดจะทำงานผิดจังหวะ จนเศษอาหารหลุดเข้าไปอุดตันภายในหลอดลม”
กรณีเศษอาหารขนาดเล็กกว่าหลอดลม เมื่อหลุดเข้าไปมีโอกาสไปถึงขั้วปอด ทำให้เกิดการติดเชื้อของปอด เนื่องจากเกิดการสำลัก ขณะเดียวกันถ้าเศษอาหารมีขนาดใหญ่กว่าหลอดลม จะเข้าไปติดค้างอุดกั้น ทำให้ขาดอากาศหายใจในทันที มีโอกาสหมดสติอย่างรวดเร็ว และถ้าไม่มีการช่วยเหลือนำเศษอาหารออกมา จะเสียชีวิตภายใน 4 นาที
การช่วยเหลือคนที่สำลักเหมือนกรณีนี้ ไม่ควรปั๊มหัวใจทันที แต่ควรนำเศษอาหารติดค้างออกมาก่อน โดยผู้ที่ช่วยเหลือต้องตบบริเวณหลัง เพื่อช่วยให้เกิดแรงดัน ให้เศษอาหารที่ติดค้างออกมา หากเศษอาหารยังไม่ออก ต้องคล้องมืออ้อมมาจากด้านหลัง และกดไปที่หน้าอก เพื่อกดให้เศษอาหารที่ติดค้างหลุดออกมา แต่ถ้าเศษอาหารหลุดออกมาแล้ว คนไข้ไม่ฟื้น ต้องทำการปั๊มหัวใจ และนำส่งโรงพยาบาลทันที
การป้องกันดีที่สุดคือ การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด และควรกินอาหารอย่างช้าๆ เพราะช่วยทำให้ระบบอัตโนมัติ ของการปิดกั้นระหว่างหลอดลมและหลอดอาหารทำงานเป็นปกติ โอกาสที่จะสำลักเข้าไปในหลอดลม จึงมีน้อยกว่าการทานอาหารรวดเร็ว
อยากฝากเตือนประชาชนทั่วไป ให้ระมัดระวังในการทานอาหาร โดยเฉพาะการลดปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการสำลัก และอุดกั้นหลอดลม ขณะเดียวกันในผู้สูงอายุและเด็ก ควรทานอาหารที่ไม่แข็งเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายลักษณะนี้ขึ้นอีก.