ฝุ่น pm 2.5 เชียงใหม่ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชากรในพื้นที่ หมอระบุถึงตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มสูง มีแนวโน้มทวีความรุนแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งปอด โรคหลอดเลือด เป็นผลกระทบจากสภาวะฝุ่นหนาแน่น เสี่ยงเกิดการเสียชีวิตได้

พญ.อัญชลี ชัยนวล ประธาน Service Plan สาขาโรคมะเร็ง ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ว่า สถานการณ์ฝุ่น pm 2.5 เชียงใหม่ เริ่มเพิ่มสูงขึ้นมีผลกระทบต่อสุขภาพ ปีนี้มีคนไข้ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาทำการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ขณะเดียวกันคนไข้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เช่น โรคหอบหืด ระบบทางเดินหายใจ ผื่นแพ้บนผิวหนัง รวมถึงเส้นเลือดหัวใจ

“มะเร็งปอด มีอัตราผู้ป่วยในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2560 จากสถิติพบว่ามะเร็งปอด มีผู้ป่วยสูงสุดเป็นอันดับ 1 หลายปีติดต่อกัน เคยมีการศึกษาว่าก๊าซเรดอน มีความเสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็งปอด เมื่อสูดดมเข้าไปมาก อาจกระตุ้นให้แสดงอาการของโรคเร็วมากขึ้น ซึ่งบางพื้นที่มีก๊าซชนิดนี้มาก”

สถิติผู้ป่วยมะเร็ง ในเชียงใหม่ เมื่อปี 2564 เฉลี่ยพบผู้ป่วยรายใหม่ 51 คน ใน 1 แสนคน ส่วนเสียชีวิตมี 33 ศพ ต่อประชากร 1 แสนคน ขณะผู้ป่วยที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนังจากฝุ่น pm 2.5 เข้ามาพบแพทย์ปีละ 4 พัน – 5 พันคน

...

ด้านผู้ป่วยมีอาการปอดอุดกั้น พบกว่า 2 หมื่นรายต่อปี ส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากการสูบบุหรี่ แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบ ช่วงที่มีการแพร่กระจายของฝุ่น pm 2.5 พบคนไข้กว่า 1 พันราย

จากสถิติผู้ป่วยที่ผ่านมา อาจยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า เป็นผลมาจากฝุ่น pm 2.5 ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นตัวกระตุ้นมาจากฝุ่นพิษในบางกรณี

“เคยมีการวิจัยผลกระทบจากเส้นเลือดตีบ ระบุว่าฝุ่น pm 2.5 มีขนาดเล็ก เมื่อหายใจเข้าสู่ร่างกาย อาจแทรกซึมเข้าสู่ระบบหลอดเลือด มีผลต่อการบีบตัวของหลอดเลือดในร่างกาย โดยเฉพาะการไหลเวียนของหลอดเลือดหัวใจ เมื่อได้รับมากขึ้นจะส่งผลให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้”

ฝุ่น pm 2.5 อาการสังเกตได้

พญ.อัญชลี กล่าวอีกว่า จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งปอดในเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอสันป่าตอง จอมทอง ดอยเต่า แต่น่าสนใจว่า ปริมาณฝุ่น pm 2.5 ในอำเภอดังกล่าวมีปริมาณไม่สูงมาก จึงยังยืนยันไม่ได้ถึงต้นเหตุของมะเร็งปอด มาจากฝุ่นโดยตรง

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เมื่อได้รับผลกระทบจากฝุ่น pm 2.5 คือ ผู้สูงวัย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ หลายคนมีโรคที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกาย พอสูดอากาศที่มีฝุ่นเข้าไป ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น

สำหรับแนวทางป้องกัน ควรสวมใส่หน้ากาก n95 ทุกครั้งที่ต้องเดินทางออกไปในที่กลางแจ้ง พยายามหลีกเลี่ยงการถอดหน้ากาก หรือออกกำลังกายในที่สาธารณะ และพยายามลดฝุ่นที่ฟุ้งกระจายภายในอากาศ ด้วยการรดน้ำต้นไม้เพื่อชะล้างฝุ่นที่เกาะตามใบของต้นไม้ พยายามทำให้อากาศรอบบ้านมีความชื้น เพื่อให้จับฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ

“ฝุ่น pm 2.5 เชียงใหม่ จะฟุ้งกระจายหนาแน่นตามชุมชน นอกจากฝุ่นที่ลอยมาในอากาศแล้ว ยังมีฝุ่นที่เกิดจากท่อไอเสีย ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งช่วงที่มีฝุ่นหนาแน่น”

ประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตความผิดปกติ หากเป็นโรคจากฝุ่น อาการ คือ หายใจเหนื่อย ไอ ผิวหนังผื่นขึ้น คล้ายลมพิษ ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อที่จะได้รับการรักษา ก่อนอาการลุกลามร้ายแรงเพิ่มขึ้น

การรักษาผู้ป่วยจากฝุ่น หลายอาการเมื่อรักษาหายแล้ว ถ้ากลับไปอยู่ในสภาวะมีฝุ่นมากอีก ยิ่งทำให้มีอาการเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม บางคนมีอาการรุนแรงมากขึ้น จึงต้องระวังดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากแหล่งที่ก่อให้เกิดโรค”

ส่วนนักท่องเที่ยว เดินทางมาเชียงใหม่ช่วงเวลานี้ ควรสวมใส่หน้ากากป้องกัน สวมเสื้อผ้าปกปิดมิดชิด ป้องกันฝุ่นที่ระคายเคืองผิว สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น หอบหืด ควรพกยาติดตัวไว้เสมอ.