เหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง ห้ามกระทำต่อเหี้ย รวมถึงต่อซากเหี้ย หรือผลิตภัณฑ์จากซากเหี้ย ทำให้เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำกำลังบุกแหล่งชำแหละตัวเหี้ย พื้นที่ตำบลบ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ผู้ต้องหาอ้างว่าชำแหละ เพื่อส่งขายพ่อค้าที่มารับซื้อแล้วนำไปขายต่อร้านอาหารป่า แต่เกือบทำให้ตลาดลูกชิ้นปลาปั่นป่วน และคนชอบกินลูกชิ้นปลาแทบช็อก เมื่อมีกระแสข่าวมีการนำเนื้อตัวเหี้ยไปแปรรูปทำลูกชิ้นปลา ส่วนหนังนำไปตากแห้งทำเป็นหนังปลาทอดกรอบ ส่งขายทั่วประเทศ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกมายืนยันไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ก่อนหน้านั้นนักวิจัยไทยจากหลายสถาบัน พยายามศึกษาในเชิงการแพทย์และใช้ประโยชน์จากตัวเหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง เพื่อผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจในอนาคต จะต้องศึกษาการเพาะเลี้ยงในระบบฟาร์ม นำไปสู่การทำโครงการฟาร์มเหี้ยขนาดใหญ่ หรือฟาร์มวรานัส เมื่อปี 2554 หรือ 10 ปีก่อน คาดหวังจะนำไปต่อยอด แปรรูปออกมาเป็นเครื่องหนัง เช่นเดียวกับหนังจระเข้

...

แต่แล้วโครงการก็ต้องหยุดชะงักลง เพราะติดข้อจำกัดในเรื่องข้อกฎหมายในประเทศ จะต้องปลดล็อกตัวเหี้ยออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง และอยู่ในบัญชีแนบท้าย 2 ของข้อตกลงอนุสัญญาไซเตส หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ จะต้องมีการศึกษานำผลวิจัยไปขออนุญาตจากไซเตส ให้สามารถเพาะเลี้ยงได้ ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ

ตัวเหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง
ตัวเหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง

ความพยายามผลักดันให้ตัวเหี้ย เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ยังเคยเกิดเมื่อปี 2544 จากปัญหาประชากรตัวเหี้ยขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว สร้างผลกระทบต่อผู้คน ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยื่นเรื่องต่อที่ประชุมครม. เสนอให้ตัวเหี้ย ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ก็ถูกตีตกไป อาจเพราะตัวเหี้ยเป็นสัตว์เลื้อยคลานเลือดเย็นที่ดูสกปรกน่าเกลียดน่ากลัว กินทุกอย่างไม่เลือก ทั้งของสด ของเน่า และชื่อไม่เป็นมงคลตามความเชื่อของสังคมไทย จนสุดท้ายเรื่องเงียบลง

ตัวเหี้ย แม้เป็นสัตว์สายพันธุ์เดียวกันกับตะกวด แต่ตัวสีดำ มีลายดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน พาดขวางลำตัว มีหางสีดำหรือลายปล้องสีดำสลับกับเหลืองอ่อน บางตัวมีจุดแดงเล็กๆ ที่หาง ชอบอาศัยตามที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำ แตกต่างกับตะกวด มีนิสัยดุร้ายมากกว่า ตัวสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองหม่นๆ ปนสีน้ำตาลเป็นจุดเล็กๆ มีหางเรียวยาว ชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง

เลือดตัวเหี้ย สรรพคุณยับยั้งแบคทีเรีย เซลล์มะเร็ง

สรุปแล้วตัวเหี้ย ไม่ใช่ตะกวด อย่างที่หลายคนเข้าใจ และที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยพบว่าเลือดตัวเหี้ย มีสรรพคุณทางยาในการยับยั้งแบคทีเรีย และเซลล์มะเร็ง จากผลงานของ “รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ธนศักดิ์” หรือฉายา "หมอเหี้ย" จากภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งพยายามจะต่อยอดยับยั้งเชื้อไวรัสโควิดในช่วงการระบาด แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ได้บอกว่า ด้วยเพราะตัวเหี้ย สามารถอยู่ได้ในสิ่งปฏิกูล แสดงให้เห็นว่ามีภูมิคุ้มกันในการป้องกัน จึงนำเลือดตัวเหี้ยมาใช้ประโยชน์ จนพบว่ามีความเป็นไปได้ในเรื่องคุณสมบัติทางยา มีโอกาสพัฒนาได้จริงทางการแพทย์ในการยับยั้งแบคทีเรีย และเซลล์มะเร็ง

ส่วนหนังของตัวเหี้ยมีประโยชน์ไปทำเครื่องหนัง ทำกระเป๋า แต่เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ทำให้พัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจไม่ได้ แต่ในอนาคตไม่แน่ หากด้านกฎหมายมีความลงตัว นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ซึ่งจะมีคุณภาพดีหรือไม่ต้องมีการศึกษา และตัวเหี้ยแตกต่างจากจระเข้ แม้เป็นสัตว์ที่ไซเตส เข้มงวดน้อยกว่าจระเข้ แต่มีการปลดล็อกจระเข้ ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ หรือมาตรา 8 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กำหนดให้สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถขออนุญาตเป็นรายๆ ได้ ควรต้องปลดล็อกเป็นสัตว์เศรษฐกิจแบบจระเข้ เพื่อการเพาะพันธุ์ไปทำเครื่องหนัง หรือทำยา

...

“การเพาะพันธุ์ตัวเหี้ย ต้องควบคู่กับการอนุรักษ์ตัวเหี้ยที่อยู่ตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปวิ่งจับตัวเหี้ยตามธรรมชาติไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ เพราะตัวเหี้ยพวกนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน หากมาทำกระเป๋า ทำเครื่องหนัง จะไม่ได้คุณภาพเหมือนกัน อย่างตัวเหี้ยอายุ 5-6 ปี มีการกัดกันจนหนังเป็นรอย จะเอาไปทำกระเป๋าก็ไม่ได้ ต้องใช้ตัวเหี้ยจากการเพาะพันธุ์ในฟาร์มเหมือนจระเข้ หรือจะเอามาทำลูกชิ้น ก็ไม่คุ้ม จะจับไปทำไม แต่หากมีการปลดล็อก การเคลื่อนย้ายต้องมีการจดแจ้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ทำให้อยู่ในระบบ เพื่อให้คนแฮปปี้ และไทย จะเป็นประเทศแรกของโลก มี ตัวเหี้ย เป็นสัตว์เศรษฐกิจ”

ขณะนี้ทุกประเทศกำหนดให้ ตัวเหี้ย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ยังไม่นำประโยชน์จากตัวเหี้ยมาทำ ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าโทษ นำมาขยายขอบเขตในการนำตัวเหี้ยมาทำประโยชน์ หรืออาจนำผลการศึกษาวิจัยเลือดตัวเหี้ย นำมาสังเคราะห์ จากการใช้องค์ความรู้มาพัฒนาเทคโนโลยีให้ประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากการนำหนังและเนื้อของตัวเหี้ยมาใช้ประโยชน์เท่านั้น

...

เร่งคุมประชากรเหี้ย-ศึกษาประโยชน์ ดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ

ในมุมมองของ "ศาตราจารย์ น.สพ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์" คณบดีคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า ตัวเหี้ยมีประโยชน์อยู่แล้วในการกำจัดหนูและงู แต่หากไม่ควบคุมประชากรตัวเหี้ย จะก่อความรำคาญให้กับคน แม้ตัวเหี้ยไม่กัดคนก็ตาม แต่หากมาอาศัยอยู่ใกล้บ้านก็จะไปกินแมวและสุนัข เหมือนกับจระเข้ที่เป็นสัตว์กินเนื้อตามธรรมชาติ ส่วนจำนวนตัวเหี้ยในประเทศไทย ไม่มีตัวเลขเพราะอาศัยอยู่ในทุกพื้นที่ และอยู่ใกล้บ้านเรือน ไม่ใช่เฉพาะในสวนสาธารณะ ทำให้ไม่สามารถสำรวจประชากรตัวเหี้ยได้

ปัจจุบันน่าจะมีการทำฟาร์มตัวเหี้ยในประเทศไทย จากการเพาะพันธุ์เหมือนฟาร์มจระเข้ จะต้องเป็นสายพันธุ์ใหญ่นำเข้ามาในไทย ซึ่งต้องขออนุญาต เพื่อเอาเนื้อเอาหนังมาทำประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่ไม่ระบุที่มาว่าผลิตมาจากตัวเหี้ย เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ แม้เครื่องหนังจากตัวเหี้ย จะสวยและแพงมากกว่าหนังจระเข้ก็ตาม

ส่วนเหตุผลที่ไม่มีการศึกษาประโยชน์ของตัวเหี้ยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อผลักดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เนื่องจากความซับซ้อนของกฎหมาย หากจะทำอย่างจริงจังต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมามีคนอยากทำมาก แต่ติดข้อกฎหมายที่ยังไม่เอื้อ หากไปแก้กฎกระทรวงก็จะสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น ในการศึกษาอย่างละเอียดอาจมีประโยชน์มากกว่าจระเข้ จากการนำเลือดมาใช้ประโยชน์

แต่ด้วยตัวเหี้ยเป็นสัตว์สกปรก ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยไม่ให้เป็นแหล่งพาหะนำโรค จากการที่ตัวเหี้ยกินหนูอาจเป็นพาหะโรคฉี่หนู เพราะคนไทยกินได้ทุกอย่าง หรือแม้แต่เนื้อตัวเหี้ย หากจะนำมาเป็นอาหารต้องระบุด้วยว่าเป็นตัวเหี้ยสายพันธุ์ใด ในการพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และควรเปิดกว้างในการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ของตัวเหี้ย และศึกษาผลกระทบระยะยาว

...

“ถึงเวลาต้องควบคุมประชากรตัวเหี้ย เพราะปัจจุบันมีจำนวนมากเกินไป อาจให้มีหน่วยงานเข้ามาดูแลโดยเฉพาะ ควบคู่กับการวิจัย หากมีประโยชน์ก็เสนอให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจทำในลักษณะฟาร์ม เพราะตลาดน่าจะใหญ่มาก ในการส่งขายร้านอาหารป่า หรือคนที่ชอบกิน ถือเป็นโปรตีนแบบหนึ่ง จะต้องทำให้สุก อย่ากินแบบดิบๆ สุกๆ จะอันตรายยิ่งกว่ากินหมูดิบ ที่ทำให้หูดับ เพราะตัวเหี้ยมีพยาธิเยอะมาก”

ผู้เขียน : ปูรณิมา