ชายเสื้อเหลืองเข้ามาอุ้มลูก เป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง ส่วนลูกยังมีชีวิตอยู่หรือไม่...แม่ไม่ได้บอก”

คำพูดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวน คดี “น้องต่อ” เด็ก 8 เดือนที่หายตัวปริศนา ใน จ.นครปฐม เปิดเผยโดย พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร ที่กำลังพยายามค้นหาความจริง ว่าเกิดอะไรขึ้นกับน้องต่อกันแน่ และ “น้องต่อ” ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

ที่ผ่านมา มีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัว ทั้งพ่อ และ ลุง ที่อาจจะเจอข้อหาและคดีติดตัว แต่...มันจะเกี่ยวข้องกับการหายตัวของ “น้องต่อ” หรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อ แต่การวิพากษ์วิจารณ์บางเรื่องของคนในสังคม ก็ต้องระมัดระวัง เพราะสิ่งที่คิด พูด พิมพ์ อาจจะไม่ใช่ความจริงก็ได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา หนึ่งในบุคคลที่ตามคดีนี้ตั้งแต่ต้น

นายเอกลักษณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการตามหาตัว “น้องต่อ” ว่า หากตัดในส่วนความวุ่นวายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการดำเนินคดีคนในครอบครัว ความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับการตามหาตัวเด็กนั้น มองว่า “เป้าหมาย” ของตำรวจ เวลานี้ถือว่า “มาถูกทาง” เพราะมีการโฟกัสการค้นหาในรัศมีในชุมชน และ “คนบางคน” ในชุมชน เพราะมีการประเมินว่า หากไม่มีคนมารับตัวเด็กไปแล้ว เด็กอาจจะถึงแก่ชีวิต คงอาจมีการซ่อนเร้นอำพราง

...

ที่ผ่านมา มีคนส่งรูป แจ้งเบาะแสเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราก็พิจารณาข้อมูลต่างๆ ให้ละเอียดก่อนที่จะแจ้งข้อมูลไปยังตำรวจ ซึ่งบางเคสที่ส่งเข้ามา คือ การพบเด็กที่มีหน้าตาคล้ายกับน้องต่อ เราก็ประสานไปยังพ่อแม่ และก็ได้รับคำยืนยันว่าไม่ใช่ มีการระบุว่า มีโครงหน้าใกล้เคียงกันเท่านั้น แต่ลักษณะอย่างอื่น คือ ไม่ตรงกัน

“เราเป็นองค์กรตามหาเด็กหาย เราพยายามดูแง่มุมที่เกี่ยวข้อง และมีการประสานงานกับตำรวจตลอด การที่มีตำรวจผู้ใหญ่ลงมาช่วยดูแลคดี มันทำให้การสืบสวนมีความเข้มข้นขึ้น แต่...ก็อยากให้เน้นเรื่องการตามหาเด็กให้ได้ก่อน ซึ่งอาจจะพิจารณาพยาน และหลักฐานว่าเหมาะสมเพียงไร สิ่งสำคัญ คือ การให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงว่า แม่ หรือ คนในครอบครัวเป็นคนก่อเหตุ ส่วนคดีที่เกิดขึ้น เพราะพบความผิดจากเรื่องอื่น จึงต่อ”

เมื่อถามว่า เรายังมีความหวังว่า “น้องต่อ” ยังมีชีวิตหรือไม่ หัวหน้าศูนย์คนหาย มูลนิธิกระจกเงา ยอมรับว่า ต้องมีการประเมินในทุกรูปแบบ ทั้งเด็กยังมีชีวิต และ ไม่มีชีวิต

หากยังมีชีวิต : เราก็ต้องประเมินเรื่องการรับแจ้งเบาะแส เพราะคดีนี้เป็นข่าวดัง จึงมีโอกาสที่จะมีคนพบเจอเบาะแส ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็ตาม หรือ มีคนพบเด็กที่ไม่เคยอยู่ที่นั่นที่นี่ อยากให้ไปตรวจสอบ

หากเสียชีวิต : การซ่อนเร้นอำพรางศพ จากประสบการณ์ตามหาคนหาย เราเชื่อว่า มันจะไม่ไกลจากที่พักอาศัย หรือจุดเกิดเหตุ

“ฉะนั้น ในเวลานี้จึงเป็นเรื่องของการค้นหาอย่างเต็มที่ หากเจอศพจริงๆ ปัญหาที่ตามมา คือ ใคร...เป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งก็ต้องมีการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต เช่น ร่องรอยการถูกทำร้าย หรือ ถ้าเป็นกระดูก มีร่องรอยทุบตี หรือ กระแทก หรือไม่ ”

ถอดบทเรียนตามหา “คนหาย” วอนอย่ารีบ “พิพากษา”

นายเอกลักษณ์ ย้ำว่า หลายคดี มีข้อคิดเห็น กับ ข้อเท็จจริง เกิดขึ้น แต่คนในสังคมกลับไปมุ่งเน้นเรื่องข้อคิดเห็น ซึ่งมีหลายเคสของคดีคนหาย ที่กลายเป็นความเจ็บปวดของคนในครอบครัวเหยื่อ

ยกตัวอย่างคดี เด็กเมียนมาหาย ที่ ต.สระยายโสม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี คดีนี้ก็คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ข้อคิดเห็นของคนในสังคม โฟกัสไปที่แม่ของเด็ก ไปตั้งข้อสังเกตแบบผิดๆ หลายเรื่อง เช่น มีลูกกับอดีตสามีหรือไม่ ใช่ลูกที่แท้จริงหรือไม่ ระหว่างนั้นติดต่อกับใครบ้าง ทำไมแม่บึ้งตึง ทำไมแม่กินข้าวได้ ทั้งๆ ที่ลูกหายไป ต่างๆ นานา กับคำวิจารณ์

กระทั่งผ่านไป 10 วัน ก็พบศพเด็ก ห่างจากจุดที่หายไป 1 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อมีการสอบสวนก็พบว่า คนที่ก่อเหตุ คือ คนป่วยที่มีอาการทางจิต ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับแม่เลย... แต่กลายเป็นว่า แม่กลายเป็นเหยื่อถูกโจมตีจากสังคม

อีกเคสหนึ่งเกิดขึ้นที่ จ.เพชรบุรี เด็กเล็กหายไปจากหน้าบ้าน แม่ได้ไปเซเว่น ก็มีการไล่ตรวจสอบกล้องวงจรปิด มีคนเดินสวนกัน ทุกคนในกล้องวงจรปิดถูกตั้งข้อสงสัยต่างๆ กล่าวหาแม่เด็กต้องมาส่งซิก หรือ นัดแนะ

...

สุดท้ายไปเจอศพเด็กลอยน้ำห่างไป 10 กิโลเมตร สุดท้ายคือ เด็กเกิดอุบัติเหตุตกน้ำ และจากการชันสูตรพบว่าเด็กสำลักน้ำ และวันนั้น เขื่อนเปิด ทำให้น้ำในคลองชลประทานไหลเชี่ยวมาก ทำให้ร่างลอยไปไกล ซึ่งคดีนี้แม่เด็กเองก็โดนโจมตี

หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา สรุปอุทาหรณ์จากทั้ง 2 เคส ว่าอยากขอร้องไปยังทุกคนที่อ่านข่าว หรือ รับชมข่าวว่า หากอะไรที่ยังไม่ชัดเจน และยังเป็นแค่ข้อคิดเห็น ไม่มีหลักฐาน ก็อยากขอให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนพฤติกรรมส่วนบุคคล ที่อาจผิดกฎหมาย หรือ จารีตประเพณี มันไม่สามารถเทียบเคียงได้ว่าเขาจะทำผิดในเรื่องนี้

“หากถึงที่สุดแล้ว สมมติว่า ครอบครัวเด็ก หรือ แม่เด็ก กระทำความผิด เราก็ต้องมองเขาว่า เขาคือผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็ก เพราะแม่เด็กเป็นเยาวชน ไม่ใช่อาชญากรต่อเนื่อง หรือ เป็นคนที่มีจิตใจอำมหิต เราต้องระมัดระวัง และให้การคุ้มครอง หากทำผิดเขาก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการ “พิพากษา” จากข้อคิดเห็นอย่างทุกวันนี้”

เตือนตำรวจ สื่อ ระวัง การนำเสนอ ต้องไม่กระทบสิทธิผู้อื่น

...

นายเอกลักษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้การสอบสวน และการให้ข่าวบางอย่าง ทางเจ้าหน้าที่จะมีเทคนิค บางอย่าง แต่ก็อยากจะขอว่าบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัว และเรื่องส่วนบุคคล เราต้องเคารพในสิทธิบางประการ เช่น ผล DNA นี่คือเรื่องส่วนบุคคล และ ยังไม่แน่ใจว่า คนที่เกี่ยวข้องเขาได้เห็นผลตรวจ ซึ่งเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ ว่าใครเป็นคนส่งตรวจ คนตรวจผลเป็นอย่างไร อ่านค่าแบบไหน ซึ่งคนที่อยู่ในข่าว อาจจะรู้ผลจากข่าวและการให้ข่าวเช่นกัน

คำตอบที่ว่า “ไม่เชื่อในผลตรวจ DNA” เพราะเขาอาจจะได้ยินผ่านข่าว ผ่านการพูด เพราะไม่เห็นผลตรวจจริงๆ ซึ่งบางเรื่องนั้น ควรจะมีวิธีการ และขั้นตอนที่เหมาะสม

ถ้าเรามีเจตนาหวังดีกับเด็ก...หากเด็กยังมีชีวิตอยู่ เขาจะต้องเจอภูมิหลังของตัวเอง ที่ถูกประกาศในโลกออนไลน์ อย่างนั้นหรือ...?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ