คาด 1 มิ.ย. 2566 ประเทศไทยจะเริ่มเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน หรือภาษีนักท่องเที่ยว กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ ในอัตราคนละ 300 บาท คิดรวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน และคนละ 150 บาท กรณีเดินทางเข้ามาทางบกและทางน้ำ เก็บผ่านเว็บไซต์ โมบายแอปพลิเคชัน และตู้ให้บริการชำระค่าธรรมเนียม (Kiosk) จากเดิมจะเริ่มจัดเก็บในปีที่แล้ว หลังได้ข้อสรุป กระทั่งที่ประชุม ครม. 14 ก.พ. 2566 ให้ความเห็นชอบ

ปัจจุบันมีกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบแตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยนอกจากจะนำเงินส่วนนี้มาพัฒนาการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวระหว่างการท่องเที่ยว ครอบคลุมการเจ็บ เสียชีวิต และการส่งศพกลับประเทศ จะช่วยลดภาระงบประมาณในการดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว และด้านสาธารณสุข จากการเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไม่เต็มจำนวน ทำให้รัฐมีค่าใช้จ่ายในการดูแล 300-400 ล้านบาทต่อปี

เป็นเหตุผลตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เสนอให้มีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จะนำไปซื้อประกันอุบัติเหตุให้กับนักท่องเที่ยว 50 บาท เมื่อได้รับบาดเจ็บจะมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 500,000 บาท หากเสียชีวิตจะได้เงินชดเชย 1,000,000 บาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 45 วัน และนำเข้ากองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ 100-250 บาท เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว

...

กลายเป็นว่าไทยอาจเป็นประเทศแรกในโลกที่เก็บค่าเหยียบแผ่นดิน แล้วมีการพ่วงประกันอุบัติเหตุไปด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยบางอย่างในเรื่องผลประโยชน์จากการขายประกันกับนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 50 บาท และลองคิดดูหากนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณปีละ 20 ล้านคน คูณกับ 50 บาท ก็เท่ากับว่าจะได้ค่าประกันรวมทั้งสิ้น 1 พันล้านบาท จากการตั้งข้อสังเกตของ “ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข” คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งออกมาสนับสนุนให้มีการเก็บภาษีท่องเที่ยว มากกว่าการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน และผูกค่าประกันไปด้วย ดูแล้วมีความซับซ้อน น่าจะมีปัญหาความยุ่งยากตามมาแน่ๆ

“เข้าใจว่าค่าประกันที่ผูกมากับค่าเหยียบแผ่นดิน มันมีประเด็นเมื่อต่างชาติเข้ามาไทยแล้วเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา จะไม่รักษาก็ไม่ได้เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็ต้องรักษา จึงมีความคิดนี้ขึ้นมา แต่ปัญหาคือว่า ต่างชาติเข้ามาไทยมีหลายกลุ่ม เช่น ถ้านักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนในไทยก็ต้องมีประกัน เมื่อเวลาอยู่ในไทยระยะหนึ่งอาจเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุโดนรถชน จริงๆ แล้วหากต้องการให้ต่างชาติทำประกัน ทำไมไม่เรียกชื่อว่าค่าประกันไปเลย แต่ไปเรียกค่าเหยียบแผ่นดินแทน ซึ่งไม่เข้าใจว่าค่าเหยียบแผ่นดินคืออะไร”

ในอดีตเคยมีนักวิชาการรายหนึ่งเคยศึกษาว่า เมื่อนักท่องเที่ยวมาไทยจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นภาระต่อท้องถิ่น จึงมีการเสนอให้เก็บภาษีนักท่องเที่ยว โดยให้โรงแรมที่พักทำหน้าที่จัดเก็บแล้วส่งเงินให้สรรพากร แต่เมื่อมีการเสนอเช่นนั้นก็ได้ให้องค์กรท้องถิ่นทำการพิจารณาและมีเฉพาะเมืองท่องเที่ยวใหญ่ คิดอัตราตามภาระในการดูแลโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการเก็บขยะ บำบัดน้ำเสีย แต่เมืองเล็กเกรงว่านักท่องเที่ยวจะไม่เข้ามา จึงไม่เก็บ ส่วนในกรุงเทพฯ ก็คิดว่ามีอยู่บ้างในแต่ละโรงแรม

แต่เมื่อไทยกำลังจะเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จึงเกิดคำถามว่าสาระสำคัญคืออะไร หรือต้องการให้ต่างชาติจ่ายค่าประกัน และคงไม่มีที่ไหนในโลกบังคับให้ทำประกันก่อนเข้าประเทศ ทำให้รู้สึกว่าถ้าสมมติจะเก็บค่าประกัน แต่ไม่ควรรวมค่าเหยียบแผ่นดินกับประกัน จะกลายเป็นปัญหาตามมา หรือสมมติว่าเมื่อต่างชาติเข้ามาแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าประกันจะครอบคลุมอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับบริษัทประกัน และหากนักท่องเที่ยวเข้ามาแบบโลดโผน มีความเสี่ยงก็คงไม่อยากประกันให้ หรือถ้าจะเก็บค่าเหยียบแผ่นดินไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ก็ต้องจ้างคนเพิ่มในการอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยว จึงไม่เข้าใจเหตุผลว่าจะเก็บเพื่ออะไร

...

“ทำไมเก็บค่าเหยียบแผ่นดินไม่เท่ากัน ระหว่างคนที่เข้ามาทางอากาศ และเข้ามาทางบกและทางน้ำ แต่คิดว่าคงมีการคุยกับบริษัทประกันไว้แล้ว คิดว่าบริษัทประกันคงได้ประโยชน์ ถ้าเอา 50 บาท คูณกับนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน ก็เท่ากับ 1 พันล้านบาท น่าจะคำนวณไว้แล้วว่าจ่ายไม่เกิน 300 ล้าน ก็จะได้กำไร 700 ล้าน ก็เท่ากับเอื้อให้กับบริษัทประกัน แต่ถ้าไม่เอื้อก็ควรเก็บทีเดียว 300 บาท แล้วบวกค่าประกันอุบัติเหตุอีกต่างหาก ให้นักท่องเที่ยวเลือกบริษัทประกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขัน หรือคิดว่านักท่องเที่ยวคงไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เอาประกันมาพ่วงด้วย”

อีกทั้งทาง ททท.น่าจะประเมินได้อยู่แล้วว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนเท่าไร และตกลงประโยชน์ไปตกอยู่ที่ใคร แต่เมื่อนำค่าเหยียบแผ่นดินไปผูกกับประกัน ก็จะเริ่มซับซ้อนมากขึ้น หรืออาจเป็นไปได้จากการคำนวณตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา ซึ่งไม่ว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาเท่าใด ก็ได้กำไรอยู่แล้วจากการคำนวณ โดยบริษัทประกันไม่ต้องส่งฝ่ายขายเข้าไปทำตลาด ไม่มีต้นทุนอะไร เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเข้าประเทศก็ได้เงินทันที คิดว่าบริษัทประกันได้ประโยชน์อย่างแน่นอน หรือนักท่องเที่ยวหลายคนซื้อประกันก่อนเข้ามาไทยอยู่แล้ว อาจจะขอลดค่าเหยียบแผ่นดิน 50 บาทได้หรือไม่ ซึ่งจะเกิดความวุ่นวายตามมา

...

“หากจะคิดค่าเหยียบแผ่นดิน ให้ใช้คำนี้ไปเลย ไม่ควรรวมค่าประกันไปด้วย คิดว่ายุ่งแน่ๆ เพราะหากประเทศมีความสวยงาม ใครๆ ก็อยากเข้ามาชื่นชม ต้องยอมจ่ายค่าเหยียบแผ่นดินอยู่แล้ว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้จ่ายในการดูแลพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และค่ากำจัดต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวมาขี้ มาเยี่ยว สร้างขยะในแผ่นดินไทย เพราะถ้าไม่เอื้อให้กับบริษัทประกัน ก็ไม่มีเหตุผลจะเอาค่าเหยียบแผ่นดินมารวมกับค่าประกัน แล้วเกิดปัญหาตามมาโดยเฉพาะคนที่ซื้อประกันมาแล้ว ก่อนเข้ามาประเทศ”.