สภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้ปีนี้พายุฤดูร้อนในไทยมาเร็วกว่าปกติ ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนองและลูกเห็บตกในบางพื้นที่ในภาคเหนือและอีสาน รวมถึงลมแรงมีความเสี่ยงจะเกิดวาตภัย และเมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 ก.พ. 2566 ฝนได้ถล่มลงมาในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่หลายจุดเกิดน้ำท่วมขัง
ที่ผ่านมากรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนหลายพื้นที่ในช่วงนี้ จะได้รับผลกระทบจากความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยที่มีอากาศร้อนในช่วงนี้ ส่งผลให้ภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง บางพื้นที่ลูกเห็บตกและเกิดฟ้าผ่า หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงไปจนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2566 ทำให้ภาคเหนือและอีสาน อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส
ส่วนภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 1-4 องศาเซลเซียส จากนั้นมวลอากาศเย็นจะค่อยๆ อ่อนลง และอุณหภูมิจะกลับมาสูงขึ้น ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อนในช่วงสิ้นเดือน ก.พ.นี้ ขณะที่ภาคใต้ จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นเช่นกัน
...
เพราะสภาพอากาศไม่มีความแน่นอน จากสภาวะโลกร้อน จะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง “ดร.สุทัศน์ วีสกุล” ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ซึ่งก่อนหน้าออกมาประเมินว่า ปีนี้พายุฤดูร้อนจะมาเร็วกว่าปีที่แล้ว ได้ออกมาระบุว่า กรณีฝนตกหนักในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 15 ก.พ. เกิดจากผลกระทบของพายุฤดูร้อน เนื่องจากสภาพอากาศร้อน และความเย็นเข้ามาปะทะกับลมใต้หรือลมว่าว จากอ่าวไทยที่พัดเข้ามาอย่างสม่ำเสมอและพัดความชื้นเข้ามา ได้ก่อตัวเป็นพายุฤดูร้อน เกิดฝนตกฟ้าคะนองในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลางตอนล่าง ไม่เกินพื้นที่ จ.ลพบุรี รวมถึงภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก
“ช่วงนี้ลมใต้หรือที่เรียกว่าลมว่าว เข้ามาเร็วมาก จากปรากฏการณ์ลานีญา และเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในฤดูร้อนอยู่แล้ว เมื่อมาเจอความกดอากาศสูงที่มาจากขั้วโลกเหนือ เกิดปรากฏการณ์โพลาร์ วอร์เท็กซ์ ในจีนและญี่ปุ่น กลับมาหนาวเย็นอีก ได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนที่มาเร็วมาก จากเดิมที่คาดว่าจะมาต้นเดือน มี.ค.นี้ และหลังจากนี้ถ้าฝนตกลงมาอีก ก็จะตกน้อยลง เพราะความชื้นถูกทำให้เป็นฝนไปแล้ว แต่ภาคใต้ตอนบนในช่วง 16-17 ก.พ.จะยังมีฝนอยู่”
ในช่วงเกิดพายุฤดูร้อนในเดือนแรกเป็นต้นไป ฝนจะตกหนัก จากนั้นในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ฝนจะตกน้อยกว่าปกติ จะเกิดภาวะแล้งฝนทิ้งช่วงตกไม่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเกษตรในภาคกลาง เพราะฉะนั้นในช่วงฝนตกจะต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ อีกทั้งพายุฤดูร้อนจะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เมื่อความกดอากาศสูง และคาดว่าวันที่ 16-17 ก.พ. ลมใต้อาจแรง จากนั้นวันที่ 18-21 ก.พ. ลมตะวันตกจากประเทศเมียนมา จะพัดพาความชื้นเข้ามาจะเกิดฝนฟ้าคะนอง ซึ่งไม่ใช่พายุฤดูร้อน ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออก
การพัดเข้ามาของลมใต้ ก่อนเป็นปัจจัยทำให้เกิดฝนตก ทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯดีขึ้น มีการพัดพาฝุ่นเหล่านี้ไปภาคกลางตอนบน และภาคเหนือ แต่ลมตะวันตกที่จะพัดพาความชื้นทำให้เกิดฝน จะช่วยพื้นที่ภาคเหนือได้บ้าง ส่วนสถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพฯ จะดีขึ้นอย่างแน่นอน หลังจากนี้ไป.