ความรักกับการมี “เพศสัมพันธ์” ถือเป็นของคู่กัน และสังคมไทยให้การยอมรับ เปิดกว้างเรื่องการร่วมรักกันมากขึ้น ขอแค่...ไม่ผิดศีลธรรมอันดี ผิดลูกผิดเมียคนอื่น หากวัยรุ่นต้องระมัดระวังปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา ทั้งด้านกฎหมาย ท้องไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซิฟิลิส และหนองใน รวมไปถึงการติดเชื้อ HIV และหากรักษาไม่ดี อาจกลายเป็นโรคเอดส์ได้
สถิติ ที่กรมควบคุมโรคเพิ่งแถลงไปหมาดๆ วันนี้ (13 ก.พ.66) พบว่ามี เยาวชนและวัยรุ่น กว่า 8,000 คน ติดเชื้อซิฟิลิส และหนองใน นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนติดเชื้อ HIV เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 จากผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด ซึ่งเพิ่มมากกว่าปี 2551 ร้อยละ 9.5
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ในปีที่แล้ว มีคนเข้ามาตรวจ HIV โดยสมัครใจ ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งแต่ละปี เราจะเจอผลเลือดเป็นบวก ประมาณปีละ 30,000 คน ซึ่งในปีที่แล้ว เราเจอผู้ติดเชื้อประมาณ 28,000 คน ตัวเลขดังกล่าว แม้จะลดลง แต่ก็ยังไม่พึงพอใจ โดยเฉพาะประเด็นการลดผู้ติดเชื้อรายใหม่
...
โดยเฉพาะวันที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมต่างๆ อาทิ วาเลนไทน์ ลอยกระทง ซึ่งตรงนี้เองถือเป็นโอกาส ในการรณรงค์ให้กับเยาวชนและวัยรุ่นได้เข้าใจ และต้องจัดการกับพฤติกรรมต่างๆ ที่มีโอกาสเสี่ยงติดโรค และท้องไม่พร้อม ซึ่งประเด็นนี้ควรจะมีการพูดถึงในทุกวัน ไม่ใช่แค่วันเทศกาลต่างๆ
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้วิธีการ “รณรงค์” โดยใช้ “ความกลัว” นำ ไม่ถือเป็นการแก้ปัญหา อีกทั้งยังเป็นการ “ซ้ำเติม” คนที่ติดเชื้อ HIV ไปแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรสื่อสาร ควรจะเน้นไปที่ข้อมูลและข้อเท็จจริง
“เรามีบทเรียนมาหลายยุคแล้ว ว่าการ “ขู่” ให้ประชาชนไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นการซ้ำเติม บอกนะ ติด “เอดส์” แล้วตาย แต่แล้วคนก็ยังติดอยู่ เพราะไม่สามารถประเมินความเสี่ยงจริงๆ ได้”
นายอภิวัฒน์ ย้ำว่า อคติที่มีต่อเรื่องเพศ เรื่องโรค มันส่งผลรุนแรงกับคนที่ติดเชื้อ HIV หรือ แม้แต่คนที่อยากรู้สถานะตัวเอง ก็เกิดการลังเล รู้แล้วจะเป็นอย่างไร มีผลกระทบหรือไม่ รักษาได้หรือเปล่า...สิ่งที่เป็นความกลัวไม่แก้ปัญหา แต่ภาครัฐก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องนี้ และยังใช้วิธีการเดิม ยกตัวอย่างกรณี “โควิด-19” ที่ผ่านมา ใครติดไม่สามารถอยู่กันในครอบครัวได้ บ้านไหนติด ก็เชือกแดง มาล้อมรอบ
แต่...โควิด-19 คือ โรคอุบัติใหม่ ในเวลานั้น นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า แม้จะเป็นโรคอุบัติใหม่ และเรายังไม่ทราบพฤติกรรมของโรค แต่การแสดงออกต้องไม่ตอกย้ำ เรื่องความกลัว ฉะนั้น เรื่องการป้องกัน ถือเป็นหน้าที่ของ “ปัจเจกบุคคล”
“หากเราติดตั้งความคิด ความเข้าใจให้กับประชาชนแล้ว ประชาชนจะจัดการดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องมีใครมาบอกว่า ต้องใช้ “ถุงยางอนามัย” หรือ ติดเชื้อ HIV แล้วรักษาได้ อยู่ในระบบประกันสุขภาพ บทบาทการสื่อสารที่ถูกต้อง ต้องอยู่บนหลักการวิทยาศาสตร์ ไม่มีอคติปนอยู่ในนั้น...”
HIV เซ็กซ์ และการมีลูก
เนื่องในวันแห่งความรัก การมีเซ็กซ์อย่างปลอดภัย สำหรับคนป่วย HIV มีวิธีการใดบ้าง รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลใด คนที่มีเชื้อ HIV หรือไม่ สิ่งที่ต้องทำ คือ การส่งเสริมความเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนไปออกแบบชีวิตตัวเองในการลดความเสี่ยง เช่น จะใส่ถุงยางอนามัย หรือไม่ใส่ก็ได้ เพียงแต่ต้องระวังเรื่องอื่นๆ เช่นโรคติดต่อ หรือการท้องไม่พร้อม
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีความไม่เข้าใจว่า คิดว่าติดเชื้อ HIV แล้วตาย ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิดมานาน ปัจจุบัน คือมียาต้านไวรัสแล้ว เมื่อกินยา เขาก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ถามว่า ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ เพราะจะส่งต่อเชื้อให้กับคู่ หรือ ส่งให้ลูก นี่คือ ปรากฏการณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่วันนี้ไม่ใช่ เมื่อเรากินยาต้านไวรัสจนควบคุมได้แล้ว ถึงแม้จะมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ก็ทำได้ ที่เราเรียกว่า U=U หรือบางคนจะเลือกใช้วิธีการใส่ถุงยางป้องกัน หรือ แม้แต่ไม่ใส่ถุงยาง จะเลือกใช้ยา PrEP หรือ PEP ก็ได้ แล้วแต่ความต้องการของคุณได้เลย เพราะคนที่รับยาต้านไวรัสแล้ว จะไม่ส่งต่อเชื้อให้คนอื่น ถึงแม้จะมีอะไรกันโดยไม่ป้องกันก็ตาม
...
** U=U (Undetectable = Untransmittable) หมายถึง ผู้ที่ติดเชื้อแล้วกินยาต้านไวรัสจนตรวจไม่เจอเชื้อไวรัสในเลือดแล้ว จะไม่ถ่ายทอดเชื้อให้ผู้อื่น
PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) ยาต้านไวรัสที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีผลเลือดลบ เริ่มใช้เตรียมไว้ก่อนจะมีโอกาสสัมผัสเชื้อ และใช้ต่อเนื่องไปจนหมดโอกาสนั้น
PEP (Post-Exposure Prophylaxis) ยาต้านไวรัสฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่มีผลเลือดลบที่เพิ่งสัมผัสเชื้อมาไม่เกิน 72 ชั่วโมง**
“ปัจจุบัน ประเทศไทย มีคนติดเชื้อ HIV กินยาต้านไวรัสอยู่ 400,000 คน ทุกคนมีสิทธิ์มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ส่งเชื้อให้กัน ฉะนั้น จึง แปลว่าเขาใช้ชีวิตได้เหมือนคนไม่มีเชื้อ HIV แต่ถามว่ามีความเสี่ยงไหม คำตอบคือ มี”
คำถามต่อมา “มีลูก” ได้หรือไม่ นายอภิวัฒน์ ตอบว่า มีลูกได้ โดยไม่ส่งต่อเชื้อให้ลูก นี่คือ วิทยาศาสตร์ เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ HIV อาจจะเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ถ้ารู้เร็ว รักษาเร็ว”
อัปเดต การรักษา HIV ยารายวัน รายเดือน หรือฉีดยา อยู่ได้ 3 เดือน
...
เมื่อถามถึงปัญหาเรื่อง HIV แล้ว ปัจจุบัน เทคโนโลยีการรักษาผู้ติดเชื้อไปถึงขั้นไหนแล้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เผยว่า ถือว่าพัฒนาไปมากแล้ว เมื่อก่อน อาจจะต้องกินยาทุก 12 ชั่วโมง แต่ปัจจุบัน เหลือยาวันละ 1 เม็ดแล้ว พูดง่ายๆ คือ ยาออกฤทธิ์ 24 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้ ทำให้แต่ละคนสามารถออกแบบการกินยาได้ จะทุกๆ เที่ยงวัน หรือ เวลาใดก็ได้
“การกินยาตรงเวลาในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า กินในเวลาเดียวกันเป๊ะๆ แต่สามารถเลท บวก ลบ ได้ ครึ่งชั่วโมง ซึ่งถือว่ายังตรงเวลาอยู่ เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก และยังมีตัวยาใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น ฉีดยา 1 เข็ม อยู่ได้ 3 เดือน หรือ กินยา 1 เม็ด อยู่ได้ 1 เดือน ก็เริ่มมีมาแล้ว”
ยาต้านไวรัส ถือว่ามีการพัฒนามาก โดยเวลานี้ มีการวิจัยเรื่องการ “รักษาให้หายขาด” ก็ยังศึกษากันอยู่
“ตลอดระยะเวลา 40 ปี วิวัฒนาการด้านการรักษา ก้าวหน้าไปมาก แต่...สิ่งที่เปลี่ยนแปลงน้อยมาก คือเรื่อง ทัศนคติที่ล้าหลัง”
...
การกีดกันทางสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในการสมัครงาน
ทีมข่าวฯ ถามว่า ปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อ HIV ยังมีปัญหาเรื่องสมัครงานหรือไม่ นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ภาพรวมถือว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์การเจ็บป่วย HIV จนกลายเป็นเอดส์ นั้น มีน้อยลงไปมาก การยอมรับจากครอบครัว ก็มีมากขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันได้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า คนเข้าใจ HIV มากขึ้น
แต่...สังคมการทำงาน ยังมีการกีดกันอยู่ ถึงแม้ ข้าราชการ ก.สาธารณสุข มีการยกเลิกตรวจ HIV ก่อนเข้าทำงานแล้ว สถานประกอบการเอกชนหลายๆ แห่ง ไม่มีการตรวจ HIV แต่ก็ยังพบว่ามีบางหน่วยงานราชการและเอกชน ที่ยังไม่ยกเลิกบังคับตรวจ HIV โดยใช้ทัศนคติไปกำหนดนโยบายการกีดกัน
"ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น เราจึงต้องสมมติฐานว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้บริหารไม่เข้าใจ เราก็ต้องทำหน้าที่ให้เขาเข้าใจ อย่างไรก็ดี หากเขายังไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้อีก คงต้องเดินหน้ามาตรการทางกฎหมาย มาเป็นเครื่องมือ อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งมีการขับเคลื่อน พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวเกี่ยวกับการเงิน ซึ่ง นายกฯ ต้องรับรอง แต่เมื่อถึงสภา ก็ยังไม่ไปต่อไม่ได้ เราก็คงต้องผลักดันต่อไป"รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวและว่า
หากจะเดิน ปลดล็อก HIV มาเป็นเงื่อนไขการสมัคร เราต้องร่วมกับภาคเอกชนหลายส่วน
1.ทุกกระทรวงทบวงกรมของรัฐต้องไม่มีนโยบายบังคับตรวจ HIV ก่อนสมัครงานหรือเรียน ยกตัวอย่าง ตำรวจหรือทหาร ยังพบว่ามีอยู่ ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องเป็นตัวอย่าง
2. ก.สาธารณสุข โดยเฉพาะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ต้องไม่ขายแพ็กเกจตรวจสุขภาพ โดยมีการบวกการตรวจเลือด HIV เรื่องนี้คล้ายกับการละเมิดสิทธิผู้ป่วย
3.การบังคับตรวจ HIV ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องเนื้อตัว ร่างกาย ทุกคน ไม่ใช่คนที่เป็นเลือดบวกเท่านั้น
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ