มนุษย์เงินเดือนผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องมาลุ้นกันว่าจะได้จ่ายเงินสมทบประกันสังคมเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากที่ถูกหักเงินเดือน 5% ในแต่ละเดือน เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 750 บาท จากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท เพราะขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ.... ไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2566
หากกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะปรับขึ้นเพดานเงินสมทบ ตั้งแต่ปี 2567 จากการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท แบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นสูงสุด 23,000 บาท ภายในปี 2573 จะทำให้เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,150 บาท โดยช่วงปี 2567-2569 เพดานเงินเดือน 17,500 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 875 บาท
ในปี 2570-2572 เพดานเงินเดือน 20,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาท และปี 2573 เป็นต้นไป เพดานเงินเดือน 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาท
ส่วนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างเงินบำนาญชราภาพ จะได้ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน หากส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้บำนาญ 20% ของค่าจ้าง และมากกว่า 15 ปี จะเพิ่มอีก 1.5% จากการส่งเงินสมทบทุกๆ 12 เดือน
...
ไม่ว่าผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นจะเป็นเช่นไร แต่ “ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข” คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องคิดกันอย่างไร ทำไมอยู่ๆ จะมีการปรับขึ้นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม คิดว่าไม่น่าจะโปร่งใส และมีการศึกษามากน้อยเพียงใด ควรให้คนรับรู้ถึงเหตุผล มีการทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกันตน ก่อนจะปรับขึ้นในอีก 3-5 ปี ไม่ใช่เริ่มในปี 2567
การจะปรับขึ้นเงินสมทบ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกการจะปรับเพิ่ม หรือไม่ปรับเพิ่มนั้นไม่ใช่ประเด็น แต่อยู่ที่สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับเพิ่ม จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จากการมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบ และอีกส่วนหนึ่งต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายเพิ่มของแรงงานและมนุษย์เงินเดือนหรือไม่ จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อน เพราะความสามารถในการจ่ายเพิ่มของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
“ในฐานะเป็นแรงงานจะบอกไม่จ่ายได้มั้ย แต่เป็นการบังคับตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิเลือก หากจ่ายไม่ได้ก็หลุดจากกองทุน และสิทธิประโยชน์ควรจะมีเพิ่ม ถ้าไม่ปรับเพิ่มให้ ก็ควรให้จ่าย 750 บาทตามเดิม เพราะอยู่ดีๆ ก็จะให้จ่ายเพิ่ม หากพวกเขาไม่พร้อม แต่คนรวยคิดว่าก็ปรับขึ้นแค่ 350 บาทเอง แต่แรงงานที่เปราะบางไม่สามารถจ่ายได้ เป็นประเด็นที่ต้องดูความสามารถของแรงงาน”
ก่อนการจะปรับขึ้นเงินสมทบ ทางกองทุนประกันสังคมได้พูดความจริงแล้วหรือยังว่าจะเก็บเพิ่มเพื่ออะไร เช่น ในฐานะเป็นแรงงานมีความเสี่ยง ก็ต้องจ่ายเพิ่ม เพราะต้นทุนเพิ่มทำให้ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้กองทุนฯ ขาดทุน ซึ่งการที่กองทุนฯ มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก็เช่นเดียวกับค่าครองชีพของแรงงานที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน หรือหากต้นทุนกองทุนฯ เพิ่ม จะต้องปรับขึ้นเงินสมทบ ก็ต้องปรับเพิ่มในเรื่องสิทธิประโยชน์ เหมือนประกันชีวิตเมื่อต้นทุนเพิ่ม ก็ต้องเก็บเบี้ยเพิ่ม
อีกอย่างแรงงานอาจบอกว่าการจะจ่ายเพิ่มได้ ต้องขึ้นอยู่กับค่าแรงจะต้องปรับขึ้นด้วย ตามสัดส่วนเงินสมทบที่จะปรับขึ้นไป หากปรับขึ้นค่าแรงก็คงไม่มีใครว่าอะไร และเหตุผลในการปรับขึ้นเงินสมทบเพราะอะไร หรือต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน หรือเพื่อปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์
หรือกองทุนฯ มีปัญหาสภาพคล่อง แล้วโยนบาปให้ลูกจ้างแรงงานและนายจ้าง ให้มาร่วมรับผิดชอบ จากผลกระทบโควิดในช่วง 2-3 ปี ทำให้รายได้กองทุนฯ ลดลง เพราะช่วงนั้นคนถูกเลิกจ้างจำนวนมากไปเบิกกับประกันสังคม จนกองทุนฯ กำลังอยู่ในฐานะขาดสภาพคล่อง ทำให้ต้องปรับเพิ่มเงินสมทบ
...
“ก็รู้อยู่แล้วว่าจะไปไม่ได้ ต้องปรับขึ้นเงินสมทบ หวังน้ำบ่อหน้าเอาเงินไปลงทุนต่อ ซึ่งไม่รู้จะขาดทุนอีกหรือไม่ ถ้าสมมติว่าผมอายุ 50 กว่าปี แล้วถูกเลิกจ้างอยู่ในสภาวะคนตกงาน เข้าข่ายได้สิทธิประโยชน์ แต่ไปถึงตอนนั้นเขาบอกว่าเบิกไม่ได้ เพราะไม่มีตังค์แล้ว ก็ต้องไปเก็บเงินสมทบเพิ่มกับคนอื่น เพื่อเอาเงินมาจ่ายให้ก็ได้ ทั้งที่ควรบริหารจัดการให้ดี อาจให้การไฟฟ้าฯ ค้ำประกันให้กับกองทุนประกันสังคม ให้สามารถกู้เงินมาได้”
สุดท้ายควรต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เหตุผลใดจะปรับขึ้นเงินสมทบ และไม่แน่ใจว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นจะพูดถึงเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาหรือไม่ หรือแค่ถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างกฎกระทรวงนี้เท่านั้น แต่คิดว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้น และมาตราต่างๆ ทั้งมาตรา 39 มาตรา 40 ก็มีความลักลั่นเหลื่อมล้ำ อีกทั้งระบบประกันสังคมเป็นระบบของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่เงินน้อย ซึ่งแตกต่างจากข้าราชการสามารถเบิกได้ ดังนั้นหากจะเก็บเงินสมทบเพิ่ม ต้องเพิ่มสวัสดิการให้เท่ากันหรือไม่
การจะปรับเพิ่มเงินสมทบ คิดว่าไม่ใช่เรื่องเล็กที่จะทำกันเพียงแค่การเปิดรับฟังความคิดเห็น เพราะจะกระทบกลุ่มคนเปราะบางที่มีเงินเดือนน้อย หากถามฝ่ายนายจ้างก็ไม่มีปัญหา แต่หากไม่ไหวก็เลิกจ้างพนักงานก็เท่านั้น และคิดว่าเหตุผลการจะปรับขึ้นเงินสมทบ มาจากปัญหาโควิด ทำให้คนว่างงาน 2-3 ล้านคน ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ค่าใช้จ่ายกองทุนประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็พูดไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นควรต้องออกมาพูด ออกมาอธิบายให้ชัดเจน.
...