เด็กเกิดใหม่น้อยลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรในสังคมไทย ทำให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน และอีก 10 ปี จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 28% ของประชากรทั้งหมดในปี 2576 และผลที่ตามมาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

ผู้สูงอายุในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แม้จะหนุนให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือเนอร์สซิ่งโฮม เติบโตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสินค้าด้านสุขภาพ แต่ตลาดผู้สูงอายุอาจได้แค่เฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเท่านั้น เพราะจากข้อมูลการสํารวจอนามัยและสวัสดิการของสํานักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 20,000-40,000 บาทต่อปี หากสินค้าและบริการมีราคาที่สูงมากเกินไป อาจมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า หรือใช้บริการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในปี 2565 คาดว่า ธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮม น่าจะมีไม่น้อยกว่า 2,000 ราย ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง รวมไปถึงเมืองท่องเที่ยวสามารถรองรับกลุ่มคนไข้ต่างชาติบางส่วน โดยกว่า 95% จัดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ครอบคลุมบริการการดูแลที่ศูนย์พัก และการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลที่บ้าน ซึ่งสามารถเลือกใช้บริการแบบระยะสั้น คิดเป็นรายวันหรือรายชั่วโมง และแบบระยะยาว ตั้งแต่ 3-6 เดือนขึ้นไป แต่ค่าใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท ทำให้มีข้อจำกัดด้านกำลังซื้อ

...

แม้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคตตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ด้วยรายได้และเงินเก็บออมของผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาจไม่เพียงพอในการดูแลตัวเองในบั้นปลายชีวิต กลายเป็นคนจนในวัยชราเป็นกลุ่มเปราะบางต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะด้วยความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดระหว่างคนรวยและคนจนในสังคมไทย เป็นโจทย์ใหญ่ควรต้องเร่งหาทางออก

ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าทำไมผู้สูงอายุในไทยไม่มีใครดูแล หรือจากที่เคยมีเงินในช่วงวัยทำงาน กลับกลายมาเป็นคนจนในวัยชรา “ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้แยกเป็น 4 ข้อ เริ่มจากปัญหาแรก ในเรื่องของหลักประกันรายได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีเงินเก็บไม่เพียงพอไว้ใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิต รวมถึงกลุ่มใหม่ที่กำลังเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ดังนั้นจะต้องขับเคลื่อนหลักประกันชราภาพ

“ขณะนี้มีหลายพรรคการเมืองเสนอให้รัฐจ่าย แต่เห็นว่าควรให้ภาครัฐและประชาชนร่วมจ่ายร่วมรับผิดชอบ โดยรัฐเข้ามาร่วมจ่ายเพิ่มเติม ในลักษณะ Co-payment ทำให้ในระยะสั้น รัฐอาจช่วยเหลือเยอะในเรื่องค่าใช้จ่าย และพอมาช่วงระยะกลาง ระยะยาว หลังเตรียมความพร้อมจนสามารถลืมตาอ้าปากได้ จะทำให้รัฐใช้เงินน้อยลงไปด้วย”

ดึงชุมชนเข้ามาโอบอุ้ม ไม่ให้อยู่ลำพังไร้คนเหลียวแล

อีกประเด็นสำคัญข้อที่ 2 มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะไร้ลูกหลานมากขึ้น หรือเคยมีคู่สมรส ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะเสียชีวิตไปก่อน อาจกลายเป็นผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียว จะต้องมีพื้นที่ส่วนกลางให้ชุมชนเข้ามาดูแลในลักษณะเอื้ออาทรในการดูแลซึ่งกันและกัน เหมือนสังคมไทยในอดีต ส่วนข้อที่ 3 ในด้านที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน อาจมีบ้างที่มีการพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในลักษณะของศูนย์ผู้สูงอายุแบบครบวงจร หรือ Senior Complex แต่ยังมีผู้สูงอายุอีกเป็นจำนวนมากไม่สามารถย้ายไปอยู่ได้ จะต้องทำอย่างไรให้ได้อยู่อาศัยในถิ่นเดิม หรือชุมชนเดิม ซึ่งต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขยายแนวคิดในเรื่องนี้โดยนำชุมชนเข้ามาโอบอุ้มช่วยเหลือผู้สูงอายุ

ข้อที่ 4 ขณะนี้มีช่องว่างระหว่างวัย เพราะโลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากสมัยก่อนมีสำนวนเดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด แต่ปัจจุบันนี้เด็กรุ่นใหม่ใช้โทรศัพท์มือถือได้อย่างคล่องแคล่วมากกว่าผู้ใหญ่ จะต้องนำแรงกระเพื่อมระหว่างคนสองวัยมาผสมผสานกันให้ได้ โดยหน่วยงานภาครัฐจากส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องร่วมกันดูแล เช่น การจัดโปรแกรมในการเข้าค่ายให้ผู้สูงวัยและเด็กรุ่นใหม่ ร่วมใช้ชีวิตร่วมกันในการสร้างทัศนคติ มุมมองในเชิงบวกให้มากขึ้น

“ไม่ให้คนสองวัยต่างคนต่างมองในทางลบ ฝ่ายเด็กรุ่นใหม่ก็มองว่าผู้ใหญ่ล้าหลัง และผู้ใหญ่ก็มองเด็กดื้อรั้นไม่เคารพผู้ใหญ่ จะต้องหาแนวทางไม่ให้หมุนตามโลกไปมากเกินไป ด้วยการดึงคนสองวัยมาอยู่ร่วมกัน และทำไมคนยังถูกหลอกให้โอนเงิน โดยเฉพาะคนวัยกลางคน หากอยู่ร่วมกันมีการพูดคุยก็จะไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ก็เล่นพนันออนไลน์จนเงินหมด แต่ถ้าสังคมมีเครือข่ายที่คุยกันได้ระหว่างคนต่างวัย น่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ต้องเอากลไกชุมชนเข้ามาช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยกัน และพาผู้สูงอายุไปหาหมอ ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่”

...

คนแก่ไร้บ้าน-หลากหลายทางเพศ กลุ่มเปราะบางต้องดูแล

ข้อ 5 อีกปัญหาในกลุ่มเปราะบางพิเศษ เป็นผู้สูงอายุมีความเปราะบางเชิงซ้อน และผู้สูงอายุกลุ่มหลากหลายทางเพศ ทั้งๆ ที่ทุกคนควรมีสิทธิ์สวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งผู้สูงอายุปกติก็มีปัญหาอยู่แล้ว บางคนบัตรประชาชนหาย ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์สวัสดิการ เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยได้ และเมื่อเป็นผู้สูงอายุหลากหลายทางเพศที่ในอดีตไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตว่าจะอยู่ในลักษณะใด รวมถึงผู้สูงอายุไร้บ้านที่มีความเปราะบางเชิงซ้อน เพราะเมื่อไร้บ้าน ไม่มีเอกสารสำคัญก็ไม่มีงานทำ ไม่สามารถไปอยู่สถานสงเคราะห์ และเข้าสถานพยาบาลได้ ซึ่งในอนาคตผู้สูงอายุเปราะบางเชิงซ้อนหลายกลุ่มจะมีจำนวนมากขึ้นอีก

“ที่ผ่านมาขอบข่ายอำนาจหน้าที่ในแต่ละส่วนของหน่วยงาน มีปัญหาพอสมควร ซึ่งภาครัฐควรทบทวนบทบาทหน้าที่โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเข้ามาทำหน้าที่ในดูแลในระยะยาว แม้ปัจจุบันจะเห็นอยู่บ้าง แต่ไม่ต่อเนื่องครบถ้วนในการสำรวจในแต่ละพื้นที่มีจำนวนผู้สูงอายุเท่าไร และสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ ทำให้ธุรกิจผู้สูงอายุส่วนใหญ่ตอบสนองคนมีเงิน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป หากใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหา เช่น ไม่มีเงินซื้อไม้ค้ำอันใหม่ให้ผู้สูงอายุ ก็ต้องเอาของเก่าที่เคยใช้มาให้ใช้ และยังมีนวัตกรรมออกมาอีกมากมาย สามารถนำมาดูแลผู้สูงอายุในชุมชนแบบพึ่งพาพึ่งอาศัยเหมือนสังคมไทยในอดีต”.

...

ผู้เขียน : ปูรณิมา