ริว อาทิตย์ อดีตพระเอกดังยุค 90 หลังหายหน้าจากวงการไป 17 ปี กลับมาอีกครั้งพร้อมเผยมรสุมชีวิต ที่ต้องเป็นคนไร้บ้าน ขายสินค้ามือ 2 ในตลาดเพื่อประทังชีวิต เนื่องจากป่วยเป็นไบโพลาร์มา 10 ปี ไม่สามารถทำงานและใช้ชีวิตปกติได้ เช่นเดียวกับชีวิตครอบครัวต้องแยกทางกับภรรยา โดยแพทย์ให้ความเห็นถึงผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว ขณะนี้มีอยู่จำนวนมาก และขาดการดูแลจนส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำงานด้วยจำนวนมาก
เรื่องราวของอดีตพระเอกดัง ได้รับการเปิดเผยผ่านรายการ "วัน บันเทิง" ทางช่องวัน 31 ถึงชีวิตที่ตกต่ำ ไม่มีเงิน ไร้บ้าน กินนอนข้างถนน เนื่องจากป่วยเป็นไบโพลาร์ และทำการรักษามา 10 ปี ไปหาหมอมาแล้วกว่า 5 โรงพยาบาล สุดท้ายต้องใช้หลักธรรมเยียวยาตัวเอง แต่เรื่องราวของ ริว อาทิตย์ เป็นเหมือนภาพสะท้อนผู้ป่วยไบโพลาร์ที่มีอยู่ในสังคมไทยจำนวนมาก
“รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงกรณี ดารานักแสดงที่ป่วยไบโพลาร์ ว่าหากไม่มีการรักษาและทานยาต่อเนื่อง จะส่งผลต่อการใช้ชีวิต เพราะการทำงานกับบุคคลอื่นจะเริ่มเกิดปัญหาการโต้เถียงที่รุนแรง ดาราหลายคนเริ่มจากการทะเลาะกับผู้จัดการส่วนตัว เมื่อไม่มีงานก็เริ่มใช้จ่ายมากขึ้น และเมื่ออารมณ์สลับมาอยู่ในขั้วซึมเศร้า จะปิดกั้นผู้อื่น ไม่ดูแลตัวเอง ทำให้ร่างกายทรุดโทรม จนไม่สามารถทำงานได้
...
การรักษาผู้ป่วยไบโพลาร์ ต้องทานยาต่อเนื่อง เพราะเป็นหนทางเดียวที่รักษาได้ ส่วนการพบจิตแพทย์เพื่อช่วยบำบัด เป็นตัวช่วยที่มาส่งเสริมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งกรณี คุณริว มีการระบุว่ารักษามากว่า 10 ปี อาจมีบางช่วงที่ไม่รักษาต่อเนื่อง ทำให้อาการรุนแรงขึ้น
“ตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์สองขั้น มาจากความผิดปกติของสารในสมอง บางคนมาจากพันธุกรรม ปัจจัยที่พบได้น้อยมาจากการถูกกระทบกระเทือนด้านจิตใจ เช่น ตกงาน มีความเครียดเรื้อรัง ดังนั้นถ้ามีการทานยา เพื่อให้สารในสมองมีปริมาณปกติ จะทำให้อาการดีขึ้น”
การสังเกตผู้ป่วยไบโพลาร์ จะมีการแสดงออกทางอารมณ์ทั้งสองขั้วรุนแรง โดยพฤติกรรมสำคัญที่บ่งชี้คือ มีการใช้จ่ายผิดปกติ เกินตัว บางช่วงมีอาการเก็บตัว ไม่มั่นใจ พฤติกรรมลักษณะนี้ไม่ใช่การแสดงพฤติกรรมปกติ ควรไปพบแพทย์ เพราะการจ่ายยาต้องทำด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่สามารถไปหาซื้อยามาทานเองได้
พนักงานออฟฟิศ ป่วยไบโพลาร์จำนวนมาก
“รศ.นพ.วีระศักดิ์” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรคไบโพลาร์พบมากในคนที่ทำงานออฟฟิศ บางคนมีตำแหน่งสูง เลยไม่มีใครกล้าบอก หรือเตือนผู้ที่มีอาการ แต่เมื่อปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา ผู้ป่วยจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ส่งผลร้ายแรงต่อองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ
คนที่ป่วยเป็นไบโพลาร์มีจำนวนมาก แต่หลายคนไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษา ขณะที่หลายคนปฏิเสธรักษา เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นคนบ้า ทั้งที่จริงเป็นความผิดปกติด้านอารมณ์ ที่เรียกว่าอารมณ์ 2 ขั้ว เพราะด้านหนึ่งเป็นอารมณ์ซึมเศร้า อีกขั้วเป็นอาการคลุ้มคลั่ง
โดยอาการของโรคจะมีลักษณะดังนี้
- อารมณ์คลุ้มคลั่ง จะอารมณ์ดี สนุกสนานแบบสุดขีด ขยันทำงาน คึกคักตลอดเวลา เวลาคุยกับผู้อื่นเสียงดัง มีความมั่นใจสูง
- มีการใช้จ่ายเงินมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้จะมีปัญหาด้านการเงิน
- เมื่ออารมณ์เปลี่ยนมาเป็นขั้วซึมเศร้า จะเก็บตัว ไม่มั่นใจตัวเอง ไม่ดูแลสุขภาพ อยู่แบบคนสิ้นหวัง
- คนที่มีอาการหนัก อาจถึงฆ่าตัวตาย ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลายกรณี
- ปัจจุบันพบมากในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในตำแหน่งหัวหน้างาน
- การวิจัยในต่างประเทศพบว่า ผู้ป่วยถ้าไม่รักษาจะนำสู่โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจ และเบาหวาน
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา จะพบคนที่มีอารมณ์สองขั้วอยู่ในที่ทำงานจำนวนมาก ผู้ร่วมงานหลายคนจะจัดการไม่ได้ แต่หัวหน้างานกลับไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ ดังนั้นหากพบว่ามีบุคคลที่มีพฤติกรรมผิดปกติ หัวหน้างานควรเรียกมาคุยเป็นรายบุคคล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยว่า เรื่องนี้เป็นความลับ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างเหมาะสม”.
...
เครดิตภาพ : รายการวันบันเทิง