แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ลึกประมาณ 17.9 กม. เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ติดพรมแดนประเทศซีเรีย เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตรวมกันสองประเทศกว่า 5 พันศพ บาดเจ็บเกือบ 2 หมื่นราย ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในแอตแลนติกใต้ ในรอบ 1 ปี 5 เดือน จากการระบุของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ ขณะที่องค์การอนามัยโลก คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นอีก 8 เท่า

ท่ามกลางความเหน็บหนาวเต็มไปด้วยซากปรักหักพังของอาคารที่พัก ได้พังถล่มลงมา ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มานานกว่า 200 ปี ทำให้ไม่มีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ แม้ว่าตุรกีตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกแนวรอยเลื่อนอนาโตเลีย เชื่อมต่อกับแผ่นเปลือกโลกแอฟริกา และอาระเบีย มีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวมากสุดของโลก และเมื่อปี 2542 ได้เกิดแผ่นดินไหวในจังหวัดดุซเซ ทางตอนเหนือของตุรกี ผู้คนเสียชีวิตไปมากกว่า 17,000 ศพ

บทเรียนแผ่นดินไหวรุนแรงในหลายพื้นที่ในโลกเมื่อก่อนหน้า และความโชคร้ายล่าสุดมาตกอยู่ที่ตุรกี เป็นอีกครั้งที่นับไม่ถ้วนต้องกลับไปดูความพร้อมของประเทศไทย หากเกิดแผ่นดินไหวแรงสั่นขนาดใหญ่จะรับมือได้ไหวหรือไม่? เพราะแผ่นดินไหวไม่ได้คร่าชีวิตผู้คน แต่อาคารที่พังถล่มลงมาเป็นสาเหตุทำให้คนเสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่าโครงสร้างอาคารต่างๆ ต้องมีความแข็งแรงมากพอตามหลักวิศวกรรม

...

ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎกระทรวงมหาดไทย กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564 ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในประเทศให้มากขึ้น รวม 43 จังหวัด ตามสภาพการณ์ปัจจุบัน เพราะความรุนแรงของแผ่นดินไหวขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ ความตื้นหรือลึก และโครงสร้างของอาคาร จากการระบุของ “รศ.เอนก ศิริพานิชกร” ประธานเตรียมความพร้อมด้านอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว และประธานคณะทำงานจัดการภัยพิบัติอาคาร สภาวิศวกร

อีกทั้งสถิติการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อ 25,000 ปี ไม่มีใครล่วงรู้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อใด และข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ ทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถทำได้ถูกต้องแม่นยำในการออกมาเตือน เพราะการเสียดสีและการขยับของแผ่นเปลือกโลกจะมีการสะสมพลังงาน เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง จะปลดปล่อยพลังงานก่อให้เกิดแผ่นดินไหว เกรงว่าในอนาคตแผ่นดินไหวอาจมีความรุนแรงมากกว่า 10 แมกนิจูด และหวังว่าประเทศไทยคงไม่เกิดขึ้น

“แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นน่ากลัวมาก เสียใจกับเหตุการณ์ในตุรกีและซีเรีย เป็นประเทศตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนวงแหวนไฟ หรือ Ring of Fire ในมหาสมุทรแปซิฟิก จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อาจเพิ่มมากขึ้น 2-3 หมื่นศพ ซึ่งไทยก็ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก เชื่อมกับรอยเลื่อนสะแกงในพม่า และมีแนวรอยเลื่อนใหญ่ไปทางญี่ปุ่น เชื่อมกับนิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย และเชื่อมกับรอยเลื่อนในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เมื่อมีรอยแตก หรือมุดตัวของเปลือกโลก ก็จะมีการสะสมพลังงานจนเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แม้แผ่นดินจะอยู่ห่างกันก็ตาม”

อีกความเสียหายจากแผ่นดินไหวรุนแรง ปี 2557 พื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
อีกความเสียหายจากแผ่นดินไหวรุนแรง ปี 2557 พื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย

ในอดีตไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ขนาด 6.3 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 ในพื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย แต่โชคดีไม่มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ทำให้มีความเสียหายไม่มาก และเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2526 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 แมกนิจูด ใน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ทางภาคตะวันตก และได้สะเทือนไปถึงพื้นที่กรุงเทพฯ

เพราะฉะนั้นจะต้องออกแบบอาคารสถานที่ให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว นำไปสู่การออกกฎกระทรวงฉบับแรก เมื่อปี 2540 และปี 2550 จนล่าสุดปี 2564 จากเดิมครอบคลุมเฉพาะพื้นที่อาจได้รับผลกระทบระดับสูงในพื้นที่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน รวม 10 จังหวัด และเพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ รวม 12 จังหวัด กระทั่งเพิ่มพื้นที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง รวม 17 จังหวัด ซึ่งมี กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมอยู่ด้วย และมีพื้นที่เฝ้าระวังอีก 14 จังหวัด

...

แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ขนาด 6.3 แมกนิจูด ในพื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ขนาด 6.3 แมกนิจูด ในพื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย

“ค่อนข้างมั่นใจว่าไทยสามารถดำเนินการได้ในเรื่องกฎหมายกับอาคารต่างๆ เพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เพราะ 15 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้คนตื่นตัวจากเหตุสึนามิ ปี 2547 ตั้งแต่วิธีต่อเหล็กอาคาร เสริมอาคารให้แข็งแรงมากขึ้น มีการคำนวณจากสภาพผิวดินว่าอ่อนหรือแข็ง และทางสภาวิศวกรได้กำหนดหลักสูตรให้ความสำคัญเรื่องแผ่นดินไหว จะต้องเรียนรู้ในระดับปริญญาตรี และจัดอบรมเป็นระยะๆ ให้ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศดำเนินการ”

ส่วนพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ชั้นดินอ่อน แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อน ทำให้ได้รับผลกระทบน้อย มีอาคารสูงสั่นไหวแต่ไม่รุนแรง จากการเกิดแผ่นดินไหวในระยะไกล อย่างในพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี จากรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ หรือแผ่นดินไหวในเมียนมา จากรอยเลื่อนสะแกง และแผ่นดินไหวทางภาคเหนือ และจากประเทศลาว.

...