การบุกเข้าตรวจค้นอาบอบนวด ย่านรัชดา พบมีการแอบเปิดโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ไม่พบการค้าประเวณี จนมีเสียงวิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของตำรวจ ส่วน “เจ้าพ่ออ่าง” อย่าง “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ออกมาแฉในเพจส่วนตัว ถึงใบอนุญาตสถานประกอบการไม่ถูกต้อง และตั้งข้อสังเกต พฤติกรรม “ทดลองอ่าง” มีบางอย่างซ่อนเร้น ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณฟื้นตัวของธุรกิจสีเทา

กลางดึก วันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ตำรวจเข้าตรวจค้นสถานบริการอาบอบนวดแห่งหนึ่ง ย่านรัชดา หลังสืบทราบว่ามีการแอบเปิดบริการ พบชายกับหญิงสาวในห้องรับรองวีไอพี ภายหลังมีการชี้แจงจากผู้ดูแลว่า พนักงานเชียร์แขกรายหนึ่งเพิ่งย้ายมาจากที่อื่น จึงมีการทดลองใช้ห้องบางส่วน แต่ไม่พบการค้าประเวณี

ทันทีที่เรื่องนี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ออกมาโพสต์ผ่านเพจส่วนตัว ถึงความน่าสงสัยว่า ใบอนุญาตของสถานบริการดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริง ขณะเดียวกันเจ้าของใบอนุญาตก็ถูกดำเนินคดี ทำให้ยังไม่สามารถกลับมาเปิดได้ และตั้งข้อสังเกตถึงการทดลองใช้สถานบริการดังกล่าว อาจมีบางอย่างแอบแฝง

ล่าสุดตำรวจลงพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบว่ามีการลักลอบใช้น้ำบาดาล แต่หลังจากตรวจสอบยังไม่พบความผิดปกติ ส่วนการตรวจใบอนุญาต อยู่ในขั้นตอนพิจารณา เพราะชื่อของผู้ประกอบกิจการ และชื่อบริษัท ไม่ตรงกัน รวมถึงต้องตรวจสอบอย่างละเอียดในเรื่องการจัดตั้งนิติบุคคล ผู้ถือหุ้น และกรรมการผู้มีอำนาจ การขอใบอนุญาต โดยได้ประสานกับ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ส่วนบริเวณภายในสถานบริการแห่งนี้ พบว่ามีความพร้อมแล้ว 80% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างทำระบบไฟ

...

“ชลีรัตน์ แสงสุวรรณ” ผู้ประสานงานมูลนิธิพิทักษ์สตรี ให้ข้อมูล “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ใบอนุญาตสถานประกอบการอาบอบนวดมีราคาค่อนข้างสูง เพราะไม่มีการออกใบอนุญาตใหม่ ดังนั้นจึงมีการซื้อขายกันในกลุ่มคนที่มีใบอนุญาตเดิม สำหรับการบุกตรวจค้นอาบอบนวดย่านรัชดาครั้งนี้ เป็นอีกสัญญาณที่ทำให้เห็นการฟื้นตัวของธุรกิจสีเทา หลังสถานการณ์โควิดเริ่มทุเลาลง

กรณีการบุกค้นอาบอบนวดดังกล่าวพบความผิดปกติของใบอนุญาตที่ต้องมีการตรวจสอบว่า เลขใบอนุญาตที่จดทะเบียนไว้เป็นของสถานที่ดังกล่าวหรือไม่ ขณะเดียวกันอาจมีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการที่เคยกระทำผิด ซึ่งยังไม่สามารถกลับมาเปิดใหม่ได้ แต่ด้วยลักษณะของสถานที่มีการตกแต่งแบบ VIP เพื่อรองรับผู้ใช้บริการที่มีกำลังทรัพย์สูง น่าจะเป็นอีกสัญญาณที่ทำให้เห็นว่าธุรกิจลักษณะนี้เริ่มมีผู้ใช้บริการมากขึ้น จึงต้องมีความเข้มงวดไม่ให้มีการกระทำผิดอย่างที่ผ่านมา

การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ยังเป็นคำถามจากคนในสังคม ถึงความตรงไปตรงมา เพราะหลายกรณีที่เกิดขึ้น แทนที่จะเข้าไปตรวจสอบการประพฤติผิดทางเพศ หรือมีการค้าบริการของเยาวชน แต่กลับไปตรวจสอบว่ามีการลักลอบใช้น้ำบาดาล เป็นการทำงานที่พยายามหลบเลี่ยงข้อเท็จจริง

สถานบริการอาบอบนวด ระยะหลังผู้ให้บริการมีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีการค้าประเวณีบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้สถานบริการอาบอบนวดส่วนใหญ่ทำตลาดในกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีฐานะทางการเงินสูง ขณะเดียวกันการออกไปรับงานเองก็เพื่อหลีกเลี่ยงความผิด เพราะมีช่องว่างของกฎหมายที่มุ่งเน้นลงโทษผู้ที่เป็นนายหน้าจัดหามากกว่าผู้ค้าประเวณี

“ธุรกิจนี้ยังคงมีอยู่ เพราะมีค่าตอบแทนสูง จึงมีการขายใบอนุญาต และกลับมาเปิดใหม่ ด้วยการใช้กฎหมายที่ยังมีความย้อนแย้ง ทำให้ทางหน่วยงานพยายามยื่นขอปรับเปลี่ยนกฎหมายการค้าประเวณี โดยเฉพาะประเด็นที่ทำให้ผู้หญิงค้าบริการต้องจ่ายการเรียกรับหลายทาง ทำให้ธุรกิจนี้มีผลประโยชน์แอบแฝงจำนวนมาก”

การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่ผ่านมายังมีช่องว่าง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายของ ปปง. ในการฟอกเงิน เพื่อปราบปรามการทุจริต ยังไม่ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มสงบลง ยิ่งทำให้แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาไทยมากขึ้น ดังนั้นจึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีขบวนการค้าประเวณีในกลุ่มเหล่านี้มากขึ้นด้วย.