ห้วยขวาง กรุงเทพฯ กลายเป็นแหล่งการค้าสำคัญของชาวจีน มีร้านอาหารและร้านค้าจำนวนมาก เจ้าของเป็นชาวจีน จากข้อมูลพบว่า มีร้านค้าชาวต่างชาติ 33 แห่ง 80% เป็นนายทุนจีน หลังการตรวจสอบพบ 3 ร้าน อาจเกี่ยวโยงกับทุนจีนสีเทา เครือข่าย "ตู้ห่าว" ขณะนี้เตรียมให้ตำรวจขยายผลตรวจสอบ
“ดร.ไพฑูรย์ งามมุข” ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เปิดเผยกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ขณะนี้ทำการตรวจร้านค้าในพื้นที่ ซึ่งมีของชาวต่างชาติ 33 แห่ง มี 15 แห่ง ดำเนินการไม่ถูกต้อง ได้แจ้งเตือนไปยังร้านดังกล่าว เมื่อ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา และมีร้านค้า 12 ราย เข้ามายื่นเอกสารถูกต้อง เหลือ 3 แห่ง ไม่ยอมมายื่นเอกสาร สำนักงานเขตฯ จึงมีคำสั่งปิดสถานประกอบการ โดย 2 แห่งเป็นร้านชาบู อีก 1 แห่ง เป็นร้านขายสินค้านำเข้าจากจีน
น่าแปลกใจว่า 3 ร้าน ที่ไม่มายื่นเอกสารเพิ่มเติม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุนจีนสีเทา เพราะกระบวนการตรวจสอบต่อจากนี้ ต้องแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการตรวจสอบ แรงงานที่อยู่ในร้านทั้งหมดประมาณ 20 คน ว่าเกี่ยวโยงกับขบวนการ ตู้ห่าว ในเชิงลึกหรือไม่ เนื่องจากร้านเหล่านี้ เมื่อทางเขตฯ ดำเนินการปิดแล้ว แรงงานในร้านอาจกระจายไปยังร้านอื่น ในพื้นที่ใกล้เคียง เพราะร้านของนายทุนจีน ตอนนี้เปิดกระจายอยู่ทั่วประเทศ
...
“จากการตรวจสอบได้แจ้งถึงปัญหาตามหลักเกณฑ์ด้านอนามัยของร้านค้านายทุนจีนในพื้นที่ โดยอธิบายการยื่นขอเอกสารสถานประกอบการ และแรงงานชาวจีนอย่างละเอียด ให้เวลายื่นเอกสาร 15 วัน โดยเจ้าของสถานประกอบการต้องเป็นชาวไทย แต่กรณีเป็นนอมินีค่อนข้างตรวจสอบยาก จึงต้องอาศัยอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ”
การตรวจสอบร้านอาหารนายทุนจีน ส่วนใหญ่ทำผิดในกรณี พ่อครัวชาวจีนไม่มีใบอนุญาตในการทำงาน และเกี่ยวกับสุขลักษณะการปรุงอาหาร เพราะเป็นอาชีพสงวนให้คนไทยทำ ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ไม่สามารถยื่นหลักฐานส่วนนี้ได้ ด้านเด็กเสิร์ฟ อนุญาตให้ชาวจีนสามารถทำได้ แต่ต้องมีใบอนุญาต การเข้าเมืองถูกต้อง
สำหรับร้านอาหารนายทุนจีน ที่นิยมมาเปิดมากสุด คือ ชาบูหม่าล่า มีมากบนถนนประชาอุทิศ ดังนั้น การลงพื้นที่ตรวจสอบร้านเหล่านี้ ก็เพื่อดูว่า วัตถุดิบ และเครื่องปรุง นำเข้ามาจากจีน ได้ผ่านการรับรองจาก อย. ไทยหรือไม่ หากไม่ผ่าน จะมีโทษทางความผิด
โดยเฉพาะร้านขายของชำ ที่นำเข้าจากจีน เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งถึงการกระทำผิดก่อน จะให้เจ้าของร้านชี้แจงถึงวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบ ว่าเหมาะสมหรือไม่ เช่น นำปลานำเข้าจากจีน 1 ขวด ถ้าไม่ได้รับรองจาก อย. ไทย จะมีโทษฐานความผิดตามมาได้
ทางเขตฯ เริ่มดำเนินการกวาดล้างสถานประกอบการที่ทำไม่ถูกต้อง อาจเป็นแหล่งฟอกเงินทุนจีนสีเทา รวมถึงบังคับใช้ให้กฎหมายด้านสาธารณสุข และแรงงาน ของสถานประกอบการอย่างถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้มีการกวดขันอย่างเข้มงวด เลยทำให้คราวนี้เป็นโอกาสในการจัดระเบียบร้านในพื้นที่ใหม่
“กลุ่มเครือข่ายชาวจีน ที่มาประกอบอาชีพร้านอาหารในไทย ขณะนี้มีการเชื่อมโยง กระจายไปตามหัวเมืองขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ดังนั้นการจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้ ต้องบังคับใช้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเกี่ยวโยงกับการจ่ายภาษีของรัฐ หากทำไม่ถูกต้อง จะส่งผลต่อรายได้ภาพรวมของประเทศ”
ส่วนใหญ่นายทุนจีน ที่มีการทำผิดกฎหมาย เมื่อถูกตรวจจากภาครัฐ จะดำเนินการปิดร้านทันที ทั้งที่มีการลงทุนตกแต่งร้านขนาดใหญ่ อีกด้านหนึ่งอาจมีการกระทำความผิด การนำแรงงานชาวจีนเข้ามาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจากการขึ้นทะเบียนแรงงานชาวจีน ในพื้นที่ห้วยขวาง มีประมาณ 350 คน
การเข้ามาของนายทุนจีน มีส่วนดีที่ทำให้ธุรกิจในพื้นที่เติบโต แต่ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าเป็นนายทุนจีนสีเทา ทางหน่วยงานจำเป็นที่จะต้องประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในการกวาดล้างให้หมดไปจากพื้นที่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย.