ในทางชีวภาพของโลก ระบุว่า “มนุษย์ ไม่ใช่เจ้าของโลกนี้แต่เพียงผู้เดียว”

แต่เผ่าพันธุ์มนุษย์ กลับเป็นสิ่งมีชีวิตเดียว (ในโลก) ที่มีความคิด จิตใจ และถือเป็นสัตว์นักล่า เป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ของสัตว์นานาชนิด...

เจาะเรื่องปัญหา “สิ่งแวดล้อม” กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่าน ไปพบกับความจริง เรื่องการ “ล่าสัตว์ป่า” ในประเทศไทย ที่วันนี้ ยังคงเป็นเรื่องที่ยังแก้ไม่เสร็จสิ้น

ดร.สุรพล ดวงแข นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม รองประธานมูลนิธิเพื่อนช้าง ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงปัญหา “ช้างป่า” (“ลูกช้างป่า” เหยื่อบาป การท่องเที่ยวบูม!?) และตอนนี้คือ รายงานพิเศษที่ต่อเนื่องกัน

ดร.สุรพล กล่าวว่า ปัจจุบัน ขบวนการล่าสัตว์ป่าเพื่อการค้าก็ยังดำรงอยู่ ถึงแม้ช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา จะติดปัญหาโควิด ทำให้ “ความต้องการ” ลดลง แต่..ก็มีกลุ่มคนบางกลุ่ม ยังนิยมอยู่ และสัตว์ป่าหลายชนิดยังคงเป็นเป้าหมายแห่งการไล่ล่า โดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน บ้างเพื่อการบริโภค การล่าเพื่อนำเป็นใช้ในงานเชิงการท่องเที่ยว หรือการล่า เพื่อนำมาเลี้ยงเพื่อสะสมของเหล่าเศรษฐี”

...

ล่าเพื่อการท่องเที่ยว : เป้าหมาย มักจะเป็น ลูกสัตว์ป่า เช่น ลูกเสือ ลูกชะนี ลูกลิง ลูกช้าง นกประเภทต่างๆ เช่น นกเงือก ซึ่งถือเป็นเรื่องความเข้าใจของผิดของนักท่องเที่ยว ที่คิดว่าสัตว์เหล่านี้มีที่มาที่ไปที่ถูกต้อง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะถูกแฝงเข้ามาในสวนสัตว์ และสาเหตุที่ทำให้เข้าใจผิด เพราะไม่มีการรณรงค์ให้ความรู้

ล่าเพื่อสะสม : ผู้ที่สะสมส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนที่เป็นเศรษฐี บางทีมีการอ้างว่าบินมาจากป่า จึงนำมาเลี้ยงไว้ โดยเฉพาะ นกสวยงาม อาทิ นกเงือกสีน้ำตาล ที่มีมากที่ป่า “ห้วยขาแข้ง” ซึ่งการที่เศรษฐีจะนำสัตว์เหล่านี้มาเลี้ยงได้ มีที่มาจากการ “ค้าขาย” แทบทั้งสิ้น...

มูลค่า การล่าเพื่อสะสม คิดอย่างไร รองประธานมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า ขบวนการล่าสัตว์ป่า มีผลตอบแทนเทียบได้กับขบวนการค้ายาเสพติดและอาวุธ เรื่องนี้ถือเป็นสากลเลย

“ส่วนใหญ่จะเป็นเส้นทางจากประเทศด้อยพัฒนา ไปยังประเทศพัฒนาแล้ว โดยเป้าหมายจะเป็นลูกของสัตว์ป่า หรือสัตว์ป่าที่มีราคาแพง รวมไปถึงซากสัตว์ด้วย” ดร.สุรพล กล่าว

เมื่อถามว่า “ลูกช้าง 1 ตัว” ในป่า มีมูลค่าเท่าไร หากนำออกไปจากไทยได้ รองประธานมูลนิธิเพื่อนช้าง ถึงขั้นอุทาน “โอ้โห...ก็หลายล้านบาทนะ ยกตัวอย่าง “ลิงอุรังอุตัง” ที่ถูกลักลอบส่งประเทศจีน เมื่อ 20 ปีก่อน ราคาในบ้านเราหลักหมื่นบาท แต่เมื่อไปจีน 1 ตัว 3-4 ล้านบาท ถ้ายิ่งเป็นช้าง ราคาน่าจะมากกว่าแน่นอน”

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากสัตว์เหล่านี้ถูกนำมาขายในตลาดมืด จะราคาแพงกว่าการซื้อขายอย่างถูกต้องนับร้อยเท่า

“ลูกลิงอุรังอุตัง จากประเทศอินโดฯ ลักลอบขนขึ้นเรือมา ราคาหลักพันบาท เมื่อเข้าไปแอบซ่อนในสวนสัตว์ ราคา 2-3 หมื่นบาท แต่เมื่อไปถึงปลายทางสวนสัตว์ประเทศจีน ราคา 2-3 ล้าน เรียกว่าสูงขึ้นเป็นร้อยเท่า”

ล่าเพื่อบริโภค : ตัวนิ่ม ยังเป็นสัตว์ป่าเป้าหมายในการล่าเพื่อบริโภค โดยเฉพาะส่วนเนื้อและเกล็ดที่จะถูกนำไปปรุงยา ทั้งนี้ ตัวนิ่ม อาศัยอยู่ตามป่าทั่วไปในประเทศไทย

ดร.สุรพล อธิบายว่า ในช่วงหลัง ตัวนิ่มในประเทศไทย เหลือน้อยลงมาก จึงต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย ซึ่งตอนนี้คาดว่าอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท ซึ่งนิ่ม 1 ตัว หนักประมาณ 10 กิโลกรัม ฉะนั้น นิ่มจึงตัวละประมาณ 30,000 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มมาก เพราะตัวนิ่มนั้นจับง่าย เพราะคนล่าก็รู้ที่อยู่อาศัย เช่น ถ้ำ หรือหากเป็นกลางคืน ถ้ารู้เส้นทาง ก็ไปดัก พอมันเห็นคนก็จะขดตัว เราก็จับมันได้ง่ายๆ เลย ไม่จำเป็นต้องวางกับดัก

...

นอกจากนี้ นิ่ม ที่เป็นสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อบริโภคแล้ว ก็มี เต่า ตะพาบน้ำ เสือ ซึ่งที่ผ่านมา มีการชำแหละเสือเพื่อแช่แข็ง

“ในขบวนการล่าเพื่อบริโภคนั้น 'เสือ' ถือเป็นสัตว์ป่าที่ถูกล่าและนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง ทั้งในการท่องเที่ยวด้วย เพราะหากเป็นลูกเสือก็เอามาถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวได้ พอเริ่มโต ก็อาจจะถูกกำจัด ด้วยการแปรรูป ที่ผ่านมา ก็มีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ บริเวณชายแดนไทย-ลาว”

ส่วนคนที่บริโภค เราๆ ท่านก็ทราบ คือ หลักๆ ก็เป็นกลุ่มคนจีน ซึ่งก็มีหลายตลาดก็รับอยู่ นอกจากที่เป็นข่าวชื่อดังที่ “อู่ฮั่น” ส่วนหนึ่งเพราะเป็นอาหารที่ยอดนิยม จึงกลายเป็นที่ต้องการ...

ขบวนการค้าสัตว์ป่า กับสวนสัตว์ 

ดร.สุรพล กล่าวว่า ปัจจุบัน มีสวนสัตว์ที่เป็นของเอกชน กว่า 50 แห่ง บางแห่งแทบไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยว คือ เรียกว่า “แทบอยู่ไม่ได้” แต่ทำไมบางแห่งเขายังอยู่ได้ และก็มีหลายครั้ง ที่เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจก็พบว่า ไม่มีหลักฐานมาแสดง ว่าเป็นสัตว์ที่เกิดจากพ่อแม่ตัวใด

“ถึงแม้จะมีการตรวจ แต่...ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าหน้าที่มีกำลังไม่เพียง ทำให้ตรวจไม่เจอ แต่ก็มีบางเคสที่ตรวจพบ เช่น เจออุรังอุตัง มากกว่า 400 ตัว ในสวนสัตว์แห่งหนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องที่หลายคนลืมไปแล้ว ทั้งนี้ ขบวนการค้าสัตว์ป่า สิ่งสำคัญ คือ “ที่เก็บ” และโดยมากก็มักจะเก็บใน “สวนสัตว์” ขณะที่ เจ้าหน้าที่ก็มีมุมมองว่า การสุ่มตรวจในสวนสัตว์จะไปตรวจเมื่อไหร่ก็ได้ จึงพุ่งเป้าไปที่ตลาดค้าสัตว์แถบชายแดน แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็มีวิธีการหลบเลี่ยง เหมือนขบวนการค้ายาเสพติด”

...

แก๊งค้าสัตว์ป่า อาศัยช่องโหว่ที่เจ้าหน้าที่มีกำลังจำกัด อีกทั้งกลุ่มคนเหล่านี้ ยังจำเจ้าหน้าที่ได้แทบทุกคน เวลาเจ้าหน้าที่ขยับจะทำอะไร ก็มักจะรู้ล่วงหน้า...การจะหวังพึ่งตำรวจก็ทำได้ยาก เนื่องจากตำรวจ จะไม่รู้จักสัตว์ป่าแบบลึกซึ้ง ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่ามีการตรวจสอบช้าง หากให้ดูตั๋วรูปพรรณช้าง ตำรวจจะแยกออกหรือไม่ เรื่องแบบนี้จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญ

ดร.สุรพล กล่าวว่า ชาวบ้านเอง อยากจะช่วยเหลือ แจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ทราบ แต่...การข่าวลักษณะนี้มักเชื่อมโยงกับปัญหาคอร์รัปชัน ฉะนั้น เมื่อมีการแจ้ง เจ้าหน้าที่ก็มักถาม ชื่อ นามสกุล หรือขอเบอร์โทร. กลับ ผู้แจ้ง จึงทำให้ผู้แจ้งเกรงว่าจะเกิดอันตราย จึงไม่กล้า

“ยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าว “การเรียกสินบน” ในวงการเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีก ยิ่งทำให้ประชาชนไม่มั่นใจที่จะให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เรื่องนี้ ผู้บริหารจำเป็นต้องมีมาตรการชัดเจนในการสั่งการ และแก้ปัญหา”ดร.สุรพล ทิ้งท้าย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

...

กราฟิก : sathit chuephanngam

อ่านบทความที่น่าสนใจ