การผงาดขึ้นนั่งแท่นจ่าฝูงหลังผ่านไปครึ่งฤดูกาลของพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ทั้งๆที่เป็นทีมที่อุดมไปด้วยนักเตะดาวรุ่งที่มีค่าเฉลี่ยอายุเพียง 24.9 ปี กลายเป็น “เซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่” ประจำฤดูกาล 2022-2023 ไปโดยปริยาย และในท่ามกลางเสียงอื้ออึงไปทั่วทั้งแผ่นดินเมืองผู้ดีว่า “มันเกิดอะไรขึ้นที่เอมิเรตส์ สเตเดียมกันแน่?” วันนี้ “เรา” ลองลงลึกไปดู “ค่าสถิติต่างๆ” ที่บ่งชี้ถึง พัฒนาการที่ดีวันดีคืน ของ สโมสรปืนใหญ่ “อาร์เซนอล” เพื่อพยายามค้น “คำตอบ” ที่ว่า “เหตุใดพลพรรคปืนโตจึงช่างเปล่งประกายและแสนไฉไลจนกลับมาลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกได้อีกครั้งในรอบหลายสิบปีกันแน่?”
...
พัฒนาการสถิติการคุมทีมของ มิเกล อาร์เตตา (Mikel Arteta) :
“มิเกล อาร์เตตา” เข้ารับงานที่ “เอมิเรตส์ สเตเดียม” เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2019 โดยในฤดูกาล 2019-2020 นั้น กุนซือหนุ่มผู้นี้พา “เดอะ กูนเนอร์ส” ทำสถิติในลีกด้วยการลงแข่ง 20 นัด ชนะ 9 นัด เสมอ 6 นัด แพ้ 5 นัด (ชนะ 45% แพ้ 25%)
ส่วนฤดูกาล 2020-2021 ซึ่งถือเป็นฤดูกาลที่คุมทีมปืนใหญ่อย่างเต็มตัวนั้น ทำสถิติแข่ง 38 นัด ชนะ 18 นัด เสมอ 7 นัด แพ้ 13 นัด (ชนะ 47.37% แพ้ 34.21%)
ฤดูกาล 2021-2022 ทำสถิติแข่ง 38 นัด ชนะ 22 นัด เสมอ 3 นัด แพ้ 13 นัด (ชนะ 57.89% แพ้ 34.21%)
และในฤดูกาลนี้ เมื่อผ่านไปครึ่งทางของพรีเมียร์ลีก 19 นัด พลพรรคปืนโตทำสถิติสุดหรูหราด้วยการลงแข่ง 19 นัด ชนะถึง 16 นัด เสมอ 2 และแพ้ไปเพียง 1 นัดถ้วน! (ชนะ 81.48% แพ้ 11.11%)
ทำให้เมื่อรวมสถิติการคุมทีมของ “อาร์เตตา” เฉพาะในพรีเมียร์ลีก ลงเล่นไปรวม 115 นัด สร้างสถิติชนะได้มากถึง 56.52% และแพ้เพียง 27.83%
จากสถิติที่เพิ่งผ่านสายตาไปจะเห็นได้ว่า เปอร์เซ็นต์การพาทีมอาร์เซนอลพบกับคำว่า “ชัยชนะ” ในพรีเมียร์ลีกมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี (45%, 47.37%, 57.89%, 81.48%) สิ่งนี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การติดตั้งรูปแบบการเล่นเกมรุกเพื่อคว้าชัยให้กับทีมประสบความสำเร็จมากขึ้นและมากขึ้นในทุกๆ ปี จนทำให้คะแนนที่อาร์เซนอล ได้รับในแต่ละฤดูกาลค่อยๆ เขยิบขึ้นในทุกๆ ปีด้วย จาก 56 คะแนน สู่ 61 คะแนน, 69 คะแนน และล่าสุดในฤดูกาลนี้เพิ่งเล่นไปแค่ 19 นัด นักเตะปืนโตทำคะแนนในตารางพรีเมียร์ลีกไปแล้วถึง 50 คะแนน หรือ 72.46% ของคะแนนที่มากที่สุดเท่าที่ “อาร์เตตา” เคยคุมอาร์เซนอลมาเมื่อฤดูกาลที่แล้ว (69 คะแนน) ที่สำคัญไปกว่านั้น หลังผ่านไปเพียงครึ่งฤดูกาล ทีมชุดล่าสุดของอาร์เตตา กระหน่ำประตูในลีกรวมกันแล้วถึง 45 ประตู หรือ 73.77% จากประตูรวมในลีกทั้งหมดที่อาร์เซนอลทำได้เมื่อฤดูกาลที่แล้ว (61ประตู) ด้วย!
...
นักเตะ Key Man เกมรับ :
“อารอน แรมส์เดล” (Aaron Ramsdale) ผู้รักษาประตู :
จากนายทวารที่ถูกตั้งเครื่องหมายคำถามว่า เพราะเหตุใดอาร์เซนอล จึงต้องยอมขนธนบัตรมากกว่า 30 ล้านปอนด์ไปสู่ขอนายทวารดาวรุ่งจากทีมเล็กๆ อย่าง เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เพื่อมานั่งเป็นตัวสำรองของ แบรนด์ เลโน กันด้วย? หากแต่คำตอบที่ “อาร์เตตา” ตอกกลับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คือ เขาซื้อนายทวารหนุ่มชาวอังกฤษผู้นี้ มาเป็น “ผู้พิทักษ์ประตูประจำเอมิเรตส์ สเตเดียม ต่างหากล่ะ!” และนี่ พัฒนาการด้านผลงานที่ “อารอน แรมส์เดล” ตอบแทนเจ้านายของเขา
ฤดูกาล 2021-2022 : “อารอน แรมส์เดล” ลงเล่นในลีกรวม 34 นัด เก็บ Clean Sheets 12 นัด เสียประตูรวม 39 ประตูจากทั้งหมด 48 ประตูตลอดฤดูกาล (ค่าเฉลี่ยเสียประตูต่อเกม 1.15 ประตู) และมีค่าเฉลี่ยในการป้องกันเมื่อถูกยิงประตูเข้ากรอบ 73.4% ส่วนการทำหน้าที่ออกมาสกัดบอลนอกกรอบเขตโทษ (Sweeper Clearances) ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมของผู้รักษาประตูยุคใหม่ รวม 21 ครั้ง
...
ในขณะที่ผ่านไปครึ่งทางของฤดูกาลนี้ 2022-2023 “อารอน แรมส์เดล” ลงเล่นเต็ม 19 นัด เก็บ Clean Sheets ไปแล้วถึง 9 นัด และเพิ่งเสียประตูในลีกไปเพียง 16 ประตู (ค่าเฉลี่ยเสียประตูต่อเกม 0.84 ประตู) และมีค่าเฉลี่ยในการป้องกันเมื่อถูกยิงประตูเข้ากรอบ 75.9% และมีสถิติการออกมาสกัดบอลนอกกรอบเขตโทษ (Sweeper Clearances) รวมแล้ว 11 ครั้ง เห็นสถิติแบบนี้คงบอกได้คำเดียวว่า 30 ล้านปอนด์คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มสำหรับนายทวารสัญชาติอังกฤษวัยเพียง 24 ปี
“กาเบรียล มากัลเญส” (Gabriel Magalhaes) เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ :
นับตั้งแต่ไร้เงาของ “โทนี อดัมส์” หรือ “โซล แคมป์เบลล์” อาร์เซนอล ก็ไม่เคยมีเซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่สามารถไว้ใจได้อีกเลย แต่แล้วการทุ่มเงินถึง 27 ล้านปอนด์กับ “เจ้านายคนใหม่ของแผงหลัง” อย่าง “กาเบรียล มากัลเญส” ตั้งแต่เมื่อฤดูกาล 2020-2021 ก็ผลิดอกออกผล
โดยสถิติการลงเล่นในลีกให้กับอาร์เซนอล ของ กองหลังสัญชาติบราซิล เมื่อฤดูกาล 2021-2022 นั้น ลงเล่นไป 35 นัด เก็บ Clean Sheets ได้ 12 นัด และมีค่าเฉลี่ยการเข้าสกัดชนะคู่แข่ง 60% แย่งบอลจากคู่แข่งได้รวม 13 ครั้ง เตะสกัดบอลออกจากพื้นที่กรอบเขตโทษได้รวม 109 ครั้ง โดยในจำนวนนี้เป็นการโหม่งสกัด 61 ครั้ง (55.96%)
...
ส่วนในฤดูกาลนี้ (2022-2023) ผ่านไปครึ่งฤดูกาล “กาเบียล มากัลเญส” ลงเล่นในลีกครบทั้ง 19 นัด เก็บ Clean Sheets ได้ถึง 9 นัด มีค่าเฉลี่ยการเข้าสกัดชนะคู่แข่ง 73% แย่งบอลจากคู่แข่งได้รวม 17 ครั้ง เตะสกัดบอลออกจากพื้นที่กรอบเขตโทษได้รวม 67 ครั้ง และในจำนวนนี้เป็นการโหม่งสกัดถึง 41 ครั้ง (61.19%) จากสถิตินี้คงบอกได้อย่างชัดเจนแล้วมั่งว่า “เฟอร์จิล ฟานไดค์” เวอร์ชันบราซิล ผู้นี้คือใคร?
“โธมัส ปาร์เตย์” (Thomas Partey) มิดฟิลด์ Box to Box :
ครบเครื่อง เร็วแรงและดุดันแบบไม่เกรงใจใคร น่าจะเป็นคำจำกัดความที่แสนเหมาะสมสำหรับมิดฟิลด์ร่างทองในฤดูกาลนี้อย่างแท้จริงของเหล่ากูนเนอร์! โดยสถิติเกมรับของมิดฟิลด์วัย 29 ปี สัญชาติกานา เมื่อฤดูกาลที่แล้ว (2021-2022) ลงเล่นในลีกไปรวม 24 นัด ในแง่ของเกมรับ มีค่าเฉลี่ยการเข้าสกัดชนะคู่แข่ง 73% แย่งบอลจากคู่แข่งได้รวม 23 ครั้ง ทำฟาวล์คู่แข่งรวม 33 ครั้ง ส่วนการมีส่วนร่วมในเกมรุกนั้น "โธมัส ปาร์เตย์" ทำสถิติยิง 2 ประตู กับ 1 Assists โดยมีสถิติการผ่านบอลรวม 1,205 ครั้ง หรือ 50.21 ครั้งต่อเกม
ส่วนในฤดูกาลนี้ (2022-2023) “โธมัส ปาร์เตย์” ลงเล่นในลีกรวม 16 นัดจากทั้งหมด 19 นัด ยิงได้แล้ว 2 ประตู โดยมีสถิติการผ่านบอลรวม 1,042 ครั้ง หรือ 65.13 ครั้งต่อเกม ส่วนการเล่นเกมรับนั้น มีค่าเฉลี่ยการเข้าสกัดชนะคู่แข่ง 61% แย่งบอลจากคู่แข่งได้รวม 19 ครั้ง ทำฟาวล์คู่แข่งรวม 17 ครั้ง ซึ่งจากสถิติแบบนี้คงบอกได้คำเดียวว่า หากอาร์เซนอลคิดจะเป็นแชมป์ในฤดูกาลนี้ “โธมัส ปาร์เตย์” ต้องห้ามเจ็บอย่างเด็ดขาด
นักเตะ Key Man เกมรุก :
“มาร์ติน โอเดการ์ด” (Martin Odegaard) มิดฟิลด์ตัวรุก :
นักเตะ Wonder Kid สัญชาตินอร์เวย์ ที่ไม่รู้จะไปเสียเวลาทำไมกับ “รีล มาดริด” มาตั้งนาน ได้ฉายแสงอย่างเจิดจรัสอย่างที่ควรจะเป็นมาตั้งนานแล้วเสียทีกับ อาร์เซนอล นี่คือ นักเตะหมายเลข 10 ในแบบที่ “อาร์เตตา” ตามหามาเนิ่นนาน ทั้งชาญฉลาดในการจ่ายบอล, เทคนิคแพรวพราว ยิงประตูได้เฉียบคม และเล่นเพื่อทีมอย่างแท้จริง โดยฤดูกาลที่แล้ว (2021-2022) มิดฟิลด์จอมทัพผู้นี้ ลงเล่นในลีกไปรวม 36 นัด ยิงได้ 7 ประตู กับอีก 4 Assists มีสถิติการผ่านบอลรวม 1,559 ครั้ง (ค่าเฉลี่ยต่อนัดอยู่ที่ 43.31 ครั้ง) โดยในจำนวนนี้เป็นการผ่านบอลทะลุช่อง 19 ครั้ง และจ่ายบอลยาวผ่านแนวรับคู่แข่งสำเร็จอีก 43 ครั้ง ส่วนการมีส่วนร่วมในเกมรับนั้น มีค่าเฉลี่ยการเข้าสกัดชนะคู่แข่ง 43%
ขณะที่ในฤดูกาลนี้ (2022-2023) “มาร์ติน โอเดการ์ด” ลงเล่นในลีกครบ 19 นัด ยิงไปแล้ว 8 ประตู และเก็บได้อีก 5 Assists ซึ่งสูงกว่าที่ทำได้เมื่อฤดูกาลที่แล้วรวมกันเสียอีก! ส่วนสถิติการผ่านบอล นั้น ผ่านบอลไปรวม 767 ครั้ง (ค่าเฉลี่ยต่อนัดอยู่ที่ 42.61 ครั้ง) โดยในจำนวนนี้เป็นการผ่านบอลทะลุช่อง 13 ครั้ง และจ่ายบอลยาวผ่านแนวรับคู่แข่งสำเร็จอีก 28 ครั้ง และไม่เพียงเท่านั้นในแง่การเล่นเกมรับ ดาวเตะอัจฉริยะคนนี้ยังมีค่าเฉลี่ยการเข้าสกัดชนะคู่แข่งถึง 68% อีกด้วย! เรียกว่า พัฒนาดีขึ้นมากๆ ทั้งเกมรับและเกมรุก และเพราะเล่นได้ดีถึงเพียงนี้ ดาวรุ่งสัญชาติอังกฤษที่ “มิเกล อาร์เตตา” อุตสาห์บรรจงมอบเบอร์ 10 ให้สวมใส่อย่าง “เอมิล สมิธ โรว์" ซึ่งฉายแววอัจฉริยะออกมาได้อย่างน่าจับตาเช่นกัน จึงต้องไปนั่งสำรองอย่างน่าเสียดายในฝีเท้า
“บูกาโย ซากา” (Bukayo Saka) ตัวรุกริมเส้น :
ฟอร์มเดือดทะลุปรอท หากไม่นับ “มาร์คัส แรชฟอร์ด” ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแล้ว “บูกาโย ซากา” คือ นักเตะอังกฤษที่ฉายแสงอย่างเจิดจรัสที่สุดในลีกฤดูกาลนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นทั้งการลากเลื้อยและยิงประตู ปีกทีมชาติอังกฤษผู้นี้ ทำได้อย่างแทบไม่มีที่ติ แถมยังมักชอบโผล่มายิงประตูสำคัญๆ ที่ทีมจำเป็นต้องได้ชัยชนะให้กับทีมได้บ่อยๆ เสียด้วย โดยฤดูกาลที่แล้ว (2021-2022) “พ่อหนุ่มซากา” ลงเล่นครบทุกนัด 38 นัด ยิงไป 11 ประตู กับอีก 7 Assists โดยในจำนวนนี้เป็นการยิงด้วย เท้าขวา 1 ประตู เท้าซ้าย 10 ประตู และมีค่าเฉลี่ยความแม่นยำในการยิงประตู 32% ส่วนในเรื่องการทำเกมรุก นั้น “บูกาโย ซากา” ทำสถิติ ผ่านบอลรวม 1,062 ครั้ง (ค่าเฉลี่ยต่อนัด 27.95 ครั้ง) โดยในจำนวนนี้เป็นการครอสบอลจากริมเส้นรวม 110 ครั้ง
ส่วนในฤดูกาลนี้ (2022-2023) ปีกจรวดสัญชาติอังกฤษ ลงเล่นครบทั้ง 19 นัด ยิงไปแล้ว 7 ประตู และเก็บอีก 7 Assists โดยในจำนวนนี้เป็นการยิงด้วย เท้าขวา 2 ประตู เท้าซ้าย 5 ประตู และมีค่าเฉลี่ยความแม่นยำในการยิงประตู 36% ส่วนการมีส่วนร่วมในเกมรุก ทำสถิติ ผ่านบอลรวม 605 ครั้ง (ค่าเฉลี่ยต่อนัด 31.84ครั้ง) โดยในจำนวนนี้เป็นการครอสบอลจากริมเส้นรวมแล้ว 81 ครั้ง จากสถิตินี้เห็นได้ชัดเจนว่าพ่อหนุ่มคนนี้กำลังดีวันดีคืน และสามารถทดแทนการทำหน้าที่ยิงประตู ในยามที่ “กาเบรียล เฆซุส” ศูนย์หน้าตัวเก่งของทีมได้รับบาดเจ็บได้อย่างไร้รอยต่อด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก Anon Chantanant
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง