กลับมาเดือดอีกครั้ง กรณีเด็ก 16 ขับรถหรูฝ่าไฟแดงไปชนหนุ่มวัย 24 ปี บัณฑิตวิศวะเกียรตินิยมที่เพิ่งจบใหม่ๆ จนเสียชีวิตขณะขี่มอเตอร์ไซค์ เมื่อกลางดึกวันที่ 30 ก.ย. 2565 แต่ผ่านไปกว่า 4 เดือน ดูเหมือนว่าเด็กผู้ก่อเหตุยังคงใช้ชีวิตปกติ ลงอินสตาแกรมโชว์ประกาศนียบัตรผ่านการคัดเลือกเป็นนักกีฬาเทนนิสเยาวชนทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี ประจำปี 2566

ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนแฮชแท็ก #เด็ก16ผ่าไฟแดงชนคนตาย และ #เด็ก16ชนคนตาย กลับมาติดเทรนด์ทวิตเตอร์อีกครั้ง มีการเรียกร้องไปยังสมาคมกีฬาลอนเทนนิสฯ จะต้องชี้แจงว่าเด็กผู้ก่อเหตุผ่านการคัดเลือกได้อย่างไร เพราะคุณสมบัตินักกีฬาทีมชาติต้องมีความประพฤติเรียบร้อย ตามมาด้วยหลายๆ ความเห็นที่ดุเดือดเลือดพล่าน ในทำนองที่ว่าคนตายหมดอนาคต ครอบครัวไม่มีเสาหลัก สูญเสียครั้งใหญ่ แต่คนชนมีอนาคตไปไกลใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และทางสมาคมกีฬาลอนเทนนิสฯ ก็ยังอ้าแขนสนับสนุน

ที่ผ่านมาครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งมีฐานะยากจน ต้องสูญเสียลูกชายที่เป็นเสาหลักของบ้าน ยังไม่ได้เงินเยียวยาที่เรียกร้องไปจำนวน 15 ล้านบาท ได้มาแค่เงินประกันจากพ.ร.บ.ของคู่กรณีเท่านั้น นำมาใช้จ่ายค่าทำศพประมาณ 3 แสนบาท เพราะพ่อเด็ก 16 ผู้ก่อเหตุอ้างว่าเงินมากมายขนาดนั้นคงไม่มีให้เป็นก้อน คงต้องให้ฟ้องร้องทางแพ่งกันเอาเอง

...

ขณะที่พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ระบุว่า กรณียินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่เหมาะสม หรือมีประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด ผู้ปกครองต้องมีความผิดด้วย มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดทางแพ่ง มาตรา 429 ระบุหากผู้เยาว์ทำละเมิดจนเกิดความเสียหาย ผู้ปกครองต้องรับผิดร่วมด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล จึงไม่ต้องรับผิดชอบ

ดราม่าที่เกิดขึ้นมองว่าเด็กผู้ก่อเหตุ ยังไม่ได้รับโทษ และผู้ปกครองจะต้องมีความผิดด้วย รวมถึงไม่ยอมจ่ายค่าเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต จึงไม่สมควรได้รับเลือกให้ติดทีมชาติไทย ซึ่งในเรื่องนี้ “รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า การจะให้โอกาสเด็กวัย 16 รายนี้ เป็นตัวแทนทีมชาติไทยหรือไม่นั้น แยกออกเป็น 3 ประเด็น โดยประเด็นแรกคนกระทำผิดแม้เป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ไม่มีใบขับขี่ แต่ได้ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ต้องรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดแน่ๆ ตามกฎหมาย เมื่อทำผิดต้องถูกจับ และตัวเองต้องยอมรับว่าทำความผิดด้วย

“ถ้าถูกละเลยและสังคมไม่ว่าอะไร ก็จะทำให้กฎหมายไม่มีความเข้มแข็ง ซึ่งสังคมต้องออกมาทำให้เยาวชนมีการเรียนรู้จากการกระทำผิด ขนาดมอเตอร์ไซค์ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่ แต่ก็ปล่อยให้ขับทั่วบ้านทั่วเมือง เหมือนปล่อยให้ลูกอายุ 16 ขับรถยนต์ ทั้งๆ ที่ควรสอนให้เด็กเคารพกฎหมายตั้งแต่เด็ก เท่ากับการสอนให้รู้จักการรับผิด เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ควรใช้วิธีเบ่งใช้อำนาจ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี”

ประเด็นที่สอง กรณีเยาวชนทำผิดก็ต้องลงโทษ เพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีการแก้ปรับปรุง ขอโทษสังคมแล้วหรือยัง และยังมีพฤติกรรมเช่นนี้อีกหรือไม่ หากมีความตระหนักพยายามเดินหน้าแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ก็สามารถกลับมาเป็นนักเทนนิสทีมชาติได้ และผู้ใหญ่ไม่ควรช่วยจนทำให้เด็กเข้าใจผิด ไม่กลับมาเป็นคนดี แต่ควรใช้โอกาสนี้ทำให้เด็กสำนึกที่ทำผิดในวันนั้น ต้องปรับแก้และพัฒนาตัวเอง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี และสังคมควรเรียกร้องให้คนทำผิดมาแล้ว จะมีสำนึกอย่างไร ถ้ายังไม่ทำก็ต้องทำ เพื่อก้าวไปข้างหน้า

...

ประเด็นที่สาม เรื่องทั้งหมดจะกล่าวโทษว่าเด็กอายุ 16 รายนี้ ไม่รู้จักสำนึกและเข้ามาเป็นทีมชาติได้อย่างไร แต่ทั้งหมดอยู่ที่ผู้ใหญ่วางไว้ ทั้งการซื้อรถให้ลูกขับ ทำให้คนตายเป็นการจงใจ เพราะเมาแล้วขับกระทำผิดตั้งแต่แรก ไม่ใช่การประมาทกลายเป็นอาชญากรรม ตำรวจก็ไม่จับ และใบขับขี่ก็ไม่มี ซึ่งผู้ใหญ่ควรทำให้กฎหมายที่มีเนื้อหาเดียวกัน มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่มีการละเว้น ทั้งที่กฎหมายมีกระบวนการคุ้มครองเยาวชน ทั้งการขึ้นศาล เข้าสถานพินิจ หรือคุมประพฤติ จะต้องไม่ขับขี่ และมีการรายงานตัว แต่กลับไม่ทำ เพราะผู้ใหญ่ทั้งนั้น

“ผู้ใหญ่ควรช่วยให้เด็กมีโอกาสในอนาคต โดยการให้ขึ้นศาลตามกระบวนการ ให้เด็กมีสำนึก ก่อนให้เป็นทีมชาติ จะโทษเด็กไม่ได้ ต้องโทษผู้ใหญ่ที่สอนไม่ให้เคารพกฎหมาย เมื่อเด็กผิดก็ว่าไปตามผิด เพราะกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดสำนึกกลับมาเป็นคนดีที่มีคุณภาพ จะเป็นประโยชน์ 2 เด้ง จากคนที่เคยกระทำผิดแล้วมีสำนึก ปรับปรุงตัวเองให้เป็นตัวอย่างที่ดี จนได้เป็นทีมชาติ”

สิ่งที่เกิดขึ้นพ่อแม่มีส่วนสำคัญมาก ในการอบรมบ่มเพาะให้ลูกรู้จักเรียนรู้ แม้อาจไม่สามารถควบคุมลูกได้เมื่อเป็นวัยรุ่น แต่ก็มีพ่อแม่ส่วนหนึ่งอาจสนับสนุนลูกจนมีส่วนทำให้เด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และในส่วนสมาคมกีฬาลอนเทนนิสฯ ซึ่งมีผู้ใหญ่หลายคนคอยดูแลเด็กรายนี้ในช่วงเวลาหนึ่งเหมือนเป็นพ่อแม่ หากรู้เรื่องที่เกิดขึ้นควรต้องแก้ไขปัญหา หรือคนเป็นโค้ช ก็มีส่วนสอนเด็กให้เป็นตัวอย่างที่ดี และมีความรับผิดชอบ อย่าสนับสนุนให้เดินทางที่ผิด ก่อนจะพิจารณาให้เป็นตัวแทนทีมชาติ จะต้องให้เด็กปรับปรุงตัวเองเสียก่อน ไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก.

...