ช่วง “โควิด-19” ระบาด 2-3 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทย “ไร้นักท่องเที่ยว” ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนมากมายได้รับผลกระทบ แต่...ในเรื่องร้ายๆ ก็ยังมีสิ่งดีๆ เพราะธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ ที่เคยถูก “ทำลาย” โดยตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจ ได้โอกาสฟื้นตัวกลับมา

ผลดีจากการฟื้นตัวของธรรมชาติ คือ สัตว์ป่านานาชนิด ที่เคยขาดแคลนอาหาร ก็เริ่มอิ่มหนำอุดมสมบูรณ์มากขึ้น แต่...ช่วงที่ผ่านมา เรากลับยังเห็นช้างป่า โผล่ออกมา ไล่ทำร้ายคน ทำร้ายรถที่ผ่านสัญจร บางครั้งถึงกับขึ้นไปนั่งบนรถยนต์ของนักท่องเที่ยวเลย

สิ่งที่เกิดขึ้น “สะท้อน” ให้เห็นอะไร...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านร่วมพูดคุยกับกูรูช้างไทย ดร.สุรพล ดวงแข นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม รองประธานมูลนิธิเพื่อนช้าง เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน ไม่มีการเก็บสถิติตัวเลขช้างป่าอย่างจริงจัง แต่จากข้อมูลเก่าหลายปีก่อน คาดว่า ยังมีประมาณ 3,000-3,500 ตัว โดยกระจายอาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

ดร.สุรพล ระบุว่า จำนวนช้างป่าในปัจจุบัน คงไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงมาก แต่ประเด็นสำคัญ คือ เราพบเห็นช้างมากขึ้น โดยเฉพาะที่เขาใหญ่ แต่...สิ่งที่เห็นไม่ได้แปลว่า “ช้างเพิ่มขึ้น” แต่มาจาก ช้าง “ถูกรบกวน” จากคนที่เข้าไปในพื้นที่ป่า เพื่อหาของป่า หรือ เพื่อการท่องเที่ยว ทำให้ช้างที่เคยอยู่ในป่า ก็เดินออกมาที่ชายขอบป่า หรืออาจจะออกมากินพืชไร่ของชาวบ้าน

“สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การสะท้อนถึง “ความไม่สะดวก” ในการใช้ชีวิตของช้างป่า เพราะหลบหลีกไม่สะดวกแล้ว จึงออกมาหาพื้นที่ ที่ง่ายกว่า กล่าวคือ ช้างได้เรียนรู้ว่า หากพื้นที่ใด ออกมาแล้ว “คน” ไม่สามารถทำร้ายได้ พื้นที่นั้นๆ ช้างก็จะออกมาให้เราเห็นบ่อย”

...

ส่วนหนึ่งเพราะ “ช้าง” ออกมาข้างถนน เพราะ “อาหาร” ในป่าไม่พอ?

รองประธานมูลนิธิเพื่อนช้าง ปฏิเสธทันที เนื่องจากสมมติฐานดังกล่าวไม่ถูกต้อง ที่ผ่านมา เคยมีนักวิชาการไปทำข้อมูล และยังเป็นข้อมูลที่อัปเดต พบว่า ในป่านั้นยังมีอาหารเพียงพอสำหรับช้าง แต่ “ความปลอดภัย” ในป่าต่างหากที่ไม่เพียงพอ!

ปกติแล้ว “ช้างป่า” จะทำการย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาล ฉะนั้น แปลว่า ช้างไม่ได้ขาดน้ำ หรือ อาหาร เพราะการย้ายถิ่นของเขาจะไปหาพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในเรื่องการกิน ฉะนั้น การที่คนที่เข้าไปทำโครงการ “แหล่งน้ำ” ให้สัตว์ป่า บางครั้งถือเป็นการสร้างปัญหาให้กับสัตว์ป่าด้วย เพราะสัตว์ป่า เขาจะมีเส้นทางเดิน เส้นทางหากินอยู่แล้ว

ปัญหาของ “ช้าง” มาจากความไม่เข้าใจของ “คน”

ดร.สุรพล กล่าวด้วยน้ำเสียงซีเรียสว่า ปัญหาของช้าง จริงๆ ในเวลานี้มาจาก “ความไม่เข้าใจ” ของคน ไม่เข้าใจในการจัดการพื้นที่ เพราะ “คน” มองว่า “ช้าง” โง่ เหมือน วัว ควาย

ในความเป็นจริงนั้น ช้าง มีความคิด และฉลาดกว่าวัว ควายมาก และรับรู้ความรู้สึกของคนได้มากกว่า วัว ควาย ฉะนั้น ช้าง จึงมีอารมณ์ความรู้สึก สามารถโต้ตอบ ได้ ยกตัวอย่าง กรณีเกิดขึ้นที่เขาใหญ่ ที่ไล่ทุบรถ นั่งทับรถยนต์ แค้น จักรยานยนต์ที่เสียงดัง ดังนั้น ความรู้สึกเจ็บแค้น ของช้าง มีพอๆ กับคน

หากมนุษย์ ไม่เข้าใจ ปัญหาจึงตามมา เพราะมนุษย์ไม่เข้าใจความรู้สึกช้าง การที่รถมอเตอร์ไซค์ ขับแบบส่งเสียงดัง เมื่อช้างได้ยิน ก็จะพุ่งใส่ทันที ซึ่งต่างจากสัตว์อื่นที่เจอมนุษย์รบกวน เสียงดังๆ ก็มักจะวิ่งหนี ซึ่งถือเป็นการแสดงออกด้านสติปัญญา

ลูกช้างป่าถูกยิงบาดเจ็บ
ลูกช้างป่าถูกยิงบาดเจ็บ

ดังนั้น ในสมัยโบราณ เมื่อเราเจอช้างที่ทำร้ายคน “หมอควาญช้าง” ก็มักจะใช้วิธีการ “จับ” ช้างตัวนั้นออกมาจากป่า ซึ่งการทำแบบนี้เหมือนทำให้ช้างเรียนรู้ และกลัว ซึ่งการปราบ บางครั้งก็ใช้ช้างบ้าน ที่มีความสามารถในการต่อสู้ เมื่อสู้เสร็จ ก็จะถูกจับตัวออกจากป่า และทำช้างป่าตัวอื่นๆ อาศัยอยู่ร่วมกันได้

...

นี่คือ สิ่งที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่าง “คนกับช้าง” สิ่งที่เกิดขึ้น จึงทำให้ช้างป่าบางส่วนไม่มีพฤติกรรมเกเร เพราะเขาได้เรียนรู้ว่า หากเกเร ก็อยู่ในป่าไม่ได้เหมือนกัน เพราะจะมีคนมาปราบ

ปัญหาการ “ล่าช้าง” และ การสวมทะเบียนช้าง

เมื่อถามว่า ปัจจุบัน ยังพบปัญหาการ “ล่าช้าง” และ “สวมทะเบียนช้าง” อยู่หรือไม่ กูรูช้างไทย ยอมรับว่า ยังมีอยู่ แต่...ทำได้ยากขึ้น ประกอบกับ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ช่วงโควิดระบาด ทำให้ความต้องการช้างลดลง จนแทบไม่มีเลย

โดยปกติแล้ว ความต้องการล่าช้าง จะมีเป้าหมายไปที่ “ลูกช้าง” เพราะ “ลูกช้าง” อายุราว 2-3 ขวบ เพราะถือเป็นช้างที่ยังไม่มีอันตราย จะมีนิสัยสนุกสนาน ขี้เล่น และเรียนรู้ภาษามนุษย์ด้วย ด้วยเหตุนี้ ในภาคการท่องเที่ยวจึงนิยมใช้ลูกช้าง ค่อนข้างเยอะ

เมื่อการท่องเที่ยวซบเซา ความต้องการจึงหายไป แต่...ช่วงนี้กลับมาแล้ว จึงมีความกังวลว่า อาจจะมีการ “จับลูกช้าง” ด้วยการ ฆ่าแม่ช้าง แล้วเอาลูกช้างมาเลี้ยง หรือ สวมทะเบียน ซึ่งการทำลักษณะนี้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ช้างก็จะโตขึ้น ก็จะเริ่มไม่น่ารัก จึงจำเป็นต้องหาใหม่

ปัญหาตรงนี้ คือ เรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ในช่วงการท่องเที่ยวบูมๆ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา เมื่อมาถึงปีนี้ ทำท่าว่าการท่องเที่ยวจะบูมอีกครั้ง จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง นอกจากช้างแล้ว ยังมีสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ต้องระมัดระวัง...

เมื่อถามว่า “ช้างป่า” ไทย ยังเป็นเป้าหมายในการล่าเพื่อ “งา” อยู่หรือไม่ ดร.สุรพล อธิบายว่า น้อยลงไปมากแล้ว เพราะช้างป่าตัวผู้ที่มีงายาวๆ ไม่เหลือแล้ว เนื่องจาก งา มีราคาแพง ขนาดช้างเลี้ยง ที่มางา งายังหาย

...

ฉะนั้น หากพบว่า “ช้างมีงา” ก็คงไม่รอด เพราะคนล่าเขารู้ ฉะนั้น ตอนนี้ ช้างที่มีงาในเวลานี้ ส่วนใหญ่จะเป็นช้างหนุ่ม ซึ่งงาก็ยังไม่สวยงาม ฉะนั้น “งา” ที่ขายในเวลานี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นงา จากแอฟริกา

รองประธานมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า ปัญหาช้างเป็นเรื่องใหญ่ และบางครั้งเป็นเรื่องความเข้าใจผิด เช่น มีองค์กรต่างชาติเข้ามารณรงค์ให้เลิกใช้โซ่ล่ามช้าง หรือ เลิกใช้ตะขอ ในการบังคับช้าง เขามองว่าทรมานสัตว์ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ จึงมีความจำเป็นในการบังคับช้าง ซึ่ง คนที่อยู่กับช้างจริงๆ เขาไม่ทารุณช้างอยู่แล้ว การทารุณช้าง จะเริ่มก็ต่อเมื่อ มีความเป็นธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เจ้าของช้าง ปล่อยช้างให้เช่า จึงทำให้เกิดการทารุณ เพราะบังคับช้างมากเกินไป โดยเฉพาะ พวกช้างเร่ร่อน จำนวนมากไม่ใช่ช้างของตัวเอง แต่เป็นช้างเช่า

“ปัญหาของช้าง ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากและมีหลายมิติ ทั้งการสวมทะเบียน การล่าลูกช้างเพื่อมาใช้ในภาคท่องเที่ยว การให้เช่าช้างเร่ร่อน ปัญหาคนไม่เข้าใจช้าง ในการอยู่ร่วมกัน สิ่งสำคัญคือ การรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน แต่...ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐแทบจะทำไม่ได้”

...


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

กราฟิก : sathit chuephanngam

อ่านบทความที่น่าสนใจ