21 ม.ค. 2566 ครบรอบ 1 ปี การสูญเสีย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกรถบิ๊กไบค์เจ้าหน้าที่ตำรวจยศสิบตำรวจตรี ชนเสียชีวิต ในวัย 33 ปี ด้านหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย จะกลับไปที่พักคอนโดฯ ย่านซอยรางน้ำ

ภายหลังหมอกระต่าย เสียชีวิต ก่อให้เกิดกระแสบนโลกออนไลน์ มีการติดแฮชแท็ก #หมอกระต่าย เรียกร้องเรื่องความปลอดภัยบนถนน และการให้ความสำคัญกับทางม้าลาย เนื่องจากมีคนข้ามทางม้าลาย ถูกรถชนเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง อยากให้กฎหมายไทยให้ความสำคัญและจริงจังกับทางม้าลาย และอยากให้เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่เห็นคนข้ามแล้วหยุด

1 ปีที่ผ่านมา จากการสูญเสียหมอกระต่าย ได้เป็นอุทาหรณ์ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางส่วนของทางม้าลายหลายจุดในเมืองกรุง และผู้ขับรถบางส่วนเริ่มมีจิตสำนึกมีน้ำใจมากขึ้น ในการหยุดรถให้คนข้ามถนน และวันที่ 21 ม.ค. ของทุกๆ ปี เป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน จากมติ ครม.เห็นชอบตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เสนอ เพื่อหยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถชนคนข้ามทางม้าลายเกิดขึ้นซ้ำอีก

...

แม้การเสียชีวิตของหมอกระต่าย ก่อให้เกิดความตื่นตัวของคนในสังคม และความพยายามรณรงค์ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนความปลอดภัยทางถนน แต่ข้อมูลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นคนเดินเท้าในปี 2565 ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน ก.ย. กลับเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 เฉลี่ยต่อเดือน 26.88 ราย ขณะที่ปี 2565 เฉลี่ยต่อเดือน 29.11 ราย และ 70% ของอุบัติเหตุทางเท้าเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด

ขณะที่ "พรหมมินทร์ กัณธิยะ" ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ มองว่า การเสียชีวิตของหมอกระต่าย ได้ทำให้โครงสร้างและการบริหาร เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระเบียบกฎเกณฑ์และการเพิ่มโทษ โดยเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 มีการเพิ่มรายละเอียดในเรื่องการข้ามทางมากถึง 8 ประเด็น ซึ่งผู้ขับรถจะต้องหยุด ต้องจอด และมีโทษหากชนคนตาย รวมถึงรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 21 ม.ค. เป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน

ในแง่ของการปฏิบัติได้ทำให้กระทรวงมหาดไทย สั่งการไปทั่วประเทศเมื่อประมาณเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ให้แก้ไขปรับปรุงทางข้าม มีการติดตั้งระบบป้องกัน สัญญาณไฟข้าม และปรับปรุงสัญลักษณ์ให้เหมาะสม รวมทั้งป้ายและไฟส่องสว่าง ซึ่งส่วนตัวมองว่าในเรื่องโครงสร้างของประเทศไทยมี 2 ระดับ เพราะกว่าคำสั่งไปถึงปลายทาง ต้องใช้เวลานาน และขึ้นอยู่กับผู้บริหารในพื้นที่ให้ความสนใจหรือไม่

“หากสนใจก็ติดปัญหาจะเอางบมาจากที่ไหน แต่ผู้บริหารบางแห่งในระดับจังหวัด มีศักยภาพก็ดึงงบมาจากเอกชน แต่ก็มีไม่มากในการสร้างการเปลี่ยนแปลงกับทางม้าลาย เพราะแต่ละพื้นที่ต้องดำเนินการเองเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพ ส่วนจังหวัดอื่น คาดว่าต้นปีนี้ น่าจะทำแผนของบ ดันเข้าสภาท้องถิ่น นำไปสู่การปฏิบัติ ทำให้ทางม้าลายมีมากขึ้น และที่มีอยู่เดิมก็แก้ไข จะค่อยๆ เกิดขึ้น แต่การบังคับใช้กฎหมายของบ้านเรา เมื่อเกิดเหตุแล้วค่อยมาว่ากันอีกที หากท้องถิ่นมีศักยภาพก็ไปเพิ่มไฟส่องสว่าง”

ด้านพฤติกรรมส่วนใหญ่ของประชาชน ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะยังเห็นภาพไม่ชัดในเรื่องบทลงโทษ และที่ผ่านมามีพฤติกรรมที่เคยชินมานาน จะต้องเห็นภาพของคนถูกลงโทษให้มากขึ้น จากที่เคยมักง่ายตั้งแต่เกิดก็จะเปลี่ยนแปลง และรัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุแล้วต้องเอาผิดทันที เพราะในแต่ละปีมีผู้เดินเท้าทั่วประเทศเสียชีวิต 500 กว่าคน ด้วยหลายสาเหตุ

...

ทางแก้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว ภาครัฐควรเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นและกำลังเป็นกระแส นำมาสื่อสารเพื่อให้คนเกิดความตระหนักมากขึ้น อีกทั้งคนไทยไม่เคยถูกฝึกให้ประเมินความเสี่ยงขณะที่ตัวเองกำลังจะเดินเท้าว่ามีรถหรือไม่ แต่ใช้วิธีที่เคยชิน ไม่มีทักษะในการประเมินจนกลายเป็นความเสี่ยง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำงานเชิงรับให้มากขึ้น ภายหลังผู้นำประเทศเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้

“หลังการเสียชีวิตของหมอกระต่าย ต้องยกเครดิตให้มูลนิธิเมาไม่ขับ และ สสส. รวมถึงภาคเครือข่าย จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ทำคู่ขนานจะค่อยๆ เกิด ในการสั่งการให้โรงเรียนเด็กเล็ก ฝึกอบรมเด็กและคนในพื้นที่ เกี่ยวกับระเบียบวินัยในการข้ามถนน ให้สอดคล้องกับกฎหมาย เพราะบ้านเราใช้ความมักง่ายเป็นตัวตั้ง ต่อให้มีสะพานลอย มีทางม้าลายก็ไม่ใช้ ซึ่งหย่อนยานกันมานาน และผู้ใหญ่ก็ทำเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น”

แม้ทั่วโลกเจอปัญหานี้เช่นกัน แต่หลายประเทศได้จัดระเบียบในการติดตั้งไหล่ทางกั้นริมถนนทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้ไม่สามารถข้ามถนนในพื้นที่ห้ามข้ามได้ อย่างประเทศญี่ปุ่น ส่วนคนในประเทศไทย อาจเป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ปลูกฝังมานาน ซึ่งจะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติ หากมีการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดจริงจัง น่าจะทำให้พฤติกรรมคนค่อยๆ เปลี่ยน.