“ถ้าสังคมมองเรื่องการบูลลี่ หรือไซเบอร์บูลลี่ ว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนที่เป็นเหยื่อจะลุกขึ้นมาเพื่อทวงถามความเป็นธรรมด้วยตัวเอง”

ต้องยอมรับว่า กระแสซีรีส์ The Glory ที่นำแสดงโดย “ซง ฮเย กโย” (Song Hye-Kyo) นางเอกเบอร์ต้นๆ ของวงการบันเทิงเกาหลี กำลังดังมากในบ้านเรา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ “บูลลี่” และการ “แก้แค้น” อย่างสาแก่ใจ

การทำร้ายร่างกาย ในซีรีส์แม้จะดูเกินเลย แต่หาใช่ว่าในชีวิตจริง จะไม่เกิดขึ้น เพราะจากหน้าข่าว หน้าหนังสือพิมพ์ ก็มีให้เห็นเป็นอุทาหรณ์มาแล้ว บางเคสทำร้ายตัวเอง บางเคสแก้แค้นอย่างโหดเหี้ยม

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ อยากเชิญผู้อ่าน มาร่วมหาข้อคิด จากซีรีส์ดัง The Glory ผ่านมุมมอง ดร.กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของงานวิจัยระดับปริญญาเอกเรื่อง Cyberbullying Among University Students in Thailand ซึ่งโควทคำพูดข้างต้น ก็มาจากเจ้าของงานวิจัยชิ้นนี้

...

ความแค้นใน The Glory กับมุมมอง บริบทสังคมและกฎหมาย

ดร.กฤษฎา กล่าวถึง ความแค้นของนางเอกในซีรีส์เรื่อง The Glory มาจากการกลั่นแกล้งกันตั้งแต่สมัยเรียน และกลับมาแก้แค้นตอนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ลักษณะแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะคนที่โดนกลั่นแกล้งตั้งแต่เด็กอาจจะเก็บงำความแค้นมา เพียงแต่เวลาแก้แค้น ในมุมของทางกฎหมาย หากมีคนนำมาใช้ในชีวิตจริง มันจะมาอ้างเหตุแห่งการแก้แค้นไม่ได้

สมมติ นางเอกไปทำร้าย หรือฆาตกรรมใคร การกระทำดังกล่าว ถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ถึงแม้จะมีเหตุในการบรรเทาโทษ แต่การกระทำต้องอ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น การกระทำแบบโดยบันดาลโทสะ หลังจากถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งหน้าหรือขณะนั้น หรือกรณีว่าจะอ้างว่าเป็นการป้องกันตัว ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะภยันตรายนั้น ต้องใกล้จะถึงตัว หรือ ยังดำรงอยู่ แต่เคสนางเอก เป็นการโดนรังแก ตั้งแต่เด็ก มาแก้แค้นตอนโต แปลว่า ภยันตรายหมดไปนานแล้ว แบบนี้อ้างเหตุในการบรรเทาโทษไม่ได้

ทำไมการแก้แค้น ถึงเกิดขึ้น...

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ทำวิจัยด้าน “ไซเบอร์บูลลี่” อธิบายว่า ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการทางสังคมและกฎหมาย ไม่ได้ให้การเยียวยา ทางความรู้สึกของคนที่เป็นเหยื่อ เมื่อไหร่ก็ตาม หากมาตรการสังคม หรือการเยียวยาเหยื่ออย่างเพียงพอ เมื่อนั้น อาจจะเกิดการแก้แค้นขึ้น

เมื่อถามว่า ในทางกฎหมาย การลงโทษคนที่กระทำการบูลลี่ มีไหม ดร.กฤษฎา ตอบว่า “มี” แต่มันจะเป็นประเด็นเรื่องการทำร้ายร่างกาย แต่ปัญหาคือ การบูลลี่ที่เกิดขึ้นในหมู่เด็ก เด็กจะได้การคุ้มครองในทางกฎหมายเยอะ ทั้งกฎหมายอาญา หรือ วิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน

ฉะนั้น การกลั่นแกล้ง รังแกกัน จนถึงปัจจุบันนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งมาจาก “สังคมมองว่าเป็นเรื่องเล็ก” เหมือนเรื่องสูบบุหรี่ กินเหล้า

บวกกับมาตรการทางกฎหมาย มีข้อยกเว้น เรื่องอายุ ไม่ได้ถูกลงโทษ การงดเว้น ยังไม่รวมประเด็นทางโรงเรียน ไม่อยากเสียชื่อเสียง ไม่อยากให้เห็นข่าว และยุติปัญหา กลายเป็นว่า “สังคม” บอกให้เหยื่อ “อดทน” หรือ “ให้อภัย”

“คำพูดเหล่านี้กลายเป็นการส่งเสริม โดยไม่รู้ตัว นี่แค่ตัวอย่างทางกายภาพ แต่ทางเป็นทางไซเบอร์นี่ยิ่งหนักเลย เพราะเหตุเกิดนอกรั้วโรงเรียน”

การบูลลี่ทางกายภาพ หรือในโรงเรียน

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า การบูลลี่ของกายภาพ คือ การกระทำต่อเนื้อตัว ร่างกาย เช่น ดึงผม ดึงกางเกง เปิดกระโปรง หยิก ไฟแช็กลนเก้าอี้ ในขณะที่การใช้คำพูด (verbal bully) อาจจะมีทั้งคำด้านบุคลิกภาพ เช่น อ้วน ดำ สิว ล้อชื่อพ่อแม่ ในการทำร้ายจิตใจ

จากการ บูลลี่ ทางกายภาพ ก็มีการขยับขึ้นเป็น “ไซเบอร์ บูลลี่” ซึ่งบางครั้งตัวเด็กเองก็ไม่ทราบ ซึ่งจากงานวิจัยได้ข้อสรุปว่า

“ไซเบอร์ บูลลี่” หมายถึง การกระทำอะไรก็ตาม ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของคนที่เป็นเหยื่อ อาทิ อาย ไม่อยากสู้หน้าคน ไม่อยากออกสังคม เก็บตัว โดยคำที่ใช้ได้แก่ อ้วน ผอม ดำ หน้าสิว

ในระดับโรงเรียน ส่วนตัวเชื่อว่า การบูลลี่ น่าจะมีทั้ง 2 แบบ คือ physical bully และ Cyberbully เพราะปัจจุบัน สื่อออนไลน์เข้าถึงได้ง่าย

...

ดร.กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์
ดร.กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์

“บูลลี่” แบบไทย มองเป็นเรื่องเล็ก?

ปัญหาของสังคมไทย คือ การมองปัญหาการบูลลี่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เวลาเกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยม หรือประถม ก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามวัย ซึ่งหากเป็นสมัยก่อน เราจะมองแบบนี้ก็พอได้ แต่... ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กรุ่นไหน ประถม หรือ มัธยม ก็มีการใช้สื่อออนไลน์ ฉะนั้น การกลั่นแกล้งเล็กน้อย แต่เมื่ออยู่ในพื้นที่ไซเบอร์ ความรุนแรงจะถูกทวีคูณขึ้น เพราะเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ มีคนรับรู้และรู้เห็นจำนวนมาก

เช่น มีคนโพสต์ด่าว่า “หน้าสิว อีอ้วน ดำ” ความอาย และเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ไม่เท่ากับการโดนเพื่อนด่าในห้อง

การโดนต่อว่าบนโลกออนไลน์ จะมีความเจ็บปวดมากกว่า เพราะมีคนเห็นมากกว่า ไม่เหมือนการโดนด่าในห้อง ที่อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ร่วมหัวเราะเยาะ คนในห้องรับรู้ หรือ เพื่อนต่างห้องอาจจะได้ยินด้วย แต่การบูลลี่ ในโลกออนไลน์ ในที่สาธารณะ อาจจะทำให้คนทั้งโรงเรียนรับรู้ ยังไม่รวมคนภายนอกด้วย ความรู้สึกที่เหยื่อจะรู้สึกคือ การถูกจับต้องด้วยสายตาที่มองไม่เห็น....

...

ดร.กฤษฎา อธิบายสาเหตุว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเด็กที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น จะต้องการความเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและสังคม หากโดนกระทำในสื่อโซเชียล จะเปรียบเสมือนการทำลาย “ความมั่นใจ” ที่มีอยู่ อาจจะรู้สึกว่า กำลังโดนสังคมจับจ้อง

เด็กยุคใหม่ หาใช่ว่า “เปราะบาง”

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า เด็กยุคใหม่ ใช่ว่าจิตใจจะเปราะบาง เพียงแต่เด็กยุคใหม่เข้าถึงสื่อได้มากขึ้น ทำให้การบูลลี่ มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งปัจจุบัน การกลั่นแกล้งสุ่มเสี่ยงต่อการทำร้ายร่างกาย ถึงขั้นผิดกฎหมาย

เช่น มีการตบตีกันในโรงเรียน นอกจากจะเป็นการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนแล้ว ยังมีการถ่ายคลิป โพสต์ประจาน ซึ่งถือเป็นการบูลลี่ทั้ง 2 ทาง คือ physical bully และ Cyberbully นอกจากนี้ หากมีการคุกคามทางเพศ หรือ cyber harassment สิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้เด็กมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น การถูกแอบถ่ายใต้กระโปรง แอบถ่ายในที่ต่างๆ หรือ ใช้คำพูดคุกคามทางเพศ ซึ่งแตกต่างจากการบูลลี่ ที่จะเจาะไปที่จิตใจ ทำให้รู้สึกแย่ ไม่มั่นใจในตัวเอง

...

ผลลัพธ์จากการบูลลี่ แตกต่างกัน

เจ้าของงานวิจัยระดับปริญญาเอกเรื่อง Cyberbullying Among University Students in Thailand มองว่า ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ ที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่ออกมาแต่ละคนจะแตกต่างกัน ตามภูมิคุ้มกัน เช่น บางคนโดนบูลลี่ว่า “อีอ้วน” บางคนไม่คิดอะไร รู้สึกเฉยๆ แม้จะเป็นผู้หญิงก็ตาม แต่สำหรับบางคน จะมีความรู้สึกเซนซิทีฟ

จุดที่ยาก คือการดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก จะมีความแตกต่างตาม “ปัจเจกบุคคล”
โดยเด็กแต่ละคนจะมีมุมมองทัศนคติ หรือ ภูมิต้านทานเรื่องนั้นๆ แตกต่างกัน

ประเทศไทย ยังไม่มีการเก็บสถิติการ “ไซเบอร์บูลลี่” ฉะนั้น เราจึงไม่มีตัวเลข และที่ผ่านมา เพิ่งจะมีการตื่นตัวกับเรื่องนี้ เมื่อประมาณ 4-5 ปีเท่านั้น

กีดกัน ตั้งกลุ่มไลน์เม้าท์มอย ถือเป็น “ไซเบอร์บูลลี่”

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า เคสที่น่าสนใจ ในการศึกษา พบว่า การกีดกันออกจากกลุ่มไลน์ ก็เข้าข่ายเป็นการ “ไซเบอร์บูลลี่” ซึ่งถือเป็นการกระทำที่แนบเนียน และส่งผลกระทบกับคนที่เป็นเหยื่อมาก

ยกตัวอย่าง ในไลน์กลุ่ม 4-5 คนเป็นเพื่อนสนิทกัน แต่แล้วมีการตั้งไลน์กลุ่มใหม่ โดยมี 1 คนไม่ได้เข้าร่วม คำถามคือ “เราไม่ได้สนิท” กันใช่หรือไม่

หรือ กรณี เพื่อนในกลุ่มที่สนิทกัน แอบไปเที่ยวต่างจังหวัด โดยไม่ได้บอกเพื่อน 1 คน โดยทุกคนมีการเตี๊ยมกันว่าจะไม่โพสต์ภาพ แต่มี 1 คนโพสต์สตอรี่ (จะโชว์ 24 ชั่วโมงแล้วจะหายไป) โดยการโพสต์ดังกล่าว ได้ตั้งค่าปิดกั้นเพื่อนคนนี้

ปรากฏว่า เพื่อนคนนี้ไปที่มหาวิทยาลัย แล้วเจอคนอื่นถามว่า “ไม่ได้ไปเที่ยวหรือ” ทำให้รู้ว่าเพื่อนสนิททั้งหมดแอบไปเที่ยว

เด็กที่ถูกทิ้งไม่ได้ไปเที่ยวด้วย จึงมีความรู้สึกว่า “เขาผิดอะไร” ความรู้สึกว่า สนิทกับเพื่อนกลุ่มนี้ นั้นเป็นจริงหรือไม่ หรือว่าคิดไปเองคนเดียวว่าเป็นเพื่อนสนิท

“ผลกระทบตรงนี้ถือว่ารุนแรง เพราะเขาจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขาไม่ดี ไม่โอเค หรือว่าเราไม่ได้สนิทกับเพื่อนกลุ่มนี้จริงๆ”

การบล็อกเพื่อน หรือกันออกจากกลุ่ม คือ การไซเบอร์บูลลี่ ที่แนบเนียน อาจจะเจ็บกว่าการโดนล้อ อีอ้วน อีเหยิน แต่การทำแบบนี้มันเจ็บมากกว่า...

เหตุการณ์ลักษณะนี้ จะคล้ายกับปรากฏการณ์ “bystander” แปลเป็นไทย เหมือนกับคนอยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งหากในมุม physical bully ก็จะเป็นการโดนเพื่อนถีบออกจากกลุ่ม สิ่งที่เกิดขึ้นทางกายภาพ เพื่อนห้องอื่น อาจจะเห็นและชักชวนเข้ากลุ่ม

แต่สำหรับในเคส “ไซเบอร์บูลลี่” ที่เข้าข่าย bystander คนอื่นจะไม่รู้ว่าเหยื่อรู้สึกเจ็บปวดแค่ไหน เพราะในพื้นที่ไซเบอร์ ทุกคนเห็นกันผ่านหน้าจอ ไม่ได้รับรู้ความรู้สึกจากอารมณ์จริงๆ ไม่เหมือนการถูกถีบออกจากกลุ่มทางกายภาพ บางคนเห็นนั่งกินข้าวคนเดียว อาจจะเข้ามาถามไถ่ ชวนเข้ากลุ่มใหม่ได้..

ดังนั้น คนที่เป็นเหยื่อไซเบอร์บูลลี่ จะรู้สึกโดดเดี่ยวมากกว่าทางกลั่นแกล้งทางกายภาพ

การป้องกันยาก ออกกฎหมายลงโทษยิ่งยาก

ที่ผ่านมา ประเทศไทย เคยมีแนวคิดจะออกกฎหมายลงโทษ แต่...ประเด็นคือ การบูลลี่ เป็นอะไรที่หาเกณฑ์ยากมาก เช่น ถูกบูลลี่ว่า อ้วน ใช่ว่าเด็กทุกคนจะเจ็บกับคำว่า “อีอ้วน”

แต่มีกฎหมาย อาญาอยู่มาตราหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้อง คือ มาตรา 397 เป็นการกระทำด้วยประการใดๆ ต่อเพื่อน เป็นการรังแก คุกคาม หรือทำให้ได้รับความอับอาย เดือดร้อนรำคาญ จะโดนโทษปรับ 5,000 บาท จำคุก 1 เดือน ซึ่งโทษดังกล่าว อยู่ในหมวดลหุโทษ ซึ่งหากเป็นเด็ก ซึ่งโทษจำคุก 1 เดือนที่ว่า ศาลอาจจะให้รอลงอาญา เพราะเป็นการจำคุกระยะสั้น ก็จะกลายเป็นว่า มีกฎหมาย แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้

ถึงแม้เรื่องนี้ เด็กสมัยใหม่ จะทราบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ และเป็นความผิด แต่...เขาไม่ได้คำนึงถึงความร้ายแรงที่ตามมา จากการกระทำของเขา ฉะนั้น สิ่งที่สังคมควรทำ คือ การร่วมการใช้มาตรการทางสังคม ด้วยการบ่มเพาะ หล่อหลอม ให้เลิกกระทำ

พูดแล้วเหมือน “กำปั้นทุบดิน” แต่..มันถือเป็นทางที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะทัศนคติของสังคม อย่ามองว่า “การกลั่นแกล้งเป็นเรื่องเด็กๆ” หรือบอกให้อดทน เผื่อวันหน้าเจอเรื่องหนักกว่านี้จะได้ทนได้ เราไม่ควรใช้วิธีการแบบนี้

“ดอกไม้ไม่สามารถเบ่งบานได้จากการถูกเหยียบย้ำ เราจะเป็นต้องให้น้ำ พรวนดิน ให้แสงแดด สังคมต้องปรับ ครู อาจารย์ ต้องให้ความสำคัญ หากมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเด็ก ลักษณะ ของ The Glory ก็จะเกิดขึ้น เมื่อแจ้งไปทางครู หรือผู้ใหญ่แล้ว กลับไม่มีแอ็กชั่นอะไรออกมา แบบนี้ “แก้แค้น” ด้วยตัวเองไม่ดีกว่าเหรอ...แล้วถ้าเป็นแบบนี้เมื่อไหร่ ความวุ่นวายเกิดขึ้นแน่นอน” ดร.กฤษฎา กล่าวทิ้งท้าย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์รายงาน 

ขอบคุณภาพบางส่วน : Netflix

อ่านบทความที่น่าสนใจ