สถิติการแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบคดีหลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้กว่า 2 หมื่นราย ตั้งแต่ มี.ค.-1 ธ.ค.65 โดยกรณีล่าสุด มีผู้เสียหลายหลายพันคนเข้าร้องทุกข์ บริษัทแห่งหนึ่งลวงให้ทำงานกดไลค์ กดแชร์ แต่ต้องจ่ายเงินแรกเข้า เพื่อเปิดบัญชีสมาชิก จากนั้นได้อ้างเหตุขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินได้
โดยสถิติข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า มีคดีออนไลน์แจ้งความตั้งแต่ มี.ค.-1 ธ.ค.65 ทั้งหมด 144,612 เรื่อง เฉลี่ยวันละ 507 เรื่อง ชั่วโมงละ 21 เรื่อง ส่วนมูลค่าความเสียหายรวม 25,087 ล้านบาท เฉลี่ย 89.59 ล้านบาท/วัน และเฉลี่ย 3.7 ล้านบาท/ชั่วโมง
ขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ มีการเชิญชวนให้ทำธุรกิจโปรโมตสินค้าและโฆษณา โดยเงื่อนไขให้ผู้ที่ต้องการจะทำงานต้องโอนเงินเพื่อเปิดบัญชี และการจ่ายงานให้จะมากน้อยตามเงินลงทุน เมื่อเปิดบัญชีแล้วจะมีเจ้าหน้าที่จ่ายงานให้ โดยต้องเข้าไปชมยูทูบ กดไลค์ กดแชร์ และส่งงานเข้ามาในระบบ จึงจะโอนเงินเข้าในระบบของบริษัท
ผู้ประกอบการรายนี้ มีตารางการเชิญชวนให้ร่วมลงทุน โดยให้เปิดบัญชีตั้งแต่ 300 – 6,000 บาท ผู้ที่ร่วมลงทุนมากจะอยู่ในระบบ VIP โดยได้ผลตอบแทน และงานจำนวนมากกว่าคนที่ลงทุนน้อย เหตุนี้ทำให้มีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก บางรายโอนเงินลงทุนเป็นหลักแสนบาท เพราะช่วงแรกมีการปันผล แต่ระยะหลังไม่สามารถเบิกเงินได้ โดยระบบอ้างว่า ยูทูบ ยกการจ้าง แต่มีการยื่นข้อเสนอในกลุ่มออนไลน์ ให้ลงทุนเพิ่มเพื่อได้ทำงานต่อ กรณีนี้มีผู้เสียหายร้องเรียนจำนวนมาก คาดว่ามีมูลค่าเสียหายกว่า 1 พันล้านบาท
...
“ภัทรกร ทีปบุญรัตน์” หัวหน้างานศูนย์คุ้มครองและพิทักษ์ผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า การหลอกให้ทำงานผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการกดไลค์ กดแชร์ มิจฉาชีพจะออกอุบาย โอนเงินเป็นค่าตอบแทนให้ในจำนวนน้อยก่อน จากนั้นจะมีการยื่นข้อเสนอ เพื่อให้เหยื่อโอนเงินเพิ่ม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น และสุดท้ายมิจฉาชีพจะบล็อกการติดต่อทุกช่องทาง
“ขณะนี้มีกรณีมิจฉาชีพหลอกให้ทำงานออนไลน์จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น หลอกเหยื่อให้กดไลค์ กดแชร์ โดยระยะแรกโอนเงินให้จำนวนหนึ่ง จากนั้นมีข้ออ้างว่า ต้องเสียภาษี ทำงานผิดพลาด เลยต้องโอนเงินเพื่อชดใช้ เมื่อมิจฉาชีพได้เงินจากเหยื่อจำนวนมากขึ้น จะปิดกั้นการติดต่อทุกช่องทาง ที่ผ่านมาเหยื่อมักไม่เข้ามาแจ้งความ เพราะมองว่าเสียเวลาและเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก”
โดยคดีการหลอกลวงทางออนไลน์ กรณีที่มีการแจ้งความมากสุดคือ การหลอกขายสินค้าออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม โดยพฤติกรรมมิจฉาชีพจะหลอกให้โอนเงิน จากนั้นปิดเพจ หรือปิดกั้นการติดต่อทุกช่องทาง มิจฉาชีพส่วนใหญ่จูงใจด้วยราคาสินค้าถูกเกินจริง
“กรณีการขายสินค้าออนไลน์ที่มีการแจ้งความบางส่วน ได้รับสินค้าไม่ตรงกับโฆษณา ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ และผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่อยากเข้ามาแจ้งความ เนื่องจากสินค้ามีราคาไม่สูงมาก ส่วนอีกพฤติกรรมการหลอกลวงคือ มีสินค้ามาส่งที่บ้านทั้งที่ไม่ได้สั่ง โดยคนร้ายระบุชื่อและที่อยู่ผู้รับ และมีการเก็บเงินปลายทาง”
อีกกรณีใหม่ที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงเพิ่มขึ้นคือ เหยื่อมีการสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ชื่อดัง แต่ของกลับส่งมาจากร้านค้านอกแพลตฟอร์ม โดยสินค้ามีมูลค่าเดียวกันกับที่สั่งไป ผู้บริโภคเลยรับสินค้า เมื่อเปิดดูพบว่า สินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับสินค้าที่สั่งไป เหตุการณ์นี้จึงได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนี้กำลังสืบหาว่า ข้อมูลของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง มีข้อมูลรั่วไหลหรือไม่
“ขณะนี้มีมิจฉาพชีพแฝงตัวอยู่บนแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะให้ผู้ประกอบการ มีความเข้มงวดในการยืนยันตัวตนของผู้ขาย และแบนกลุ่มมิจฉาชีพ ไม่ให้เข้ามาขายสินค้าในระบบ”
ประเภทของสินค้าที่มิจฉาชีพมีการหลอกลวงผ่านออนไลน์ มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เน้นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าสูง มาเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น หลายกรณีราคาไม่สูง แต่มิจฉาชีพเน้นหลอกลวงเหยื่อจำนวนมากขึ้น เลยทำให้ช่วงหลังมีผู้เสียหายจำนวนมากขึ้น
รู้ทันพฤติกรรมกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์
...
“ภัทรกร” แนะนำว่า แนวทางการป้องกันไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ จะต้อง “คิดก่อนคลิก” ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณา และไม่ควรกดสั่งซื้อทันทีเมื่อเห็นว่าสินค้านั้นราคาถูก แต่ควรเฉลียวใจ รวมถึงเช็กประวัติการขายสินค้าของผู้ประกอบการ เปรียบเทียบราคาสินค้ากับร้านค้าอื่นๆ หากสินค้ามีราคาถูกมากจนเกินไป ไม่ควรสั่งซื้อ
ส่วนผู้ที่ได้รับสินค้าไม่ตรงปก ทันทีที่ได้รับสินค้าต้องแจ้งไปยังแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ เพื่อให้อายัดไม่ให้จ่ายเงินให้กับผู้ขายสินค้า จากนั้นจึงทำการแจ้งความ ลักษณะนี้ถ้ามีการแจ้งทันทีจะได้รับเงินคืน
สิ่งที่น่าห่วงคือ บัญชีม้า เพราะมิจฉาชีพไม่เกรงกลัวความผิด เนื่องจากผู้ที่จะถูกดำเนินคดีเป็นอันดับแรกคือ ผู้ที่เปิดบัญชีม้า ดังนั้นต้องมีการประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มีระบบคัดกรองการเปิดบัญชีใหม่ที่รัดกุมมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องมีระบบการตรวจสอบบัญชี ที่มีการโอนเงินเข้าออกลักษณะผิดปกติ เพื่อป้องกันการหลอกลวงตั้งแต่ต้นตอ.