การกลับมาฟื้นตัวของภาค “ธุรกิจท่องเที่ยวไทย” จากการกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ทำให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวที่เป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างมีความหวัง เมื่อตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเกือบ 11 ล้านคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ตามจังหวัดท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางของต่างชาติ อย่าง จังหวัดภูเก็ต กำลังเจอกับปัญหาที่อาจกระทบต่อโอกาสในการฟื้นตัว ก็คือ “การขาดแคลนภาคแรงงาน” ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว ก็ล้วนต้องการหาแรงงานกลับมา หลังจากที่ช่วงการระบาดของโควิด-19 แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เลือกหันเหไปทำงานด้านอื่น มีการประเมินจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตพบว่า ยังมีความต้องการแรงงานเข้าไปเป็นฟันเฟืองเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวให้เดินต่อได้อีกกว่า 10,000 คน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะแม้ว่าขณะนี้ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่ได้กลับมาเปิดบริการเต็ม 100% ก็ยังมีแรงงานไม่เพียงพอ หากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งเอาไว้ในปีหน้า ถึง 20 ล้านคน จะรับมืออย่างไร?

...

“ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ “ผศ.ดร.พรพิษณุ พรหมศิวะพัลลภ” คณบดีคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่ท่องเที่ยว ที่ผลิตคนป้อนเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง

“ผศ.ดร.พรพิษณุ” เล่าถึงภาพรวมการกลับมาของธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตว่า ก็เจอปัญหาไม่ต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เจอปัญหาแรงงานที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว มีการย้ายกลับถิ่นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากต่างจังหวัดเกือบทั้งหมด อย่างที่รู้กันว่าช่วงโควิดก็ไม่มีรายได้ บางส่วนไปอยู่ในธุรกิจอื่น หรือไปทำธุรกิจส่วนตัว เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา สถานประกอบการเองก็ยังไม่มั่นใจว่า การท่องเที่ยวจะกลับมาเต็มรูปแบบ เมื่อไหร่ จึงไม่กล้าที่จะลงทุนจำนวนมาก และไม่สามารถที่จะจ้างแรงงานกลับมาได้เต็มรูปแบบ จึงทำให้แรงงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตขาดแคลน

ผศ.ดร.พรพิษณุ พรหมศิวะพัลลภ  คณบดีคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
ผศ.ดร.พรพิษณุ พรหมศิวะพัลลภ คณบดีคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

ส่งนศ.ฝึกงานเติมแรงงานท่องเที่ยว

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตจำนวนมาก แต่ก็ยังมีความไม่พร้อมของคนทำงาน ขณะเดียวกันนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยผลิตออกไปก็ยังไม่เพียงพอ สิ่งที่จะไปเติมเต็มและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยว คือการส่งนักศึกษาที่กำลังเรียนออกไปฝึกงานช่วยสถานประกอบการ ซึ่งช่วยได้มากพอสมควร การเรียนการสอนด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Active Learning ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะการสอนในห้องเรียนอย่างเดียว แต่เน้นให้นักศึกษาเองจะต้องออกไปปฏิบัติ ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ทำให้เป็นโอกาสที่ดีที่ สถานประกอบการต่างๆ และมหาวิทยาลัยเอง จะได้มีความร่วมมือกัน เพื่อจะพัฒนาบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของ ภาคอุตสาหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวด้วย

การฝึกงานถือว่าเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรในการเรียน ซึ่งอย่างน้อยนักศึกษาจะต้องฝึกงานอย่างน้อย 1 ครั้งใน 1 ภาคเรียน ขณะที่บางหลักสูตรอย่างที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต เป็นหลักสูตรนานาชาติจะมีการส่งนักศึกษา ไปฝึกงานในสถานประกอบการถึง 2 ครั้ง ใน 1 ภาคเรียน เมื่อมีความร่วมมือกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยว จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นว่าตลาดแรงงานต้องการอะไร ที่ผ่านมาก็มีสถานประกอบการจำนวนมากประสาน มาที่มหาวิทยาลัยเพื่อส่งนักศึกษาออกไปฝึกงานเป็นจำนวนมาก

ใน 1 หลักสูตรการศึกษาระยะเวลา 4 ปี จะต้องมีการส่งนักศึกษาออกไปฝึกงานกับสถานประกอบการถึง 2 ครั้ง ใน ช่วงเดือนมกราคมจนถึง พฤษภาคม ทั้ง นักศึกษาปี 2 ในภาคเรียนที่ 2 และนักศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 แต่ละปีจะมีนักศึกษาออกไปฝึกงานประมาณ 200-300 คน อยู่ในธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการบิน ธุรกิจนำเที่ยว เป้าหมาย คือ สถานประกอบการในจังหวัดภูเก็ต รวมถึงบางส่วนก็เลือกไปฝึกในกรุงเทพฯ และต่างประเทศบางส่วน

...

ยืดระยะฝึกงานเพิ่มแรงงานทักษะสูง

ที่ผ่านมายังมีการปรับรูปแบบของการส่งนักศึกษาออกไปฝึกงาน เพื่อยืดระยะเวลาการฝึกงานให้นานขึ้น ปรับเป็นการฝึกงาน 1 ปีเต็ม ในลักษณะของโครงการนำร่อง Pilot project เริ่มทดลองในปีนี้เป็นปีแรก เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา "ให้นักศึกษาที่อยู่ชั้นปีที่ 4 ที่สนใจเข้าโครงการนี้ ปรับแผนการศึกษา ให้สามารถออกไปฝึกงานได้ทั้งปีโดยที่จะมีการกระจาย ให้เรียนในสถานศึกษาน้อยลง และให้ออกไปลงภาคปฏิบัติมากขึ้น เน้นให้ออกไปฝึกงานและมาเรียนทฤษฎีแค่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง" ซึ่งการฝึกงานระยะยาวจะมีการจับคู่ความร่วมมือกับสถานประกอบการ และกำลังขยายทำกับหลายๆ โรงแรม

สิ่งสำคัญของการปรับให้มีการฝึกงานระยะยาวทำให้ทั้งนักศึกษาและสถานประกอบการได้ประโยชน์ ฝั่งสถานประกอบการจะมีนักศึกษาที่จะไปช่วยงาน ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้านักศึกษาไปฝึกงานเพียงระยะสั้น เมื่อเริ่มที่จะทำงานเป็น ก็ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็ต้องกลับมาเรียน แต่ถ้าหากเป็นการฝึกงานระยะยาว ตัวนักศึกษาก็จะทำงานเป็นมากขึ้น ทำให้จะมีแรงงานที่มีทักษะและทำงานต่อเนื่องได้ทั้งปี

...

"ด้วยระยะเวลาการฝึกงานถึง 1 ปี ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้จะกลายเป็นแรงงานภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่มีทักษะและมีโอกาสสูงที่จะได้เข้าทำงานต่อในสถานประกอบการนั้นทันที"

นอกจากนี้บางสถานประกอบการ ยังฝึกให้นักศึกษาได้เรียนรู้การบริหารจัดการในธุรกิจ เนื่องจากนักศึกษามีระยะเวลาที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ในหลายแผนกของธุรกิจ และสามารถเลือกฝึกในแผนกเฉพาะด้านที่นักศึกษาสนใจได้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถพัฒนาตัวเองจากแรงงานภาคการท่องเที่ยวไปสู่การเป็นผู้บริหารสถานประกอบการได้อีกด้วย

เมื่อคนเที่ยวไม่เลือกช่วงเวลาจะรับมืออย่างไร

ช่วงหลังการระบาดโควิด-19 จะพบว่า ก่อนหน้านี้ตอนที่เรายังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้า ก็มีนักท่องเที่ยวคนไทยมาท่องเที่ยว และช่วงเวลาของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป โดย High season หรือ Low season นักท่องเที่ยวท่องเที่ยวโดยไม่เลือกช่วงเวลา อาจจะเป็นช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดยาว ทำให้การจ้างคนแบบเต็มเวลาทำได้ยากขึ้น นักศึกษาที่เข้าไปฝึกงานหรือคนทำงาน Part Time มีความจำเป็นมากขึ้น

...

แม้ว่าตอนนี้ โรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตยังไม่เปิดเต็ม 100% เพราะยังกำลังดูอยู่ว่านักท่องเที่ยว จะกลับมาเต็มที่ได้เมื่อไหร่ รวมทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่อย่างจีนก็ยังไม่ชัดเจน ซึ่งก็คาดการณ์เอาไว้ว่าจะเป็นช่วงในปี 2566  แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ มีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามาอย่างเช่น ตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย ทำให้จะต้องมีการอบรมผู้ประกอบการ หรือคนที่ทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวต้องพร้อมรับกับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ เช่น เรื่องของวัฒนธรรมที่แตกต่างของนักท่องเที่ยว จะทำให้คนในสถานประกอบการเข้าใจและสามารถให้บริการ ได้อยากถูก ตามหลักความเชื่อ หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างของนักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นๆ

เด็กรุ่นใหม่เลือกเรียนด้านการท่องเที่ยวลดลง

สิ่งที่น่ากังวลซึ่งเกิดขึ้นกับสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งทั่วโลก "ผู้ปกครองส่งลูกหลานมาเรียนในสาขาธุรกิจการท่องเที่ยวน้อยลง เพราะมีความไม่แน่นอนจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้คนขาดความมั่นใจ" เช่น ในประเทศไทยไม่มีใครคาดคิดว่าธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจหลักที่ดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศ จะเจอวิกฤติ เพราะที่ผ่านมาก็มีแค่วิกฤติในช่วงสั้นๆ เช่น สึนามิ ก็มีผลกระทบ 5-6 เดือน แต่โควิดลากยาว 2-3 ปี ธุรกิจก็ยังไม่ฟื้นกลับมาเหมือนเดิมทำให้คนเลือกมาเรียนในสาขาธุรกิจการท่องเที่ยวน้อยลง เมื่อคนมาเรียนน้อยลงนึกถึงภาพรวมทั้งประเทศ ทำให้สถานประกอบการก็มีตัวเลือกน้อยลงเช่นกัน และ เมื่อคนเรียนน้อยลง สถาบันการศึกษาก็ผลิตคนออกมาได้น้อยลง กระทบธุรกิจท่องเที่ยวไปถึงวันข้างหน้า ซึ่งก็เป็นโจทย์กับสถานประกอบการว่าจะทำอย่างไรเพื่อดึงบุคลากรที่มีทักษะ ไปอยู่กับธุรกิจให้ได้ จะทำให้เกิดการแข่งขันในการดึงตัว เพิ่มมากขึ้น โรงแรม สถานประกอบการในหลายแห่งก็เลือกที่จะเข้ามาทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมาก เพื่อจะดึงเด็กเก่งๆ ไปทำงาน ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของเด็กจบใหม่ ที่ก่อนหน้านี้ตกงานกันมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ขณะนี้เริ่มกลับเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต บัณฑิตที่จบไปมีงานทำกลับเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมกันทั้งหมดแล้ว

หากไม่พร้อมอาจเสียโอกาสในการฟื้นธุรกิจ

นอกจากนักศึกษาที่จะมาช่วยเติมเต็มธุรกิจในส่วนที่แรงงานขาดแคลน จะต้องมีการอัพสกิล (Upskill) และรีสกิล (Reskill) ให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่จะเข้ามา เช่น ธุรกิจการบิน ที่เกี่ยวข้องกับการบริการภาคพื้น ก็มีการทำหลักสูตรระยะสั้นขึ้นมา 2-5 เดือน นำเอาคนที่จบจากสาขาอื่น หรือ มาจากธุรกิจด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน สามารถที่จะเข้ามาอบรมและเตรียมความพร้อม เข้าไปเป็นพนักงาน ที่ทำหน้าที่ Ground service ได้ ซึ่งในอนาคตจะต้องพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นแบบนี้ จะช่วยให้เพิ่มจำนวนแรงงานที่อุตสาหกรรมต้องการได้อย่างรวดเร็ว ขณะนี้เริ่มมีสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหลายๆ แห่งที่เข้ามาหารือการจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรระยะสั้น ที่จะพัฒนาคนเข้ามาเติมเต็มในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้มากขึ้น

ภาครัฐจำเป็นจะต้องมีงบประมาณเข้ามาสนับสนุน อัพสกิล (Upskill) และ รีสกิล (Reskill) ให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการเอง ก็ต้องควักกระเป๋าเพื่อประคองธุรกิจมากว่า 2 ปีแล้ว เงินทุนอาจจะยังไม่เพียงพอในการที่จะพัฒนาบุคลากรในภาคธุรกิจ หากภาครัฐเข้ามาและสามารถที่จะช่วยสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อพัฒนาบุคลากรในระยะสั้นเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นในลักษณะของ Non Degree หรือ Training Program ก็น่าจะช่วยได้ ไม่เช่นนั้นหากไม่มีการสนับสนุนตรงนี้จะทำให้คุณภาพการให้บริการมีปัญหา เพราะว่าคนในภาคธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมเมื่อหายไปจากการทำงานเป็นเวลานาน เมื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งก็อาจจะมีทักษะที่ลด อาจจะไม่คล่องเหมือนเดิม การทำงานของคนในภาคธุรกิจท่องเที่ยวเองก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนมากขึ้นเพราะตลาดที่เปลี่ยนไป เมื่อก่อนแรงงานท่องเที่ยว 1 คนอาจจะทำแค่หน้าที่เดียว ต่อไปจะต้องทำหน้าที่ที่หลากหลายมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาคนเสมอ 

สิ่งที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวคาดหวังไว้คือ เมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยว มีความชัดเจนมากขึ้น จะทำให้แรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เคยหายไปกลับคืนมา แต่ต้องใช้ระยะเวลา อาจจะ 2-3 ปี ในการฟื้น

“ผศ.ดร.พรพิษณุ” กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนหนึ่งที่แรงงานยังไม่กลับมาเป็นเพราะเขาเองก็ยังไม่มั่นใจว่าเมื่อกลับเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้าหรือไม่? เช่นโควิดจะกลับมาระบาดจนต้องปิดกิจการอีกหรือไม่? ก็เลือกไปอยู่ในสายอาชีพที่เขาคิดว่ามีความมั่นคงมากกว่า แต่อย่างไรคาดการณ์ว่าในช่วงปีหน้า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็จะลดลงบ้าง ซึ่งจะต้องประคองและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะสั้นไปก่อน.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง