ในตอนนี้ "อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย" ดูเหมือนว่าเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เป็นความหวัง ในการพลิกฟื้นประเทศ หลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 จากตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดปลายปี 2565 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทย กว่า 11 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แม้ตัวเลขนี้ไม่อาจเทียบได้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยเมื่อปี 2562 ที่มีเกือบ 40 ล้านคน แต่เมื่อเห็นถึงการเพิ่มขึ้นของท่องเที่ยวเที่ยวหลังเปิดประเทศอีกครั้ง ก็ยังพอมีหวังที่ในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หอบเงินเข้ามาใช้จ่าย สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศไทย กว่า 20 ล้านคน ตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดเอาไว้ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว ฟื้นตัวอีกครั้ง และอาจเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ว่า ประเทศไทย ยังมีอะไรที่น่าสนใจ ที่ดึงดูดให้ต่างชาติ ยังเลือกไทยเป็นหมุดหมายของการเดินทางท่องเที่ยวในใจ
ทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างธุรกิจโรงแรมจะเตรียมตัวตั้งรับกับการฟื้นตัวนี้อย่างไร “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ “คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย สะท้อนมุมมองต่อเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ
...
“คุณมาริสา” ฉายภาพของการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา พบว่า นักท่องเที่ยว ต่างชาติเพิ่มขึ้นเนื่องจาก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ชาวรัสเซีย และกลุ่มเอเชียกลาง เข้ามาท่องเที่ยวทางภาคใต้และพัทยา ทำให้อัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยของโรงแรมดีขึ้น
ขณะเดียวกัน กลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออก เริ่มจะมีการเปิดประเทศและปลดล็อกให้เดินทาง เริ่มมีคนญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลี เข้ามาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติดูดี และพบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักระยะยาวมากขึ้น ขณะที่บางกลุ่มเข้ามาท่องเที่ยวแต่ไม่ได้พักตามโรงแรม อาจจะเลือกพักตามบ้านพักหรือวิลล่าก็มีค่อนข้างมาก
สิ่งที่น่าสนใจคือจำนวนชาติที่เข้ามา ในช่วงนี้ มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากเมื่อก่อนมีนักท่องเที่ยวชาวจีน กว่า 25% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด มีนักท่องเที่ยวกลุ่มอินเดีย นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง และเวียดนาม เข้ามามากขึ้น รวมถึงคนมาเลเซีย ก็มีการข้ามชายแดนเข้ามา และเริ่มเที่ยวตาม หัวเมืองใหญ่ด้วย
ขณะเดียวเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เป็นหนุ่มสาวและแบ็กแพ็กเกอร์โดยเฉพาะจากยุโรป ก็เริ่มกลับมาท่องเที่ยวจะเห็นได้ จากที่พักย่านถนนข้าวสารก็เริ่มมีการจองเข้าพักเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้แน่นเหมือนเมื่อก่อน
สะท้อนว่า ไทยเองก็มีเสน่ห์ ยังอยู่ในความนิยมของนักท่องเที่ยว และไทยเป็นประเทศที่เปิดประเทศเร็วกว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงการปลดล็อกมาตรการที่ผ่อนปรนมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจ เลือกที่จะมาเที่ยวไทยมากกว่าประเทศอื่น แต่ต้องไม่ลืมว่าเราก็ยังมีคู่แข่ง เช่นเวียดนามคนก็นิยมไปเที่ยว
มีการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ จากพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปที่ทุกคนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ได้เหมือนสมัยก่อน ที่จะต้องอยู่กับที่เพื่อที่จะประชุมตามออฟฟิศ เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหนก็ทำงานออนไลน์ได้ ทำให้คนเดินทางมากขึ้น ทำให้เกิดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มาท่องเที่ยวระยะยาวเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่การท่องเที่ยวแบบเดิมก็ยังมีอยู่แบบเป็นกรุ๊ปทัวร์ ที่มีทั้งตลาดอินเดียหรือตลาดเวียดนาม ก็เข้ามาเป็นกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่ หรือเป็นกลุ่มการท่องเที่ยวแบบบริษัทให้รางวัลเที่ยว
...
จากตัวเลขนักท่องเที่ยว ปีนี้ที่คาดว่าจะทะลุ 11 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 25% ของปี 2562 ทำให้ในปีหน้า ท่องเที่ยวไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีก จากเป้าที่คาดไว้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 20 ล้าน
เมื่อดูที่อัตราการเข้าพักโรงแรมก็ดีขึ้น 60-70% แต่ไม่ใช่ทุกโรงแรมที่จะได้ประโยชน์เท่ากัน เพราะบางโรงแรมมีการสร้างมาเพื่อรองรับตลาดจีนโดยเฉพาะ ทำให้ตอนนี้บางโรงแรมก็อาจจะยังไม่เปิด หรือโรงแรมในระดับ 4 ดาว 3 ดาว หรือ 2 ดาว ก็ยังไม่มีอัตราการเข้าพักที่ดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในตอนนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีฐานะ เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องค่าเดินทางก็ยังแพง แต่เมื่อมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ค่าเดินทางก็อาจจะค่อยๆ ลดลง แต่ก็อาจจะไม่ถูกเหมือนสมัยก่อน เพราะว่ายังมีต้นทุนเรื่องของค่าน้ำมันที่แพงขึ้น และประเทศไทยก็ยังมีอุปสรรค เรื่องของ Average daily rate (ADR) ราคาของห้องสำหรับหลายโรงแรม ยังไม่เท่าเดิม เพราะยังมีการแข่งขัน มีจำนวนโรงแรมค่อนข้างมาก
หลังจากการเปิดประเทศโรงแรมในไทยก็ยังกลับมาเปิดไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังมีส่วนน้อยที่ยังปิดอยู่ โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ๆ อุปสรรคและปัญหาที่หลายโรงแรมเป็นห่วงก็คือ เรื่องของภาคแรงงาน ที่พยายามจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงานที่ยังคงทำงานอยู่ ซึ่งส่วนนี้ภาครัฐบาลก็ต้องช่วย ให้มีแรงงานเข้ามายังภาคท่องเที่ยวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือว่าต่างชาติ
...
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้อย่างง่าย เพราะยังมีอุปสรรคค่อนข้างมาก ต้องมีการลงทุนในเรื่องของการเทรนนิ่งคน ลงทุนเวลา รวมถึงต้องมีเงินทุน ส่วนใหญ่พนักงานที่เข้ามาตอนนี้ อาจจะมีทักษะบ้างแต่ยังมีน้อย หรืออาจจะเป็นพนักงานที่ไม่เคยมีประสบการณ์ รวมทั้งรวมถึงค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจโรงแรมก็ต้องแข่งขันในการจ้างคน
ขณะที่บางโรงแรมที่มีการเปิดแค่บางส่วนหากจะต้องเปิดให้บริการทั้งหมด ก็ต้องมีการลงทุนกับการซ่อมแซม เพื่อที่จะรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต ที่สำคัญจะต้องควบคุมต้นทุนให้ได้ เพราะต้นทุนต่างๆ จะเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องของค่าไฟ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอันดับต้นๆ ของการบริหารโรงแรม รวมถึงค่าวัตถุดิบต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น ซึ่งมีความท้าทาย ของการดำเนินการและการคุ้มค่าใช้จ่าย เพื่อจะให้เกิดผลกำไร
หากแก้ปัญหาแรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมไม่ได้ก็จะกระทบต่อการบริการ ซึ่งขณะนี้อาจจะยังไม่ชัดเจน โรงแรมที่ลูกค้ามีความคาดหวังสูงมักจะเป็นโรงแรมระดับ 5 เพราะต้องจ่ายแพง ซึ่งโรงแรมเหล่านี้จะหาพนักงานได้ง่ายกว่า เพราะมีค่าตอบแทนดีกว่า ส่วนโรงแรมระดับอื่นๆ ก็มีผลกระทบบ้าง แต่ยังไม่กระทบหนัก เพียงแต่จะทำให้พนักงานที่ยังอยู่ จะต้องทำงานมากขึ้น ทำงานหลากหลายหน้าที่มากขึ้น แต่ถ้ารายได้ดีพนักงานก็จะได้ Service Charge ที่ดีด้วย เพื่อเป็นการตอบแทน
...
ซึ่งโรงแรมหลายแห่งก็พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป แต่ถ้าในระยะยาว เรื่องนี้ก็น่าเป็นห่วงอย่างบางโรงแรม ไม่เคยจ้างคนต่างชาติมาทำงาน ก็ต้องจ้างพนักงาน ต่างด้าวแล้ว ขณะที่บางโรงแรมก็แก้ปัญหาด้วยการไปมีบันทึกข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัย นำนักศึกษาต่างชาติมาฝึกงาน เป็นการหาวิธีอื่นเพื่อแก้ปัญหา หรือถ้าหาไม่ได้ ก็เลือกแรงงานต่างชาติเข้ามาทำแต่อาจจะต้องจ่ายราคาสูงขึ้น ก็ต้องยอม แต่!! ก็จะทำให้ต้นทุนของการบริหารโรงแรมสูงขึ้น.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง