ลุงฆ่าแมว...?

เชื่อว่า...ใครที่เห็นคลิปแล้ว ต่างรู้สึกคล้ายกัน คือ ไม่อาจทนดูได้ เพราะถือว่าเป็นการ “ทรมานสัตว์” จะเรียกว่า ทำร้ายสัตว์จนตายก็ไม่ปาน

สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นข้อถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ และถามหาถึงสาเหตุ ว่าทำไมผู้ที่ลงมือกระทำ กลับไม่ได้รู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยมองว่า “เจ้าเหมียว” ก็เป็นฝ่ายคุกคาม เข้าบ้าน ขณะที่เจ้าของแมว ก็พยายามอธิบายว่า เลี้ยงดูอย่างดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว ที่พลั้งเผลอให้แมวหลุดออกไปจากบ้าน

สำหรับ การกระทำคนที่ชอบ “ทารุณกรรมสัตว์” หรือ “ทำร้ายสัตว์” ถือว่ามีอาการทางจิตหรือไม่...?

คำตอบของคำถามนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้อธิบายถึงคนที่มีแนวโน้มชอบทำร้ายสัตว์ว่า มันคือความผิดปกติอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ความผิดปกติด้านบุคลิกภาพ” ซึ่งอาการกลุ่มนี้ จะไม่นับเป็นเหตุว่ามีปัญหาสุขภาพจิต เพราะถือว่าเป็น “บุคลิกภาพ” ไม่ใช่มาจากจิตฟั่นเฟือน หรือจิตบกพร่อง ฉะนั้น ถ้าถามว่า ปัญหาที่เจอบ่อยเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ คนที่มีบุคลิกภาพ “ต่อต้านสังคม” ซึ่งในทางกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นเหตุบกพร่องทางจิต

ที่มารูป : มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม
ที่มารูป : มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม

...

รูปแบบของการ “การทารุณกรรมสัตว์” จะแบ่งความรุนแรงออกเป็น 2 ชนิด

1. Passive Violence คือ การเลี้ยงสัตว์และขาดการดูแล ปล่อยปละละเลย ทำให้สัตว์เลี้ยงอดอยาก

“การกระทำลักษณะนี้ หากมีการกระทำแบบซ้ำซาก ก็จะนำไปสู่ “ขาดความรับผิดชอบชั่วดี” สิ่งที่สะท้อนออกมาทางสังคม อาทิ การตั้งมูลนิธิช่วยเหลือสัตว์ แต่เมื่อไปดูจริงๆ กลับพบภาพว่า “สัตว์ถูกทอดทิ้ง” หรือให้อยู่อย่างสกปรก ขาดแคลนอาหารในการกิน

นพ.ยงยุทธ ให้ความเห็นว่า คนกลุ่มนี้ถือว่าทำรุนแรงกับสัตว์ อยากได้แต่เงิน ไม่ได้รับผิดชอบสัตว์

2. Active Violence หรือกระทำการรุนแรงกับสัตว์ให้บาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิต โดยความรุนแรงประเภทนี้ จะมีลักษณะแตกต่างกันตามธรรมชาติ 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรก คือ กระทำเป็นประจำ ส่วนมากจะถูกมองย้อนประวัติไปที่วัยเด็ก

“หากมีการกระทำความรุนแรงกับสัตว์เป็นประจำตั้งแต่วัยเด็ก ในทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง สาเหตุเกิดจากสภาวะด้านจิตใจ ที่ขาดความรับผิดชอบชั่วดี ไม่มีความสามารถในการควบคุมความโกรธ โดยมากมาจากครอบครัวที่มีปัญหาในการเลี้ยงดูเด็ก หรือครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง จากนั้นเด็กก็จะนำความรุนแรงไปลงกับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ที่อยู่รอบตัว เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก งู ก็ตาม...”

เมื่อเด็กมีปัญหาในบ้าน ก็จะไปมีปัญหานอกบ้าน เช่น ทะเลาะวิวาท กลั่นแกล้งผู้อื่น หากโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะมีแนวโน้มก่อความรุนแรง เรียกว่า “บุคลิกภาพต่อต้านสังคม”

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับ “ฆาตกรต่อเนื่อง” พบว่ามีมากว่าครึ่ง ที่มีประวัติการทารุณกรรมสัตว์มาตั้งแต่เด็ก ถ้าเด็กถูกใช้ความรุนแรง หรือปล่อยปละละเลยในการรุนแรง กลุ่มเด็กเหล่านี้ จะระบายอารมณ์ด้วยการไปทำร้ายสัตว์ ในรอบๆ ตัวเขา

นพ.ยงยุทธ เน้นย้ำว่า นี่คือ ประเด็นสังคมต้องมองว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาของ “ตัวบุคคล” แต่มันเป็น “ผลิตผล” ของปัญหาสังคม และเนื่องจาก “กฎหมาย” ดูที่ผลการกระทำ ฉะนั้น กฎหมาย จึงไปไม่ถึงเรื่องนี้...ฉะนั้น สิ่งที่จะตามมา คือ การสร้างปัญหาให้กับชุมชนรอบข้างต่อไป

เมื่อถามว่า นอกจากปัญหาการเลี้ยงดูแล้ว การทารุณสัตว์ เกิดจากปัจจัยอื่นอีกได้ไหม นพ.ยงยุทธ อธิบายว่า นอกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กแล้ว ยังมีปัจจัยเสริม คือ อาจจะมาจากตัวเด็กเองก็เป็นได้ เช่น เด็กที่ป่วย “โรคสมาธิสั้น” ควบคุมตัวเองได้น้อย ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้ใหญ่พยายามควบคุมเขาด้วยความรุนแรง

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

...

“ปัญหาคือ เขาควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากควบคุม แต่เป็นเพราะอาการป่วย เมื่อปัจจัยทั้ง 2 ถูกปะปนกัน พัฒนาการของเด็กไม่ดี เจอสิ่งแวดล้อมที่ไม่เข้าใจ เด็กกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นคนที่ทารุณกรรมสัตว์


รูปแบบที่ 2 เหตุเกิดจากการบันดาลโทสะ ประเภทนี้ มีตัวอย่างให้เห็นเยอะ อาทิ สัตว์เข้าบ้าน มาทำร้ายคนในบ้าน หรือมารบกวน หรือสัตว์ที่เลี้ยงไม่เชื่อฟัง ก็ตี แบบนี้เรียกว่าไม่ได้เกิดซ้ำซาก

การทารุณกรรมสัตว์ สะท้อนถึงตัวผู้กระทำ

สิ่งที่เกิดขึ้นใน 2 ประเด็นในการทารุณกรรมสัตว์ ทั้งการทอดทิ้ง หรือ กระทำการรุนแรงโดยตรง ถือเป็นสิ่งสะท้อนไปยังผู้กระทำ ว่าอาจจะมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือกลายเป็นปัญหาสังคม ไม่ใช่แค่เพียงตัวสัตว์ที่เป็นเหยื่อ

“คนเหล่านี้ บางคนอาจจะกลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ก่อเหตุอาชญากรรม ปล้น จี้ หรือลักขโมย แก่นของเรื่องนี้มาจากประเด็นเดียวกัน คือ “ขาดความรับรู้ผิดชอบชั่วดี” และ “ขาดการควบคุมตัวเอง

แนวทางการแก้ปัญหา ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อสังคมสงบสุข

...

ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เผยว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ ทั่วโลก ใช้วิธีการเดียวกัน คือ การออกกฎหมาย พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ โดยจะมีการนิยาม การทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งก็มีทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูในแบบโซน “สีเทา” เช่น สัตว์ในฟาร์ม มีการเลี้ยงดูอย่างแออัด วิธีการฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ ที่บางแห่งใช้วิธีการแบบเจ็บปวดทรมาน ซึ่งกฎหมายบางประเทศ จะไม่เหมือนกัน แต่ส่วนมากประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมี กฎหมายในการดูแลควบคุมสัตว์ ทั้งมาเลเซีย ฮ่องกง หรือแม้แต่ในประเทศไทยก็ตาม...

สิ่งสำคัญของประเด็นทารุณกรรมสัตว์ คือ การดูแลเด็กและเยาวชน เพราะเด็กที่ทำรุนแรงกับสัตว์ ก็จะมีแนวโน้มเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรง แต่การที่เขายังเด็ก ถือเป็นโอกาสที่จะได้ปรับปรุงแก้ไข คนที่มีหน้าที่ดูแลเด็ก ก็ต้องหมั่นเข้าไปดูแลใกล้ชิดขึ้น หรือถ้าดูแลไม่ได้ก็จะมีสถานสงเคราะห์ภาครัฐ หรือ NGO ช่วยเหลือเลี้ยงดู โดยเฉพาะเรื่องความรู้ผิดชอบชั่วดี โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์โกรธ

ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ที่กระทำซ้ำๆ นอกจากกฎหมายที่ดำเนินคดีได้อยู่แล้ว นักสังคมสงเคราะห์ ก็ควรจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ว่ามีเหตุปัจจัยอื่นมากกว่า เรื่องการ “ทารุณสัตว์” หรือไม่ เช่น การทำรุนแรงกับคนในครอบครัว หรือการก่อเหตุอาชญากรรมอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการและดูแลให้ครอบคลุม

“ความรุนแรงมีหลายรูปแบบ เช่น ทางการเมือง เราไม่ฟังคนเห็นต่าง และใช้ความรุนแรง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือแม้แต่การทำร้ายสัตว์ ซึ่งทุกเรื่องก็คือความรุนแรงทั้งสิ้น ฉะนั้น ถ้าอยากเห็นสังคมสงบสุข ก็ไม่ควรใช้ความรุนแรงในทุกๆ รูปแบบ” นพ.ยงยุทธ กล่าว

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความน่าสนใจ