เหตุการณ์ที่ชายวัย 20 ปี คลุ้มคลั่ง ก่อเหตุใช้มีดไล่แทงเพื่อนบ้านและคนในชุมชน ซอยกรุงเทพกรีฑา ย่านหัวหมาก กรุงเทพฯ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต 1 ราย ถือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุด ที่เกิดขึ้นจากผลพวงของอาการหลอนจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งผู้ก่อเหตุ มีประวัติเคยเข้ารับการรักษาอาการจิตเวชจากการเสพยาเสพติด แต่เมื่อรักษาจนอาการดีขึ้นและกลับออกมา พบว่า ผู้ก่อเหตุกลับไปเสพยาเสพติดอีก จนท้ายที่สุด เกิดอาการคลุ้มคลั่งและก่อเหตุรุนแรงขึ้น และทำให้คนในชุมชนยังคงผวาและเกิดความหวาดระแวงว่าปัญหาเช่นนี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีกหรือไม่

กรณีนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" พูดคุยกับ "พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้ข้อมูลต่อสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงกับผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดไว้น่าสนใจ   

"พญ.อัมพร" ระบุว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า ในระยะหลังๆ เรื่องของความรุนแรงเกี่ยวข้องกับการเข้าถึง หรือการได้รับสารเสพติด โดยเฉพาะตัวที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ กลุ่มของ "ยาบ้า" ข้อมูล ผู้ป่วยมารับบริการด้านจิตเวช ปี 2564 พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชที่ติดยาบ้า 155,631 คน และติดสารเสพติดอื่นๆ 204,984 คน การเก็บข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ยังพบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชจากเสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการรักษา ในแต่ละปีมีถึงหลัก 100,000 คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่ง เป็นผู้ที่ก่อความรุนแรงด้วย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ  

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

...

ห่วงผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดก่อความรุนแรงสูงขึ้น

ตัวเลขที่น่าเป็นห่วง คือ ข้อมูลล่าสุด ในปี 2565 มีผู้ป่วยจิตเวชจากการเสพยาเสพติดก่อความรุนแรงรายใหม่ 3,527 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2564 อยู่ที่ 2,783 ราย เมื่อย้อนกลับไปอีกใน ปี 2563 อยู่ประมาณ 1,463 ราย การเพิ่มขึ้นแบบนี้ทำให้น่าเป็นห่วง ซึ่งทำให้ต้องมาวิเคราะห์และทำการบ้านกันขนานใหญ่ ขณะที่ผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดและก่อความรุนแรง สะสมตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน มียอด 27,518 ราย 

"สิ่งที่น่าห่วงก็คือผู้เสพติดรายใหม่ ครั้งแรกๆ ของการก่อความรุนแรง คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดกับใคร"

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก่อความรุนแรง โดยหลักการแล้ว คงจะอธิบายได้ด้วยการทำงานของสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ควบคุมพฤติกรรม จะทำงานได้น้อยลง และมีการใช้สารเสพติดที่ลดการยับยั้งชั่งใจ 

ผลพวงของผู้ป่วยทางจิตเวช ที่มีสาเหตุ หรือถูกซ้ำเติมจากการกลับไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น การเสพยาบ้าจนสมองเกิดภาวะฟั่นเฟือน กลายเป็นโรคทางจิตเวชที่เรื้อรัง ต่อให้กลับไปเสพ หรือไม่เสพ แต่หากสมองพังไปแล้วก็ยังเกิดอาการได้ ส่วนอีกกรณีคือ การที่สมองพังไปเรื่อยๆ และยังกลับไปเสพยาอีก ก็จะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น

ปัจจัยจากยาเสพติดเป็นตัวเร่งเร้า และทำให้เรื้อรังรักษายาก

ในรายที่อาการยังไม่รุนแรงเนื้อสมองยังไม่เสียหายมากนัก การรักษาที่ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอในระยะหนึ่ง สามารถทำให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่ภาวะปกติได้  แต่ความเป็นปกติของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกัน บางคนอาจจะไม่ต้องกินยาแล้ว แต่ในบางคนก็อาจจะต้องติดตามและรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องกินยาหรือรับยาฉีดอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเขาป่วยแล้ว สมองเกิดภาวะฟั่นเฟือน การรักษาช่วยได้ ซึ่งยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันก็สามารถควบคุมอาการเหล่านี้ เมื่อผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มนี้ รักษาจนอาการดีขึ้นและหมออนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว ผู้ป่วยยังมีความเสี่ยงที่จะต้องกินยาต่อเนื่อง ก็จะมีบุคลากรทางการแพทย์ไปคอยติดตาม ร่วมกับอสม. แต่บางทีผู้ป่วยย้ายที่อยู่หาไม่พบ บางครั้งก็ไปโผล่อยู่อีกชุมชนหนึ่งและมาพร้อมกับการสร้างอันตรายเกิดขึ้น

อีกปัญหาที่พบ คือ ผู้ป่วยเมื่ออยู่ในมือหมอหรืออยู่ที่โรงพยาบาล สามารถควบคุมอาการได้ดี แต่เมื่อกลับบ้านไป เกิดภาวะของการขาดยา ไม่ว่าจะเป็นตัวของเขาเอง อาจจะละเลย กินยาบ้าง หรือไม่กินยาบ้าง และเมื่อเริ่มขาดยา ทุกอย่างก็จะยิ่งถดถอย

การรักษาโรคทางจิตเวช ด้วยความที่เป็น "โรคเรื้อรัง" จำเป็นต้องกินยารักษาต่อเนื่อง โรคควบคุมได้ แต่ต้องไม่ขาดยา แต่ด้วยสภาพของตัวโรค และพื้นฐานของตัวผู้ป่วยเองที่มักจะขาดการดูแลตัวเอง มีภูมิหลังที่ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่มาก บางคนอยู่ในสภาพไร้ญาติขาดมิตร ปราศจากการดูแลจากญาติ ทำให้มีโอกาสที่จะขาดยามีได้พอสมควร  หากขาดยาในระยะสั้นๆ ยังพอไหว แต่หากปล่อยนานไป อาการก้าวร้าวรุนแรงก็จะกลับมาได้

ขณะที่การย้อนกลับไปเสพซ้ำ แทนที่รักษาแล้วจะทำให้อาการดีขึ้น ก็จะทำให้ทรุดลง ปัญหาการเสพซ้ำ ยังต้องติดตามดูแล ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังเลือกใช้ยาเป็นเครื่องบำบัดทุกข์ในทางที่ผิด และหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า หลายคนก็ย้อนกลับไปใช้สารเสพติดอีก ทำให้การแก้ปัญหาผู้ป่วยกลุ่มนี้ยากลำบาก

...

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการเข้าถึงสารเสพยาเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานให้หนักขึ้น ทั้งการควบคุม การปราบปราม

แนะคนใกล้ชิดสังเกตความผิดปกติ

หากไม่เห็นว่าผู้ป่วยมีการหยุดยาหรือขาดยา ให้สังเกตอาการที่ ผู้ป่วยบ่นว่านอนไม่หลับ มีภาวะที่ดูแปลกไป เช่น กิจวัตรประจำวันเริ่มไม่เหมือนเดิม เวลาที่จะกินไม่กิน หรือเวลาที่ควรจะนอนไม่นอน บางครั้งพูดจาสับสน ซึ่งจะสะท้อนถึงอาการหลอนของเขา รวมถึงความฉุนเฉียวและการควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี อาจจะดูเกรี้ยวกราด มีอารมณ์ที่คาดการณ์ได้ยาก เริ่มเป็นสัญญาณเตือน ต้องระวังเป็นพิเศษ ญาติ สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงถ้าหากว่ามีความเข้าใจที่ดี เห็นว่าไม่ได้กินยาหรือเริ่มบ่นว่า นอนไม่หลับ เริ่มมีความพันธ์ที่เป็นปัญหากับคนรอบข้าง หรือเริ่มทำท่าพูดคนเดียว ซึ่งคนรอบข้างจะต้องใส่ใจ และถามว่ากินยาแล้วหรือยัง รวมถึงรีบพาไปหาหมอ

ทันทีที่เห็นสัญญาณ คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดจะต้องรีบถามไถ่ หยิบยื่นความช่วยเหลือ ในตอนที่ยังสามารถสื่อสารกันได้ และนำเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่ถ้าเริ่มเห็นสัญญาณว่าไม่ไหวแล้ว เริ่มตอบสนองไม่รู้เรื่อง มีท่าทีสับสน กรณีนี้ก็อย่ารอ! เป็นหน้าที่ของคนในสังคมที่จะไม่ปล่อยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเช่นนี้อยู่ในชุมชน สามารถประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือตำรวจ

...

ตั้งเป้าลดผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด

ที่ผ่านมา มีการตั้งเป้าลดผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดให้ลดลง โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตทำงานในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เพราะเห็นถึงสถานการณ์ เช่นความกดดันในสังคม ความเป็นสังคมเมือง ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดตามและขึ้นทะเบียนผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดและมีการติดตามเยี่ยมบ้าน ให้ความรู้กับครอบครัว ซึ่งความเข้มข้นตรงนี้สามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยได้อย่างชัด ไม่ใช่แค่ลดอันตรายจากคนรอบข้าง และแต่ลดอัตราที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะกลับไปเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอีก

หัวใจสำคัญ ที่กรมสุขภาพจิตกำลังทำ คือการใช้ยาที่มีประสทธิภาพ คงระยะเวลาการรักษาให้นาน ใช้เครือข่ายร่วมออกเยี่ยมในชุมชน  กลไกแบบนี้ช่วยลดความเจ็บป่วยและความรุนแรงได้มาก แต่ด้วยบุคลากรอาจจะยังไม่พอ ก็พยายามสร้างเครือข่ายและเร่งเพิ่มจำนวนบุคลากร เมื่อมีปัญหาโตขึ้น สังคมซับซ้อนมากขึ้น ต้องมีการเข้าถึงสังคมเชิงรุกมากขึ้น "ไม่ใช่รักษาให้หาย แต่รวมถึงกระบวนการฟื้นฟูในชุมชนต้องดีด้วย" จึงมีการผลักดัน ให้การติดตามรักษาต่อเนื่องในชุมชนเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด จะทำให้มีกลไกในการดูแลต่อเนื่องมากขึ้น

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง