ทุกครั้งที่มีกระแสการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเหมือนการจุดความหวังของคนภาคแรงาน ที่จะมีโอกาสได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น หลังจากก้มหน้าก้มตาสู้กับงาน เพื่อนำเงินที่ได้มาเป็นค่าใช้จ่ายดำรงชีพ โดยเฉพาะในภาวะที่ค่าครองชีพพู่งสูงไม่หยุด ที่ผ่านมาการปรับแบบค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด เกิดในช่วงปี 2555 ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ค่าแรงขั้นต่ำปรับมาเป็น 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ และปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท

ขณะที่การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุด 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปรับขึ้นสูงสุด 354 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท ส่วนกรุงเทพและปริมณฑล อยู่ที่ 353 บาท แต่กว่าจะได้ตัวเลขนี้ออกมา ก็มีการถกและเถียงกัน ทั้งจากภาคแรงงาน ภาคนายจ้าง และรัฐบาล เพราะตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่ตัวแทนภาคแรงงานเสนอ สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำไปมาก ประกอบกับสภาพการจ้างในปัจจุบัน มีการจ้างแรงงานในอัตราค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในหลายพื้นที่

กระแสการปรับค่าแรงขั้นต่ำถูกจุดติดขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก "น.ส.แพทองธาร ชินวัตร" ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ขึ้นพูดในเวทีประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2565 ซึ่งมีผู้บริหารพรรค แกนนำ ส.ส. และสมาชิกพรรค เข้าร่วมประชุม ในช่วงหนึ่งมีการนำเสนอนโยบาย การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน และปริญญาตรี 25,000 บาท ทำให้ตัวเลขนี้ถูกตั้งคำถามว่า เป็นนโยบายหาเสียงที่จะทำได้จริงหรือไม่?

“ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” คุยกับ “ดร.ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ “ECONTHAI” ที่ให้มุมมองต่อเรื่องนี้ ทั้งในฐานะของภาคเอกชนที่เป็นนายจ้าง และคนที่เฝ้าติดตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาโดยตลอด

...

ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ ECONTHAI
ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ ECONTHAI

“ดร.ธนิต” สะท้อนว่า ในแง่ของนโยบายพรรคการเมือง เมื่อหยิบเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาใช้ในการหาเสียงแล้ว หากผู้เสนอนโยบายได้เข้ามาเป็นรัฐบาลและอยู่ครบตามระยะเวลา พรรคการเมืองนั้นก็คงจะต้องผลักดันในนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ และหากเป็นพรรคที่มีอำนาจเป็นรัฐบาลก็สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ แต่ที่ผ่านมาพรรคที่ได้เป็นรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เมื่อถึงเวลาจริงก็ไม่เกิดขึ้น “ดร.ธนิต” ระบุว่า พรรคการเมืองก็ผูกโยงกับภาคธุรกิจ หรือนายทุน หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สูงเกินไป ก็เกิดผลกระทบกลับมาในแวดวงธุรกิจของตัวเอง ก็อาจจะเดือดร้อนได้ 

เมื่อดูที่ตัวเลขหากจะปรับขึ้น 600 บาทต่อวัน ในปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นการปรับขึ้นในรูปแบบใด? หากเปรียบเทียบฐานค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานครที่ 353 บาท เท่ากับจะต้องปรับขึ้นประมาณ 250 บาท ปรับขึ้นประมาณปีละ 50 บาท เฉลี่ย 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน ในมุมมองของลูกจ้างแน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องดี เพราะได้ปรับขึ้น แต่นายจ้างจะรับได้หรือไม่ หากมีคนงาน 100 คน ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ประมาณ 150,000 บาทต่อเดือน หากมีคนงานมากกว่านั้นก็ต้องเพิ่มขึ้นไปอีก แล้วยิ่งการค้าขายในสภาพเศรษฐกิจเหมือนเช่นปัจจุบัน ก็อาจจะลำบาก ประกอบกับศักยภาพของนายจ้างก็แตกต่างกันต้องดูตรงนั้นด้วย

วิกฤติค่าแรงขึ้น ทำโรงงานย้ายฐานการผลิต

การปรับค่าจ้างไม่ใช่เฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จะกระทบไปถึงธุรกิจในทุกรูปแบบ รวมทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมที่ต้องใช้กรรมกรแบกหาม พวกนี้มันเป็นต้นทุน ภาคการประมง อุตสาหกรรมที่ใช้คนจำนวนมาก แต่มีราคาขายสินค้าที่ต่ำ เช่น อุตสาหกรรมอาหารกระป๋องเสื้อผ้ารองเท้า อุตสาหกรรมรับจ้างผลิต ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงและย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นกันแล้ว นับตั้งแต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่อยู่ไม่ได้ ก่อนหน้านี้ไทยเป็นแชมป์ในการส่งออก เรื่องของเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า แต่ในเวลานี้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังกัมพูชากันหมด ทำให้การลงทุนในไทยก็ลดลงและทุกวันนี้เราไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการลงทุน ตรงนี้ต้องดูผลกระทบด้วย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก และ SMEs

“มองในแง่ของความเป็นกลาง หากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูง จะเป็นการทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจ กลายเป็นแรงงานไม่มีคนจ้าง ผู้ประกอบการไม่มีกำลังในการจ้างคน”

...

ขณะเดียวกันแรงงานในบ้านเราก็ไม่ใช่แรงงานที่มีทักษะเหมือนกันทุกคน ซึ่งก็มีแรงงานในหลายระดับ สุดท้ายนายจ้างก็ต้องเร่งเอาเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามา แรงงานที่เคยมีงานทำก็ปรับตัวไม่ได้ และถูกเลิกจ้าง  เมื่อมีการปรับใช้เทคโนโลยีแล้วพนักงานเหล่านี้จะอยู่อย่างไร?

“ขึ้นค่าแรงเอกชนก็ไม่ยอมขาดทุน สุดท้ายก็ไปอยู่ที่ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ภาระตกอยู่ที่ผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นมาโดยตลอด”

สิ่งที่เห็ดได้ชัด เมื่อปี 55 ถึง 56 ก่อนการปรับค่าแรง 300 บาท ราคาข้าวแกงจานละ 10-20 กว่าบาท ก็ยังพอมีให้เห็น เมื่อค่าจ้างปรับขึ้นมาสูง 300 บาทในตอนนั้น ราคาข้าวแกงปรับขึ้นมา 25-30 บาท และการปรับค่าแรงครั้งล่าสุดก็ทำให้ข้าวแกงราคาขึ้นมา 40-50 บาท ทุกอย่างมันตามมา

...

ใช้กลไกไตรภาคีแก้ปัญหาค่าแรง

พรรคการเมือง ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีคณะกรรมการร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนนายจ้าง และภาคแรงงาน หรือที่เรียกว่าไตรภาคี ทำหน้าที่ในการพิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการหาทางออกร่วมกันที่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคี เป็นกลไกในการทำงานพิจารณาการขึ้นค่าแรงมากว่า 30 ปีแล้ว

“ดร.ธนิต” ระบุว่า เมื่อพรรคการเมืองเข้ามาแทรกแซงทีก็จะเป็นปัญหาที ในอดีตการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงของการปรับขึ้น 300 บาท ก็มีการเข้ามาแทรกแซง แต่เป็นการแทรกหรือชี้นำผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง มีการหารือกันเป็นปีๆ เพราะสภาพเศรษฐกิจในแต่ละปีไม่เหมือนกัน ซึ่งการปรับค่าจ้างในแต่ละปีก็ต้องดูเรื่องของ GDP เงินเฟ้อ และความสามารถของนายจ้างและความเดือดร้อนของลูกจ้าง ก็ต้องมีการหารือกันทั้ง 3 ฝ่าย

ทุกรอบที่มีการพูดถึงเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภาคการเมืองก็จะมีธงอยู่เสมอ แต่เมื่อถูกนำไปพูดคุยในคณะกรรมการไตรภาคี ก็จะมีการหาจุดสมดุลระหว่างกัน อย่างเช่นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีการหารือจนยอมถอยกันคนละก้าว ก็สามารถอยู่ด้วยกันได้ ทางออกค่าแรงขั้นต่ำต้องจบที่ไตรภาคี

...

ขณะที่ฝั่งตัวแทนของภาคแรงงาน อย่าง "คุณชาลี ลอยสูง" ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ซึ่งต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับภาคแรงงานมาโดยตลอด มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สูงเกิน ก็อาจไม่ใช่ผลดีกับแรงงานเสมอไป

“สิ่งที่เราได้เป็นเหมือนยาพิษ เพราะหากอยากปรับค่าแรงขั้นต่ำ พอปรับขึ้นมาแล้ว ก็มีผลกระทบกับพวกเรากันเอง มีการปลดพนักงาน มีการเลิกจ้าง ลดคนงานจนไปถึงการปิดบริษัท สุดท้ายภาพแรงงานก็ตาย” 

เป็นคำพูดที่ “คุณชาลี” ฉายให้เห็นปัญหาที่แฝงอยู่ทุกครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ชาลี ลอยสูง  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
ชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด มาเป็น 300 บาท เมื่อปี 2555 เทียบกับนโยบายหาเสียงครั้งนี้แทบจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้ เป็นนโยบายที่อาจจะเกินจริง เพราะเมื่อตอนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นนโยบายที่กว่าจะทำได้ก็ใช้เวลานาน แค่มีการประกาศออกมาเป็นนโยบาย ก็กลายเป็นกระแสที่แม้ยังไม่มีการจะปรับค่าแรง แต่ค่าครองชีพก็ปรับเพิ่มขึ้นไปรอก่อนแล้ว เมื่อค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ก็ต้องมีการขอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำอีก แต่กว่าจะได้รับการปรับขึ้นค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้นไปแล้ว 2-3 เท่า

"ทุกทีที่มีกระแสการจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ค่าครองชีพก็จะนำหน้าไปก่อนแล้ว ปัญหาเรื่องของค่าแรงกับค่าครองชีพก็เป็นปัญหาที่วนอยู่ในอ่าง"

การวางกรอบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ไว้ถึงปี 2570 เท่ากับว่า ขึ้นประมาณเกือบ 20% ในเชิงของหลักการอาจจะพอเป็นไปได้ แต่ต้องดูว่าในอนาคตข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นขนาดไหน โดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤติหลังโควิด-19 ระบาด เรื่องของสงคราม ซึ่งอัตราเงินเฟ้อสูงสุดของไทยขึ้นไปแตะเกือบ 8% ซึ่งมองแล้วสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรเกิน 10% แรงงานอาจได้รับผลดีในช่วงแรกๆ ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่สุดท้ายก็ต้องเอาไปจ่ายให้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และบางทีก็สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ “การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถึง 600 บาท ก็อาจจะเป็นไปได้ยาก”

เปลี่ยนจาก "ค่าแรงขั้นต่ำ" เป็น "ค่าจ้างแรกเข้า"

สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในเชิงนโยบายให้ชัดเจน คือ การเปลี่ยนจากคำว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น ค่าจ้างแรกเข้า โดยใช้ ค่าจ้างสูงสุด อยู่ที่ประมาณ 354 บาท เป็นฐาน เป็น "ค่าจ้างแรกเข้า" ลูกจ้างที่เข้ามาทำงานครบ 1 ปีแล้วต้องมีการปรับค่าจ้าง เป็นค่าจ้างรายปี ซึ่งไม่ได้เป็นการบังคับ อาจรวมกับค่าความรู้และความสามารถ อีกสัก 1% หรือ 2% ให้ขึ้นตามกำลังความสามารถของแต่ละบุคคล และทุกบริษัทต้องมีโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดเจน จะทำให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี แบบนี้ค่าจ้างจะหมุนขึ้นไปตามสภาวะเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ โดยการปรับค่าแรง ก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ประกอบการ และผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ ทำให้ไม่เกิดความกดดันเมื่อจะต้องปรับขึ้นค่าแรง เหมือนกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

ที่ผ่านมา พบปัญหาบางบริษัทที่มีการอ้างอิงค่าจ้างขั้นต่ำ แล้วเกิดประเด็น ค่าจ้างขั้นต่ำตลอดชีวิต ซึ่งแรงงานไม่สามารถโตได้ จะต้องรอการปรับจากรัฐบาลอย่างเดียว จนกลายเป็นปัญหา ซึ่งไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่แรงงานอยู่ไม่ได้ เมื่อหลายๆ บริษัทคิดอย่างนี้ ก็ทำให้ยังมีการไปเรียกร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่

“คุณชาลี” กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า พรรคการเมืองไม่ควรที่จะหาเสียงกับเรื่องค่าแรง ไม่ใช่คิดนโยบายออกมาเพื่อการเลือกตั้ง แต่เมื่อจบแล้วก็อาจจะไม่เกิดขึ้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องทำให้มีแผนชัดเจน ไม่ใช่มีการปล่อยออกมาเป็นกระแสว่าจะขึ้นเท่านั้นเท่านี้ หากเป็นเช่นนั้นก็อาจจะทำให้พังทั้งระบบ.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง