ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ หรือระบบตัดแต้ม ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 142/1 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค. 2566 ซึ่งผู้ใช้รถทุกคนต้องรู้ ย้ำเตือนตัวเองในเรื่องวินัยการขับขี่ ไม่ทำผิดกฎจราจร และระมัดระวังในการขับขี่บนท้องถนน เพื่อไม่ให้ถูกตัดแต้มที่มีอยู่ 12 คะแนน
หากทำผิดที่เป็นปัจจัยให้เกิดอุบัติเหตุ จะถูกตัดคะแนนทันที แบ่งเป็น 4 ระดับ ตัด 1 คะแนน เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ, ตัด 2 คะแนน เช่น ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร, ตัด 3 คะแนน เช่น ขับรถชนแล้วหนี และตัด 4 คะแนน เช่น เมาแล้วขับ ขับรถขณะเสพยาเสพติด ส่วนความผิดอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และกฎหมายที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น
วิธีการตัดคะแนนใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากฐานข้อมูลใบสั่ง PTM (Police Ticket Management) หรือระบบจัดการใบสั่งออนไลน์ครบวงจร ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง หากผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถทุกประเภท เป็นเวลา 90 วัน
หรือหากฝ่าฝืนขับรถขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 3 ปี อาจจะถูกสั่งพักใช้มากกว่า 90 วัน และหากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่อีกเป็นครั้งที่ 4 อาจถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
...
เงื่อนไขในการคืนคะแนน แบ่งเป็นการคืนคะแนนโดยอัตโนมัติ และการคืนคะแนนเมื่อผ่านการอบรมจากกรมการขนส่งทางบก โดยกรณีการคืนคะแนนอัตโนมัติ จากคะแนนที่ถูกตัดไปในแต่ละครั้ง จะได้รับคืนเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งนั้นๆ เว้นแต่ถูกตัดเหลือ 0 คะแนน จะได้รับคืนเมื่อพ้นกำหนดเวลาการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ แต่ได้รับคืนเพียง 8 คะแนน
หากต้องการคะแนนคืนสามารถเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบก ใน 2 กรณี 1.คะแนนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน สามารถเข้าอบรมได้เพียงปีละ 2 ครั้ง 2.ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน ต้องการคะแนนกลับคืนมาทั้งหมด 12 คะแนน โดยเงื่อนไขจะต้องผ่านการทดสอบได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 หากไม่ผ่านสามารถทดสอบใหม่อีกครั้งในวันเดียวกัน และหากยังไม่ผ่านการทดสอบอีก จะทดสอบเป็นครั้งที่ 3 ภายใน 7 วันนับแต่วันที่เข้ารับการทดสอบครั้งแรกไม่ผ่าน
น่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดีในการเริ่มใช้ระบบตัดแต้ม เพื่อยกระดับให้เป็นมาตรฐานสากลเหมือนหลายๆ ประเทศ มีทั้งข้อดีข้อเสีย “พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) มองว่า ข้อดีจะมีมากกว่าทั้งการกำกับ และควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ ทำให้ผู้ใช้รถระมัดระวังมากขึ้น แต่เบื้องต้นต้องดำเนินการภายใต้ความพร้อม เพราะทุกวันนี้แทบไม่เห็นตำรวจตรวจใบขับขี่ ปล่อยให้คนไม่มีทักษะ หรืออายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่มีใบขับขี่ขับรถ หรือเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นปัญหาการกำกับดูแล ไม่เป็นตามมาตรฐานสากล
“บางประเทศตัดแต้ม และเสียค่าปรับ สามารถตัดแต้มได้ข้ามประเทศ เมื่อไทยเริ่มบังคับใช้ ถือเป็นข้อดีทำให้พฤติกรรมการขับขี่เกิดการตระหนักมากขึ้น จากการตัดแต้มตั้งแต่ 1-4 คะแนน เรียงตามลำดับความหนักเบา แม้จะยิบย่อย แต่ก็เป็นประโยชน์ หากถูกตัด 4 คะแนน 3 ครั้ง ก็หายหมด 12 คะแนน และตามมาด้วยกระบวนการคืนคะแนน ทำให้บางอาชีพได้รับผลกระทบแน่นอน อย่างไรเดอร์ หากฝ่าไฟแดง 6 ครั้ง ก็ถูกตัดคะแนนครั้งละ 2 คะแนนจนหมด เท่ากับสิทธิหายไป เช่นเดียวกับคนขับรถบรรทุก ต้องระมัดระวังมากขึ้น แต่ระหว่างทางนั้นใครจะตัดสินว่าใช่หรือไม่ใช่ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เกรงว่าอาจเกิดดราม่ากันทั้งประเทศ”
เพราะความจริงต้องยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่มีองค์ความรู้ เพราะกลไกอำนาจจากผู้บังคับบัญชาในส่วนกลาง ทำให้ไม่รู้ และทำงานล่าช้า ในการใช้เครื่องมือ หรือคนพกใบขับขี่ หรือไม่พกใบขับขี่ สามารถตรวจสอบได้จากบัตรประชาชน ซึ่งตำรวจต้องโหลดแอปฯ เพื่อตรวจสอบ ยกเว้นกระทำผิดซึ่งหน้าเท่านั้น เช่น ขับรถย้อนศร ฝ่าไฟแดง หรือจอดรถในที่ห้ามจอด จะสามารถตัดแต้มในระบบได้
...
สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานของตำรวจ ต้องมีข้อมูลแบบเรียลไทม์เชื่อมต่อกับกรมขนส่งทางบก คิดว่าผบ.ตร.คนนี้ เข้าใจเพราะรู้ปัญหา แต่เป็นห่วงข้อมูลปลายทางและการใช้เทคโนโลยีจะสามารถเชื่อมข้อมูลกับกรมขนส่งทางบกหรือไม่ ในการยกระดับขึ้นมาให้เชื่อมต่อกับกล้องวงจรปิดแบบอัตโนมัติ ในการเอาผิดผู้ทำผิดกฎจราจรโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ซึ่งกรมขนส่งทางบกจะมีเจ้าหน้าที่พิสูจน์ข้อมูลอีกต่อหนึ่งว่าคนขับเป็นใคร ยกเว้นคนขับไม่ใช่ผู้ครอบครองรถ เบื้องต้นต้องตั้งข้อกล่าวหากับผู้ครอบครองรถก่อน และไปสู่ขั้นตอนยื่นหลักฐานพิสูจน์ว่าไม่ใช่ผู้ขับรถ
ประเด็นการเชื่อมข้อมูลแบบเรียลไทม์ ควรทำเป็นวาระระดับประเทศ ไม่ใช่แค่นโยบายสวยหรู แต่ไปต่อไม่ได้ และยังป้องกันปัญหายาเสพติด การสวมทะเบียนรถ การฟอกเงิน หรือธุรกิจสีเทา และป้องกันอาชญากรรมจากการนำรถไปใช้ในการกระทำผิด ร่วมกับการตั้งจุดคัดกรอง มีเครื่องเอกซเรย์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อตรวจรถทุกครั้ง จะทำให้ตำรวจทำงานได้ง่ายขึ้น หรือมีกล้องจับใบหน้า เพื่อลดการเผชิญหน้า ซึ่งสำคัญมากในการอุดช่องโหว่การทุจริต
...
“ปัญหาอยู่ที่ว่าตำรวจจะมีกึ๋นมากพอหรือไม่ เต็ม 10 ให้ 4 คะแนน หรือก็แค่ได้สั่ง หรือแค่ได้ทำ แต่ขอชื่นชมผบ.ตร. ได้มานั่งหัวโต๊ะมาแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงเชื่อว่าน่าจะแก้ได้ แต่ก็ห่วงจะใช้วัฒนธรรมแบบเดิมว่าได้สั่งไปแล้ว และเงียบหายไป”.