จากกรณี ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้บอกเล่าประสบการณ์ การใช้รถยนต์ EV ยี่ห้อหนึ่ง และประสบอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ใต้ท้องรถครูดกับขอบถนน ทำให้มุมของฝาครอบกล่องแบตอ้าออก จากนั้น จึงได้นำรถเข้าศูนย์ และทางต้นสังกัดรถยนต์ ได้ตีราคาค่าซ่อม ถึง 602,998.50 บาท (ช็อกครั้งที่ 1) และทางประกันฯ บอกว่าเกินมูลค่าที่ประกันชั้น 1 จึงต้องตีเป็นซากรถ โดยคืนเงินทุนประกันให้ 770,000 บาทพร้อมกับต้องส่งซากให้ประกันฯ

กระทั่ง มีการติดต่อกลับมา อีกครั้ง ยังยืนยันว่าค่าซ่อมเป็นมูลค่า 602,998.50 บาท โดยประกันจะช่วย 5 แสนกว่า โดยบริษัทรถยนต์ จะให้ส่วนลดอีกประมาณ 40,000 กว่า ส่วนที่เหลือราวๆ 30,000 ลูกค้าจะต้องจ่ายเอง...

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้มีคำถามคาใจกับผู้ใช้รถยนต์ดังกล่าว ว่า 1.สมควรจ่ายส่วนต่างเองอย่างนั้นหรือ รวมไปถึงตีราคาซ่อมสูงขนาดนั้น?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปกติการออกแบบการป้องกัน “แบตเตอรี่” รถยนต์ขึ้นอยู่ที่แต่ละค่ายรถยนต์ดีไซน์ออกมา แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ Ground Clearance (ความสูงจากพื้นถึงจุดต่ำสุดใต้ท้องรถ) แต่เคสที่เกิดขึ้น มาจากการถอยรถยนต์ไปชนกับคล้ายๆ เนิน ซึ่งถือเป็นเรื่องอุบัติเหตุปกติที่เกิดขึ้นได้...

...

ดังนั้น Ground Clearance จึงถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น ถือว่าไม่ใช่การขับรถยนต์ทั่วไป แต่เป็นอุบัติเหตุที่ขับแล้วไปชน

อย่างไรก็ตาม เคสนี้ประเด็นสำคัญอยู่ที่ “การตีราคา” ค่าซ่อมรถยนต์มากกว่า....คำถามคือ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบถึง “ข้างใน” กระทบกับเซลล์แบตเตอรี่ หรือไม่ สิ่งนี้คือสิ่งที่บริษัทรถยนต์น่าจะชี้แจงออกมา...

ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีเหมือนกับ “เคสมือถือแตก” แล้วมันซ่อมไม่ได้ ข้างในพังหมดหรือไม่ จำเป็นต้องเปลี่ยนเลย หรือ ว่าที่จริงแล้ว ควรเปลี่ยนแค่ “เคส” ก็ได้...?

สิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านการประเมินมาแล้วหรือไม่?
เปลี่ยนแค่เคสได้หรือไม่?
แบตได้รับผลกระทบจริงๆ หรือไม่?

นี่คือ “คำถาม...” ที่ต้องอธิบายทำความเข้าใจ เพราะเท่าที่ตั้งข้อสังเกตจากเคสนี้ คือ คำตอบที่ยังไม่เคลียร์

กูรูยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ในบางบริษัท เวลาเกิดอุบัติเหตุขึ้น เขายังสามารถเช็กไปยังเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อแก้ไขได้ ซึ่งก็ไม่ทราบได้ว่ามีอะไหล่หรือไม่? และทำไมต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งลูก

“จากที่ดูตามข่าว ดูจากภาพแล้ว ไม่ได้ขูดลึก เพียงแค่กระแทกเล็กน้อย ดังนั้น บริษัทรถยนต์ดังกล่าวจำเป็นต้องให้ข้อมูลกับประชาชนที่ใช้รถยนต์”

มาตรฐานการออกแบบ จำเป็นไหม ที่ แบตเตอรี่รถยนต์ EV ต้องเก็บไว้ที่ฐานรถยนต์? รศ.ดร.ยศพงษ์ อธิบายว่า รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ ก็วางแบตเตอรี่ ไว้ตรงนั้น เพราะเป็นพื้นที่กว้าง ที่จะวางแบตฯ ได้ดีที่สุด

“ส่วนตัวผมมองว่า ยังไง รถเก๋ง EV วางแบตฯ ใต้รถก็เป็นอะไรที่เหมาะสมที่สุดแล้ว หากจะวางด้านหน้า หรือ ด้านหลัง ก็มีโอกาสที่ถูกชนได้สูงกว่า เพราะโดยทั่วไป รถจะมีการชนจากข้างหน้ามากกว่า...การชนจากด้านล่าง ถือว่ามีโอกาสน้อยมากๆ ยกเว้นว่าขับแบบไม่เหมาะสม หรือ เป็นอุบัติเหตุ อย่างที่เกิดขึ้น และคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด ขณะเดียวกัน ก็มองว่า การออกแบบรถยนต์ EV ดังกล่าว และวางแบตฯ ไว้ที่ฐานรถยนต์ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด สิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่า ปัญหามาจาก “เคลมประกัน” มากกว่า”

มาตรฐานการป้องกัน “แบตเตอรี่”

...

ทีมข่าวถามถึงมาตรฐาน การป้องกัน “แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า” เป็นอย่างไร กูรูยานยนต์ไฟฟ้า ให้ข้อมูลว่า ปกติแล้ว การป้องกันจะถูกคิดและป้องกันไปถึงระดับ “เซลล์แบตเตอรี่” โดยจะมีการทดสอบการกระแทกไปถึงระดับเซลล์ จะมีการติดไฟ หรือ ลุกไหม้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีระบบป้องกันอื่นๆ อีก ซึ่งเท่าที่มองเคสนี้ยังไงก็เชื่อว่าแบตเตอรี่ ไม่น่าจะได้รับความเสียหาย เพราะรถยนต์ ยังขับได้ปกติด้วยซ้ำ

สิ่งที่เกิดขึ้น กระทบกับวงการรถยนต์ EV หรือไม่ รศ.ดร.ยศพงษ์ มองว่า มันเป็นการสะท้อนว่า เวลาใช้รถยนต์ EV ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะในความเป็นจริง ข่าวที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับรถยนต์น้ำมันก็มีออกมาต่อเนื่อง หลายๆ เคส แก้ปัญหาด้วยการทุบรถทิ้ง ฉะนั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่บริษัทรถยนต์ต้องบริหารจัดการ

“เรื่องนี้ยังไง บริษัท ต้นทางต้องชี้แจง แต่คาดว่า บริษัทรถยนต์ คงมองว่าเป็นเรื่องของ “ประกัน” ซึ่งคิดว่าเป็นการมองที่ “ตื้นเขิน” เกินไป และสิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นบทเรียนในการออกแบบทางวิศวกรรม (engineering design) ซึ่งสุดท้ายของเรื่องนี้ คงต้องรอฟังทางบริษัทรถยนต์เสียก่อน ว่าการเคลมแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะคนทั่วไป ตั้งคำถามว่า ไม่เหมาะสม ทุกอย่างเป็นทอดๆ ไป จึงกลายเป็นเรื่องผลกระทบ” รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าว

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

...