กลายเป็นประเด็นดราม่า เมื่อผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ารายหนึ่ง โพสต์ภาพแท่นวางแบตเตอรี่ใต้ท้องรถ มีรอยบิ่น เพราะถอยรถครูดชนกับขอบถนน เมื่อเคลมประกันชั้น 1 ค่าซ่อมกลับสูงเกินวงเงิน จนเสนอให้ขอคืนตามทุนประกัน และให้ขายคืนเท่ากับซากรถราว 7 แสนบาท ทั้งที่รอยอุบัติเหตุเป็นเพียงรอยบิ่น จึงมีการถกเถียงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี

แม้มีการสนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล แต่ความเห็นของ “พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) มองว่า ไทยมีช่องโหว่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ใช้รถยนต์อีวี เพราะผู้ใช้งานและบริษัทประกันยังมีคำถามถึงโครงสร้างที่ครอบตัวแบตเตอรี่ ซึ่งอยู่ใต้ท้องรถ ถึงความปลอดภัย เนื่องจากเท่าที่ดูผู้ผลิตที่นำรถออกมาขาย โครงสร้างตัวถังครอบแบตเตอรี่ยังต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสม

“ผู้ผลิตควรออกแบบโครงสร้างบรรจุแบตเตอรี่ใต้ท้องรถ ให้สามารถกันกระแทก หรือมีระบบระบายความร้อนที่เหมาะสมกว่านี้ เพราะแบตเตอรี่เป็นชิ้นส่วนที่มีความอันตราย และมีราคาแพงมากที่สุดในการซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า”

บริษัทประกันที่เข้ามาคุ้มครองผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต้องมีการปรับเปลี่ยนการคุ้มครองให้เหมาะสม โดยต้องปรึกษากับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ให้มีการปรับปรุงจุดที่มีความเสี่ยง เพราะรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นเรื่องใหม่ ที่บริษัทประกันเองก็ต้องมองถึงระบบการคุ้มครองที่เหมาะสมและปลอดภัยของลูกค้า ในวงเงินประกันที่ตรงกับความเป็นจริง

“รถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทย เมื่อนำมาใช้แล้วเกิดอุบัติเหตุต้องนำไปซ่อมที่ศูนย์ เพราะขณะนี้ความรู้ของช่างไทยที่จะมาซ่อมในร้านภายนอกยังมีน้อย จึงเป็นอีกตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้รถไฟฟ้าต้องการการดูแลด้วยระบบประกันการคุ้มครองที่ต่างไปจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน”

...

ขณะนี้มีการแข่งขันผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสูง แต่ไทยยังไม่มีมาตรฐานกลางของคุณภาพแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ เช่น ต้องกำหนดว่าแบตเตอรี่สามารถทนแรงกระแทกเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้เท่าไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทประกัน ในการออกแบบการคุ้มครองและซ่อมแซมตามความเหมาะสม

หากรัฐบาลจะส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า บริษัทประกันที่คุ้มครองผู้ใช้รถบนท้องถนน ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานมากกว่านี้ เพราะผลสุดท้ายปัญหาก็กลับไปตกอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องซื้อรถในราคาแพง แล้วระบบประกันยังไม่คุ้มครองให้เหมาะสม

สำหรับปัญหาในระบบประกันที่ผู้บริโภคต้องจ่ายแพง จึงทำให้คนที่มีฐานะปานกลางไปจนถึงระดับล่าง เริ่มคิดหนักในการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งาน เพราะคนกลุ่มนี้ จำเป็นต้องใช้รถในการทำมาหากิน หากมีรายจ่ายที่แพงจนเกินตัว การส่งเสริมของรัฐบาลก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้.