ความไม่ชัดเจนในการผลักดัน "พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง" ที่ยังไม่ผ่านสภา ทำให้แต่ละฝ่าย ต่างพากันหาช่องเพื่อนำกัญชามาใช้ประโยชน์  เพราะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กลายเป็นกระแสที่สามารถสร้างเม็ดเงินรายได้มหาศาล หลังจากที่ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข "ออกประกาศ เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565"  เมื่อ11 พ.ย. 65 เน้นควบคุม ช่อดอกกัญชา ไม่ให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

แต่ข้อที่เหล่าบรรดาสายเขียว ผู้ที่นิยมใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ และผู้ประกอบธุรกิจ "ร้านคาเฟ่กัญชา" ที่หลังจากการปลดกัญชาออกจากยาเสพติด มีผู้ประกอบการที่หันมาลงทุน เปิดธุรกิจคาเฟ่กัญชาจำนวนมาก และเปิดให้บริหารสูบกัญชาในร้านเพื่อสันทนาการ  มีการพูดถึงประเด็นการประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ในข้อที่  ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานประกอบการ เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. 2562  และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ และผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่ใช้ในการรักษาสัตว์

...

จากหลักเกณฑ์ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขข้อนี้ ทำให้บรรดาร้านคาเฟ่กัญชาหลายร้าน พากันตีความว่า "หากต้องการขายกัญชาและเปิดให้ลูกค้าสูบในร้านได้ จะต้องมีแพทย์อยู่ประจำร้าน" เพื่อจำหน่ายกัญชาให้กับลูกค้า จนเป็นที่มา ที่ทำให้คาเฟ่กัญชาเพื่อสันทนาการหลายร้าน วิ่งหาแพทย์มาประจำที่ร้าน  จากข้อมูลที่ผู้ประกอบการร้านคาเฟ่กัญชารายหนึ่ง เปิดเผยกับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ว่า ร้านขายกัญชาที่ต้องการหาแพทย์มาประจำที่ร้าน ยอมจ่ายค่าจ้างแพทย์ในราคาสูง ซึ่งบางร้านก็ให้แพทย์เป็นหุ้นส่วนร้านแลกค่าตอบแทน ขณะที่บางร้านก็จ้างเกือบครึ่งแสนก็ยอมจ่าย เพราะบางสาขาที่เปิดขายกัญชาโดยเฉพาะในแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีเงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท 

แต่การตีความข้อกฎหมายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขแบบที่ร้านกัญชาเข้าใจ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต โดย "นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์" อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะหน่วยที่ออกใบอนุญาตให้กับธุรกิจร้านกัญชา ออกมาเคลียร์ประเด็นนี้ให้ชัด

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

"นพ.ธงชัย" เปิดเผยกับ “ทีมข่าวไทยเฉพาะกิจรัฐออนไลน์” ว่า หากร้านขายกัญชา การจะทำเช่นนั้นได้ จะต้องมีการขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาล แต่การจ้างแพทย์หรือแพทย์แผนไทย มาประจำที่ร้าน แต่ไม่ได้เป็นสถานพยาบาลถือว่า  "ทำไม่ได้"  เพราะว่าการจ้างแพทย์มาอย่างเดียว ไม่ถือว่าเป็นสถานพยาบาลตามกฎหมาย

สถานที่ที่อนุญาตให้สูบได้จะต้องเป็นการรักษา หรือคลินิกแพทย์แผนไทย หากจะเปิดเป็นคลินิกและต้องการสูบในร้านจะต้องทำ 2 อย่าง คือ

1.ต้องขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาล ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล

2.ขออนุญาตกรมแพทย์แผนไทยฯ เพื่อขออนุญาตในการใช้ช่อดอกกัญชา ถ้าทำเช่นนี้สามารถดำเนินการได้

...

หากเปิดเป็นร้านคาเฟ่ หรือร้านทั่วไปแล้วจัดให้มีสูบกัญชา โดยมีแพทย์อยู่ประจำร้านด้วย ก็ถือว่า 

"มีความผิด และต้องถูกยึดใบอนุญาต"   

เพราะไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเขียนชัดไว้อยู่แล้วว่า ห้ามสูบในสถานประกอบการ ยกเว้นการประกอบวิชาชีพแพทย์ แต่ไม่ใช่จะจ้างคนมาแล้วสามารถเปิดให้สูบได้  เพราะการทำเช่นนั้นต้องเป็นประกอบวิชาชีพแพทย์ด้วย และสถานที่นั้น ก็ต้องเป็นสถานประกอบวิชาชีพของแพทย์คนนั้นด้วย

“ถ้าเป็นร้านขายของ ขายดอกกัญชา แล้วก็จะสูบ เอาแพทย์มานั่ง ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาล ถือว่าไม่ถูกต้อง”

เมื่อถามว่า หากพบแพทย์ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในร้านคาเฟ่กัญชาจะมีความผิดด้วยหรือไม่?  "อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ" ระบุว่า ต้องไปดูกฎหมายอื่นประกอบว่าสามารถรักษานอกสถานพยาบาลได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามการที่แพทย์จะประกอบวิชาชีพได้จะต้องมีสถานพยาบาลที่แน่นอน เพราะฉะนั้นคาเฟ่ที่เปิดขายช่อดอกกัญชาและจากเดิมเคยเปิดให้มีห้องสูบให้ลูกค้าสูบได้  "ต้องปิด" โดยหลังจากนี้ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังประกาศมีผลบังคับใช้ จะมีการลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานประกอบการที่จำหน่ายกัญชา แต่ในช่วงนี้ยังให้เวลาร้านผู้ประกอบการได้ปรับตัว

...

ท้ายที่สุดแล้ว กัญชาก็จะต้องมีกฎหมายควบคุม และต้องฝากความหวังไว้ที่ พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ซึ่งอยู่ในสภา เรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาอยากจะให้มองถึงภาพรวม ถ้าหากอยากให้เรื่องของการผลักดันกัญชามีความยั่งยืน ต้องช่วยกันควบคุม ในสิ่งที่ไม่ควร จะทำให้ได้ประโยชน์ จากกัญชา

"แต่ถ้าไม่ควบคุมจนสุดท้าย ออกกฎหมายมาบังคับในภายหลัง หรือว่า หากมีปัญหามาก จนมีการเรียกร้องให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ทุกอย่างก็จะจบกลับไป เป็นเหมือนเดิม ในสิ่งที่เคยจะได้ ก็ไม่ได้ หากผู้ประกอบการคิดอยากจะใช้ประโยชน์จากกัญชาในระยะยาว ก็น่าจะต้องมีการควบคุมให้ดี"  นพ.ธงชัยกล่าว

ขณะที่ฝั่งของคนในแวดวง ธุรกิจร้านคาเฟ่กัญชา อย่าง "คุณไกด์ หรือ รัฐพล แสนรักษ์" เจ้าของร้าน Highland Cafe สะท้อนว่า ในมุมมองของคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ถือว่าการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการก็กังวลเรื่องของผลกระทบที่มีต่อสังคมเช่นกัน  ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายก็อยากจะทำให้มันถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาเกิดความไม่สบายใจเวลาที่เห็นคนไปขายกัญชา ตามตลาดนัด เปิดแผงขายในพื้นที่ที่มีเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ดี และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นเช่นนั้น ถือว่าอยู่ในส่วนที่พอจะรับได้ สำหรับคนทำมาค้า หรือทำธุรกิจ ยังพออยู่ได้

...

คุณไกด์ หรือ รัฐพล แสนรักษ์  เจ้าของร้าน Highland Cafe
คุณไกด์ หรือ รัฐพล แสนรักษ์ เจ้าของร้าน Highland Cafe

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่า ในภาคของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในประเทศไทย ก็มีกลุ่มใหญ่ๆ ที่รู้สึกไทยเรากับ "อัมสเตอร์ดัม" ที่สามารถสูบกัญชาในคอฟฟี่ช็อปได้

เมื่อมีการกำหนดว่าห้ามสูบในร้าน หรือ ไม่มีพื้นที่ให้ใช้กัญชา จะไปสูบที่โรงแรม ก็อาจจะไม่ได้ ก็จะมีคนอีกกลุ่มนึงที่จะเกิดความลำบาก ต้องยอมรับว่า เขาก็ต้องการใช้

มีผู้ประกอบการหลายรายที่เปิดสถานประกอบการขายช่อดอกกัญชาในที่ท่องเที่ยว ก็มีเสียงบ่นเช่นกันว่า เริ่มมีผลกระทบ ซึ่งหลายที่ขณะนี้ ก็ต้องทำตามกฎหมาย คือ  "ปิดห้องสูบ"

ต้องยอมรับว่า ประชาชนกลุ่มตอนนี้ก็มีการใช้กัญชาเชิงสันทนาการ กันจริงๆ ซึ่งเมื่อมีการยอมรับกันแล้วก็ควรที่จะจัดการเรื่องนี้ให้ชัดเจนไปเลย กำหนดโซนนิ่งให้ชัดเจนไปเลยว่า พื้นที่ไหนทำได้หรือทำไม่ได้ มีการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องครบถ้วน ส่วนในเชิงของการใช้ทางการแพทย์ก็ให้ชัดไปเลย ว่าตรงไหนเป็นขอบเขตในการใช้ทางการแพทย์ จะได้ไม่มามั่วกัน เมื่อมีความชัดเจนเกิดขึ้น เชื่อว่าจะทำให้การผลักดันเรื่องของการใช้กัญชาในประเทศไทยเกิดความยั่งยืน

วันนี้หากจะดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด หรือมีข้อกำหนดออกมามากขึ้นว่าไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ อาจมีผลกระทบค่อนข้างเยอะ ทำให้สินค้าที่ผลิตมาแล้ว ก็ต้องกลับลงไปใต้ดิน คนที่ลงทุนทำร้านไปแล้ว จ้างพนักงาน ก็ตกงานกันหมด ซึ่งหากการใช้ประโยชน์กัญชา ไม่มีความชัดเจน และถอยหลังกลับไป ก็อาจจะมีผลกระทบตามมา

“หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ได้ช่วยทำให้กัญชาหายไปไหน แต่จะทำให้ กัญชากลับไปอยู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมากกว่า”

ข้าวสารหาช่อง เปิด "แพลนโทเพีย" รับสายเขียวสูบกัญชาเพื่อสันทนาการ

พื้นที่ของ "ถนนข้าวสาร" ถือเป็นแหล่งศูนย์รวมของร้านขายกัญชาและคาเฟ่กัญชาเพื่อสันทนาการ ทำให้การประกาศคุมช่อดอกกัญชาครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไม่น้อย  "คุณสง่า เรืองวัฒนกุล" นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร  ได้หาทางออกให้กับผู้ประกอบการร้านขายกัญชาในย่านนี้

เมื่อสถานประกอบการที่ขายกัญชา ไม่สามารถเปิดให้สูบในร้านได้ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข  ทำให้ถนนข้าวสารจัดพื้นที่ส่วนกลาง ภายใน Plantopia (แพลนโทเพีย) ให้ลูกค้าที่ซื้อกัญชาจากร้านในย่านถนนข้าวสาร เข้ามาใช้พื้นที่ได้

พื้นที่ส่วนกลางสำหรับสูบกัญชา ในPlantopia (แพลนโทเพีย) ถนนข้าวสาร
พื้นที่ส่วนกลางสำหรับสูบกัญชา ในPlantopia (แพลนโทเพีย) ถนนข้าวสาร

"คุณสง่า" อธิบายว่า "เราเชื่ออยู่แล้วว่า กัญชา ไม่สามารถไปสูบในที่สาธารณะได้ การที่เราทำส่วนกลางขึ้นมา ต้องมีห้องพิเศษสำหรับการสูบ ลักษณะคล้าย กับ ซิก้าบาร์ "  เป็นห้องสำหรับสันทนาการโดยเฉพาะ ไม่ให้ไปรบกวนผู้อื่น   ขณะที่บางร้านที่ขายกัญชา ที่มีห้องส่วนตัวสำหรับลูกค้า มีการทำห้องขึ้นมาเพื่อสูบ  เมื่อทำไม่ได้ก็อาจจะต้องให้ผู้ประกอบการ "ทุบห้องทิ้ง" และให้มาใช้พื้นที่ส่วนกลางในแพลนโทเพียแทน

"หากร้านที่ขายกัญชา สูบในร้านไม่ได้ ก็ไปสูบพื้นที่ที่จัดให้สูบ ควรเป็นที่สันทนาการเฉพาะของ นักท่องเที่ยวและคนที่ชอบประเภทนี้"

สง่า เรืองวัฒนกุล  นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร
สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร

กังวลหรือไม่ว่า จัดพื้นที่ส่วนกลางให้สูบกัญชาแล้วหน่วยงานรัฐจะตีความว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถานประกอบการ?   "คุณสง่า" ระบุว่า เป็นส่วนที่แยกกันชัดเจน พื้นที่ที่เอามาทำ ไม่ใช่พื้นที่ที่หารายได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เองต้องหันกลับมามองว่า จะส่งเสริมผู้ประกอบการให้หารายได้อย่างไร ไม่ใช้สร้างอะไรเพื่อมากดผู้ประกอบการ

การเปิดพื้นที่สูบกัญชา มีการควบคุมคน เข้า- ออก  มีเจ้าหน้าที่คัดกรองก่อนจะเข้า ตรวจบัตรประชาชน 24 ชั่วโมง  ขณะที่คนที่สูบกัญชาส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้สูบจนเมา แวะมาสูบแล้วไปทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อ ถนนข้าวสารเป็นพื้นที่ของนักท่องเที่ยว เมื่อไทยเปิดกัญชาเสรี มีนักท่องเที่ยวมาก็ถามหากัญชา โดยลูกค้า 80% เป็นยุโรป คุ้นเคยกับกัญชาอยู่แล้ว และมีลูกค้ากลุ่มเอเชียเข้ามาเพิ่ม เรามองว่า กัญชา จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ เชื่อว่าสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและเป็นธุรกิจใหม่ของเอเชีย

เจ้าหน้าที่คัดกรอง ก่อนเข้าใช้บริการพื้นที่สูบกัญชา Plantopia (แพลนโทเพีย) ถนนข้าวสาร
เจ้าหน้าที่คัดกรอง ก่อนเข้าใช้บริการพื้นที่สูบกัญชา Plantopia (แพลนโทเพีย) ถนนข้าวสาร

"เรื่องของกัญชา เราเดินมาถึงตรงนี้แล้ว คงไม่ถอยหลัง  ต้องเราเอาเรื่องกฎหมาย เอา พ.ร.บ. มาควบคุม หากคิดว่าอันตรายเกินขอบเขต"

"คุณสง่า"  กล่าวทิ้งท้ายว่า  การผลักดันกฎหมาย "กัญชา" เรียกว่า "สะดุด" จนเกือบ "หกล้ม" เมื่อทำให้เสรีแล้ว ต่อไปจะทำอย่างไรให้มีร่างกฎหมายออกมาควบคุม  เรื่องกฎหมายในสภา "จะไม่เห็นด้วยข้อไหนก็ไปแก้ข้อนั้น  ไม่ใช่ตีตกไปทั้งร่าง อันไหนดีก็หยิบนำมาใช่ก่อน อันไม่ดีก็แก้ไข เพื่อให้มีกฎหมายในการควบคุม ไม่ใช่ปล่อยให้เละเทะ"

ทีมข่าวเฉพาะกินไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง