การทวงคืนพลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยที่มอบให้กับประเทศศรีลังกา เมื่อปี 2544 แต่กลับมีการดูแลไม่เหมาะสม ส่งผลต่อสวัสดิภาพสัตว์ เนื่องจากมีการล่ามโซ่ทั้งขาหน้า-หลัง โดยนำช้างไปหารายได้ในการเดินขบวนแห่ตามวัดต่างๆ เฉลี่ยปีละ 30 ครั้ง จนขาหน้าด้านซ้ายงอเข่าไม่ได้ ล่าสุดมีรายงานว่า งบประมาณในการจ่ายค่าอาหารเลี้ยงดูช้างที่สถานทูตไทยในเมืองโคลัมโบ จ่ายให้เดือนละ 5 หมื่นบาท จะหมดลงเดือนธันวาคมนี้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการส่งกลับไทย

“ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” สอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งระบุสั้นๆ ว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการประสานเพื่อรวบรวมเอกสารจะนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษายังประเทศไทย และต้องรอรายละเอียดการยืนยันจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ถึงความคืบหน้าต่อจากนี้

ส่วนแหล่งข่าวในประเทศศรีลังกา ที่ติดตามอาการป่วยของพลายศักดิ์สุรินทร์ ให้ข้อมูลว่า พลายศักดิ์สุรินทร์ ขณะนี้มีอายุ 30 ปี เป็นเชือกที่ 3 ที่ไทยส่งให้กลับศรีลังกา โดยจุดประสงค์การขอเพื่อนำไปแห่พระบรมสารีริกธาตุ แต่เมื่อได้ช้างไปกลับนำไปไว้ที่วัดแห่งหนึ่งนอกเมืองโคลัมโบ และมีการนำช้างไปหารายได้ในการเดินแห่ตามวัดต่างๆ จนช้างมีปัญหาด้านสุขภาพ

...

ที่ผ่านมาศรีลังกา มีการขอช้างจากหลายประเทศ โดยวัตถุประสงค์ในการขอส่วนใหญ่เพื่อการนำไปใช้ในขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ แหล่งข่าวย้อนกลับไปถึงช้างเชือกแรกที่ไทยส่งให้ศรีลังกา เมื่อปี 2523 ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ชื่อพลายประตูผา มีการขนส่งโดยเครื่องบิน c 130 ในเอกสารระบุว่า ขอเพื่อนำไปเป็นช้างแห่พระเขี้ยวแก้ว แต่เมื่อไปถึงกลับเป็นช้างอยู่ท้ายขบวน ปัจจุบันยังมีชีวิตและถูกเลี้ยงไว้ในวัดของศรีลังกา

ด้วยความชราของ พลายประตูผา ทำให้มีอาการตกมันบ่อยครั้ง ปัจจุบันจึงไม่ได้ร่วมในขบวนแห่ แต่ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากนำกลับมาประเทศไทยพร้อมกัน เพราะมีระบบการรักษาพยาบาลช้างที่ดีกว่า

ตามความเชื่อของชาวศรีลังกา เชื่อว่าช้างที่จะแห่พระเขี้ยวแก้ว ต้องเป็นช้างที่มีลักษณะ “งาอุ้มบาตร” คืองาต้องมีขนาดยาวและโค้งเหมือนแขนพระที่อุ้มบาตร แต่ช้างของไทยที่ส่งไปทั้ง 3 ตัว มีงาลักษณะใกล้เคียง เพราะงาแบบอุ้มบาตรค่อนข้างหาได้ยาก

ด้วยความที่ช้างสายพันธุ์พื้นเมืองของศรีลังกาไม่มีงายาว ทำให้ต้องขอจากนานาประเทศ แต่เมื่อได้ช้างไปกลับไม่นำช้างที่มีงายาวมาผสมพันธุ์กับช้างพื้นเมือง เพื่อแพร่กระจายพันธุ์ แต่กลับนำช้างที่ขอไปล่ามโซ่อยู่ในโรงเรือน โดยไม่ให้มีการผสมพันธุ์กับช้างอื่นตามธรรมชาติ จึงทำให้ศรีลังกา ต้องขอช้างจากหลายประเทศ

ส่วนช้างอีกเชือกที่มาพร้อมกับพลายศักดิ์สุรินทร์ เมื่อปี 2544 คือ พลายศรีณรงค์ มีการใช้งานในขบวนแห่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการขอ แต่สวัสดิภาพสัตว์การเลี้ยงดีกว่า

ช้างที่ส่งไปให้ศรีลังกาถือว่ามีความสวยงามตามตำราคชลักษณ์ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจของศรีลังกา ทำให้หน่วยงานที่ดูแลช้าง ขาดแคลนทุนทรัพย์จนสถานทูตไทยต้องนำเงินมาจ่ายค่าเลี้ยงดูให้เดือนละ 5 หมื่นบาท ดังนั้นการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ กลับประเทศไทย เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม ย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า

ขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมายังประเทศไทย และด้วยสุขภาพช้างที่ย่ำแย่อาจทำให้ช้างล้มได้ในเร็ววันนี้.