ข้าวหอมมะลิไทยเสียแชมป์ ในการประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลกปี 65 หรือ The World’s Best Rice 2022 ระหว่างการประชุมข้าวโลก จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยแพ้ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน ของกัมพูชา ที่มีกลิ่นหอมและรสชาติดีกว่า จึงเป็นสัญญาณอันตรายของหน่วยงานภาครัฐไทยต้องหันมาพัฒนาการผลิตข้าวใหม่ทั้งระบบ
“ปราโมทย์ เจริญศิลป์” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า การสูญเสียแชมป์ของข้าวหอมมะลิในครั้งนี้สะท้อนถึงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยที่ยังมีปัญหาการพัฒนาในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งมีความรวดเร็วในการพัฒนา แต่ไทยยังอยู่ที่เดิม เลยไม่แปลกใจที่ผลการประกวดออกมาเช่นนี้
ข้าวหอมมะลิไทย มีปัญหาเรื่องความหอมลดลง ผลมาจากการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งปีนี้มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก แต่ข้าวส่วนใหญ่ไม่มีคุณภาพ เนื่องจากชาวนาใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวของตัวเองจากปีก่อน นำมาเป็นต้นกล้าในการเพาะปลูก ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ ทั้งที่จริงกระทรวงเกษตรฯ ควรมอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกรทุกครั้งก่อนการเพาะปลูก
“ข้าวหอมมะลิ 105 ผลผลิตที่ออกมาขายไม่ได้ราคา เพราะโรงสีไม่รับซื้อ เนื่องจากมีเมล็ดสีแดงปนมาจำนวนมาก จึงทำให้โรงสีรับซื้อในราคาต่ำ ที่ผ่านมาเคยเสนอแนวทางแก้ไข โดยให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพแจกจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพในวงกว้างของประเทศ”
ปัญหาข้าวหอมมะลิมีเมล็ดสีแดงปนมาจำนวนมาก ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกข้าวหอมมะลิได้ เพราะข้าวไม่มีคุณภาพ ต่างจากเวียดนาม กัมพูชา หน่วยงานรัฐเป็นผู้แจกพันธุ์ข้าวทุกครั้งก่อนฤดูกาลเพาะปลูก ทำให้ข้าวหอมมะลิมีคุณภาพ และควบคุมผลผลิตได้ เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่รัฐแจกจ่ายมีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ที่เหมาะสมตามสภาพความต้องการของตลาดโลก
...
“ส่วนตัวยังเชื่อว่าข้าวหอมมะลิไทยมีมาตราฐานดีกว่าคู่แข่ง แต่ในการนำข้าวไปประกวดแต่ละครั้ง ไทยไม่มีการเปลี่ยนสายพันธุ์ มัวแต่เอาข้าวหอมมะลิ 105 ไปแข่งขัน แต่คู่แข่งพัฒนาสายพันธ์ุไปไกลกว่าหลายเท่า”
ขณะเดียวกันกระบวนการในการเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ เป็นอีกปัจจัยทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมลดลง เพราะสมัยก่อนชาวนาเกี่ยวข้าวแล้วตากข้าวไว้ในแปลงนา แต่ยุคนี้มีรถเกี่ยวข้าว แล้วโรงสีก็นำข้าวไปตาก ทำให้มีกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิลดลง รวมถึงส่งผลต่อคุณภาพของข้าวไทยที่ผ่านระบบอุตสาหกรรม
“ชีวิตชาวนามีแต่จะถอยหลัง ทำเท่าไรก็ไม่คุ้มกับที่ลงแรง แถมยังถูกกดขี่จากกลุ่มนายทุน เลยทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นชาวนามีน้อย ส่วนใหญ่คนที่มาทำนา อาศัยจ้างเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่มีคุณภาพ ซึ่งไม่แน่ว่าอนาคตไทยต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เพราะไม่มีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มาพัฒนาต่อ”.