“ตำรวจรถไฟ” อาจจะเป็นหน่วยงานผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หน่วยต้นๆ ที่จะต้องเดินตามแผนปฏิรูปตำรวจ หลังจาก ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ฉบับใหม่ 181 มาตรา และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีไทม์ไลน์ว่า ภายใน 1 ปี จะมีการยุบ “ตำรวจรถไฟ” และภายใน 2 ปี จะยุบภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน
เรื่องนี้กำลังถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ ในฐานะหน่วยงานที่ขึ้นกับตรงกับตำรวจสอบสวนกลาง ในมุมมองส่วนตัวว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการยุบ ทั้งที่เคยเสนอให้ขยายขอบเขตหน้าที่ให้ครอบคลุมกับรถไฟฟ้า และรถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วย และอาจจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ตำรวจราง” แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ดำเนินการมา 4-5 ปีแล้ว จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ทั้งนี้ ตำรวจรถไฟมีกรอบอยู่ที่ 870 อัตรา มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ที่ 738 อัตรา หากมีการยุบ ก็จะเปิดกว้างให้ตำรวจสมัครใจย้ายมาอยู่ที่สอบสวนกลาง หรือสถานีตำรวจต่างๆ
...
ยุบ “ตำรวจรถไฟ” กระทบขวัญ ห่วง...ความปลอดภัย ปชช.
ด้าน พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผบก.รฟ. กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ตอนนี้ได้มีการตั้ง สตช. ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือในภารกิจถ่ายโอนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ หรือ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งก็ต้องดำเนินการไปตามภาพใหญ่ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
โดย ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุว่า ตามมาตรา 163 เมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นอันยุบ และให้โอนเงินงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทยในส่วนที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินสำหรับเงินเดือน ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นของข้าราชการตำรวจในกองบังคับการตำรวจรถไฟ มาเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.ต.อำนาจ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะยุบเมื่อไหร่...เพราะต้องมีการพูดคุยในการเกลี่ยกำลังพลก่อน ส่วนมีรายงานว่าจะยุบตุลาคมปีหน้านั้น มันคือแนวคิดหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้มีมติ เพราะกำลังประชุมกันอยู่
“ฝ่าย ตร. มีมติให้ยุบปีหน้า แต่...คณะที่ทำงานด้านต่างๆ ยังไม่มีข้อยุติ ฉะนั้น การยุบเมื่อไหร่นั้น ก็เลยยังไม่ชัดเจน เพราะมีแนวทางของคณะกรรมการด้วย ก็เลยมีแนวคิดออกมาหลากหลาย ทั้งยุบเมษายนปีหน้า หรือตุลาคมปีหน้า”
เมื่อถามว่า การยุบตำรวจรถไฟไป มีเรื่องไหนที่สิ่งที่เป็นห่วง พล.ต.ต.อำนาจ อธิบายถึง ภารกิจของตำรวจรถไฟว่า สิ่งที่เป็นห่วงที่สุด คือ เรื่องความปลอดภัยของประชาชนและผู้โดยสารที่ใช้งานรถไฟ โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด
“ที่ผ่านมา เราจับผู้ลักลอบค้ายาเสพติด โดยเฉพาะ “ยาบ้า” กับ “ยาไอซ์” ใช้รถไฟเป็นพาหนะ ลักลอบลำเลียงจากภาคเหนือ ลงสู่พื้นที่อื่นๆ บ่อยครั้ง ซึ่งหาก...การทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้วไม่ใช่ “ตำรวจ” คนร้ายอาจจะไม่เกรงกลัว เพราะขนาดเป็นตำรวจเอง ยังไม่เกรงกลัว อีกทั้งอาจจะมีปัญหาด้านประสิทธิภาพตามมา”
เมื่อถามว่า ตำรวจรถไฟ 738 นาย เวลานี้ มีการพูดคุยกันอย่างไรบ้าง ผบก.รฟ. ยอมรับว่า กำลังถามความสมัครใจกันอยู่ ว่าอยากจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังอยากอยู่ใน “สอบสวนกลาง” และบางส่วนอาจจะต้องไปอยู่ตาม กองบังคับการอื่นๆ
“บางคนอยู่มานาน มีความรู้สึกเสียขวัญบ้าง เพราะมีความผูกพัน และกังวล ซึ่งเราก็ย้ำว่า อย่างไรเสีย ทาง บช.ก. ก็จะดูแลอยู่แล้ว และจะพยายามทำตามความต้องการของกำลังพล เท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว..”
...
วางยา ปฏิรูปตำรวจ? โอนภารกิจ แต่ไม่โอนคนและทรัพย์สินให้
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ความจริงไม่ควรใช้คำว่า “ยุบ” ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่มันควรใช้คำว่า “โอนย้าย” ภาระหน้าที่ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีรถไฟก็ควรที่จะใช้คำว่า “โอนย้าย” ไปให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยดูแล เพียงแต่...เมื่อมีการโอนย้ายแล้ว เจ้าหน้าที่เหล่านี้ ก็จะขึ้นตรงกับการรถไฟ ฉะนั้น อำนาจหน้าที่ของ “ตำรวจ” จึงหมดไป
ความเป็นจริง ตำรวจรถไฟเดิมเองก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมจะมีอยู่บ้าง บางพื้นที่เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะไม่มี เพราะรถไฟ...เป็นพื้นที่ ที่มีการเคลื่อนตัว ฉะนั้น เวลาเกิดเหตุรถไฟจึงถือเป็นที่เกิดเหตุ
ในขณะเดียวกัน เมื่อมีการยุบไปแล้ว ตำรวจก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะทุกตารางนิ้วในประเทศไทย ตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบ
แต่...สิ่งที่เกิดขึ้น คือ แทนที่จะโอนย้ายทุกอย่างไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ ทรัพย์สิน และภารกิจ แต่สิ่งที่ใน พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ระบุ กลับเป็นการยุบ มีการโอนภารกิจไปให้ แต่...ไม่โอนทรัพย์สินต่างๆ หรือกำลังเจ้าหน้าที่ แปลว่า.... รฟท. ต้องไปหา ฝึกคน มาทำหน้าที่ ดูแลความปลอดภัยบนรถไฟใหม่ทั้งหมดใช่ไหม... ฉะนั้น งบในส่วนนี้ก็ควรจะมีการโอนให้กับ รฟท. ด้วยหรือไม่
“ส่วนตัวมองว่า นี่คือ การวางยา เพราะ พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับใหม่นี้ ไม่ใช่ร่างของ ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ เสนอ เพราะมีการตัดสาระสำคัญออกไปหลายส่วน ที่เหลืออยู่บ้าง ก็คือ เรื่องการโอนย้ายดังกล่าว เพียงแต่ สิ่งที่เกิดขึ้น กับ “ตำรวจรถไฟ” เป็นสิ่งที่ยากกว่าหน่วยงานอื่น”
...
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า หากเป็นหน่วยงานอื่นๆ ที่มีการโอนย้าย เช่น กรมทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เขาก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่ แต่การรถไฟ คือ รัฐวิสาหกิจ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำ ก็คือต้องเร่งหารือกับการรถไฟ เพราะต้องรับหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยมาดูแลด้วยตัวเอง
“ไม่มีตำรวจรถไฟ อำนาจหน้าที่ตาม ป.วิอาญา ก็หายไป หากโอนย้ายมาทำงานกับการรถไฟ ก็ต้องลาออกจากตำรวจเสียก่อน เข้ามาเป็นพนักงาน รฟท. อำนาจหน้าที่ก็จะน้อยลง ประสิทธิภาพก็จะด้อยลงตามไปด้วยใช่ไหม... เพราะสิ่งที่ทำได้ คือ การใช้อำนาจแบบประชาชน แม้จะพกอาวุธได้ แต่ก็ทำได้แค่ระงับเหตุ และควบคุมตัวส่งตำรวจ”
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ความจริง “ตำรวจ” บทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจศาล ถามว่า เป็นตำรวจจริงๆ ไหม คำตอบคือ เขาเป็นข้าราชการ ที่ไม่มียศ หรือบางคนเคยเป็นตำรวจและโอนย้ายมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ตำรวจรถไฟ” จึงมีความคล้ายกัน ซึ่งจริงๆ ต้องเรียกว่า “โอน” เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การวางยา เพื่อทำให้การโอนย้ายในการปฏิรูปตำรวจ เกิดอุปสรรคมากขึ้น...?
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ