ถือเป็นเหตุการณ์ไม่น่าจะเกิดขึ้น สำหรับกรณี 2 หญิงไทย อายุ 37 ปี และ 49 ปี ได้เสียชีวิต บริเวณทางเดินเขา Mesokanto La Pass (เมโซคันโต ลา พาส) ในหมู่บ้านมัสแตง ประเทศเนปาล ขณะมาเดินเขา หรือเดินเทรค (Trekking) ในเส้นทางเดินเขาที่เรียกว่า อันนะปุรณะ เซอร์กิต หรือ Annapurna Circuit ซึ่ง เทือกเขา “อันนะปุรณะ” เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย
ทั้งนี้ มีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่า หญิงไทยทั้ง 2 คน ร่วมคณะเดินเขาเป็นชาวต่างชาติราว 22 คน แบ่งเป็น ชาวต่างชาติ 12 คน, ลูกหาบ 8 คน และไกด์นำทางอีก 2 คน เดินเทรคแบบไปและเดินโค้งกลับ ในเส้นทาง อันนะปุรณะ เซอร์กิต ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเทรคที่สวยติดอันดับโลก และได้รับความนิยมมากที่สุด มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 4,919 เมตร เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565
แต่แล้วหญิงนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยทั้งสองคนได้เสียชีวิตในบริเวณตีนทางเดินเขา Mesokanto La Pass ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 4,200 เมตร ขณะเดินเขาจากมานังไปยังหมู่บ้านมัสแตง
อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีการติดต่อพูดคุยกับ คุณ Nabin Subedi ไกด์ทัวร์ Sawasdee Nepal Treks and Tours ซึ่งถือเป็นบริษัททัวร์แห่งหนึ่งที่รับพานักท่องเที่ยวชาวไทยไปเที่ยวชมเส้นทางดังกล่าว
...
คุณ Nabin บอกว่า ทริปการเดินทางจะใช้เวลาประมาณ 17 วัน โดยในช่วงแรกจะเป็นการเดินทางจาก สนามบินกาฐมาณฑุ และเที่ยวในเมืองก่อน ก่อนจะเดินทางขึ้นเขาเพื่อเที่ยวชมธรรมชาติ ในการเดินทางจำเป็นต้องเตรียมร่างกายและอุปกรณ์ให้พร้อม เพราะต้องเดินทางผ่านช่องทางสูง นอกจากนี้ยังต้องเตรียมอาหารเพื่อสำหรับการตั้งแคมป์ด้วย
“กรณีคนไทยที่เสียชีวิต ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการชันสูตรอยู่ และหลังจากนี้จะมีการนำศพกลับสู่ประเทศไทย”
สำหรับการเดินขึ้นเขาของคนไทย โดยทั่วไปจะใช้เวลากว่า 7 วัน เพื่อเดินไปที่ความสูง 3,000 เมตร จากนั้นก็จะมีการเดินต่อไปจนถึง Meso kanta La pass ที่ความสูง 5,285 เมตร
“การเดินทางตั้งแต่วันที่ 8 พวกเขาอาจจะเจอหิมะตกบนพื้นจนถึงวันที่ 14 ของการเดินทาง ส่วนการพักแรมจะมีการพักด้วยเต็นท์เพียง 2 คืนเท่านั้น ที่เหลือจะเป็นการนอนเกสต์เฮาส์ที่บรรยากาศอุ่นกว่า โดยในวันที่ 10 จะเดินทางไปยังหมู่บ้าน Khangsar (3,735 เมตร) ค้างคืนที่เกสต์เฮาส์ วันที่ 11 เดินทางไปยังค่ายฐาน TiLicho (4,150 เมตร) ค้างคืนที่เกสต์เฮาส์ วันที่ 12 เดินทางสู่ทะเลสาบ Tilicho (4,920 เมตร) ค้างคืนที่เต็นท์ วันที่ 13 เดินทางสู่ kaisang (3,510 เมตร) หลังจากข้าม Meso Kanda La pass (5,285 เมตร) แล้ว ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาเที่ยวชมธรรมชาติ ณ ที่แห่งนี้ประมาณ 5 แสนคน”
ผู้พิชิตเขา “เอเวอเรสต์” ชี้เส้นทาง ไม่อันตราย แต่มีความเสี่ยง
ด้าน นายวิทิตนันท์ โรจนพานิช นักปีนเขาคนไทยคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของหิมาลัย กล่าวถึงการเดินเทรคเส้นทาง “อันนะปุรณะ เซอร์กิต” ว่า ตนเคยเดินทางไปมาแล้ว แต่ไม่ได้เดินรอบๆ แต่ในระดับความสูงเท่านั้น ก่อนการเดินทางก็ต้องมีการเตรียมตัว
1.เตรียมร่างกายให้พร้อมกับสภาวะอากาศหนาว สูง อากาศเบาบาง ต้องทนทรหด เพราะต้องเจอกับสภาวะความกดอากาศต่ำ ฉะนั้นก่อนไปจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม
2.ความพร้อมด้านข้อมูล คือต้องมีความรู้เกี่ยวการเดินทาง และต้องเตรียมพร้อมทุกๆ อย่าง เช่น อาหารการกิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินใครจะช่วย
3.ความรู้เรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ คนที่จะเดินทางลักษณะนี้ต้องมีความรู้การใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ผู้พิชิตเขาเอเวอเรสต์ ได้ยกตัวอย่างว่า สิ่งที่ต้องคิดและมีความรู้คือ เสื้อผ้าที่เตรียมไปเพียงพอหรือไม่ และเข้าใจการใช้งานหรือไม่...ยกตัวอย่าง คนไทยบางคนไม่รู้เรื่องเหล่านี้ เพราะประเทศไทยสิ่งอำนวยความสะดวกดี บางที่รถขึ้นถึง เช่น ดอยตุง เชียงดาว จึงทำให้ไม่เข้าใจการใช้เสื้อผ้า
“บางคนไม่รู้ว่าต้องใส่เสื้อผ้าอย่างไรก็ใส่เสื้อหนาไว้ก่อน ใส่เสื้อผ้า 4-5 ชั้น เรียกว่าภายในอุ่นเลย แต่...เมื่อเดินไปสักพัก ร้อน เหงื่อออก ก็เลยถอดออก ซึ่งความร้อนที่เก็บรักษาไว้หายไปหมด ก็กลายเป็นเย็น....ก็เอามาใส่อีก 4-5 ชั้น เรียกว่ามีการถอดเข้าออกหลายครั้ง จนทำให้เกิดอาการป่วย ภูมิคุ้มกันต่ำลง หรือบางเคสเลือกรองเท้าไม่อุ่นพอ หรือบางทีต้องใส่แบบกอร์เท็กซ์ เพื่อระบายความชื้น ซึ่งพอเราไม่เข้าใจเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะร่างกายไม่ปรับตัว”
...
หากมีความรู้ด้านข้อมูล ความสูง จุดพัก คนที่ร่างกายสุขภาพดี และปรับตัวได้ ทุกอย่างจะง่าย
การเดินเทรคกิ้งมี 2 แบบ
นายวิทิตนันท์ ยังบอกด้วยว่า การเดินเทรคกิ้งแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ...
1.เทรคกิ้งแบบธรรมดา ยกตัวอย่าง การเดินทางไปเบสต์แคมป์ หรือ Annapurna Circuit นี่เรียกว่าเป็นการเดินแบบ Trekking ธรรมดา ซึ่งจะเป็นการเดินเป็นรอบๆ เพื่อเที่ยวชมธรรมชาติ
2.หากเป็น Trekking peak จะเป็นการเดิน และไต่ความสูงขึ้นไปอีก
นอกจากการเดินเทรคกิ้งแล้ว อีกแบบ คือ mountaineering (การปีนเขา) ซึ่งเป็นการปีนแบบจริงจัง ส่วนมากจะเป็นคณะสำรวจ
...
เหตุไม่คาดฝัน ภัยแฝงเร้นจากการเดินทางชมธรรมชาติ สวย...อันตราย
ถึงแม้เส้นทางการเดินทางเที่ยวชมธรรมชาติ Annapurna Circuit จะเป็นการเดินทางที่ไม่ได้น่ากลัว แต่...โอกาสเสี่ยงจากภัยเร้นอื่นๆ ก็มี นายวิทิตนันท์ กล่าวว่า สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว ถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง บางคนไม่ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัวด้วยซ้ำ ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือข้อมูลอากาศ อาหารการกิน และแผนการช่วยเหลือ หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด นี่คือสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนไป..
บางกรณีอาจจะเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น เจอพายุหิมะ ต้องติดอยู่บนเขา 1-2 วัน บางคนไม่สามารถปรับตัวกับสภาพอากาศได้ หรือบางคน เร่งเดินทางมากเกินไป อาทิ สรีระบางคนตัวสูงใหญ่ การก้าวเดินของเขาได้เร็วกว่า เราจะก้าวให้ทันเขา แต่เราตัวเล็กกว่าจึงต้องเร่ง ทำให้เหนื่อยกว่า แค่เดินตามชั่วโมงเดียวเราก็เหนื่อยมาก ไปต่อไม่ได้...”
ฉะนั้น ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ คือ ต้องรู้จักขีดจำกัดในแต่ละด้าน คือ ต้องรู้ขีดจำกัดของตัวเองว่าร่างกายผ่านการเทรนด์มาแค่ไหน และข้อจำกัดของอุปกรณ์ องค์ความรู้และการใช้งาน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงได้ เช่น การเดินทางคนเดียว หรือเป็นคู่ ซึ่งตรงนี้เราอาจจะกำหนดช้าเร็วได้ แต่...หากไปกับบริษัทเทรคกิ้ง คำถามคือบริษัทเหล่านี้เขาเข้าใจเราแค่ไหน หากได้บริษัทที่ได้มาตรฐาน มีคนดูแลอย่างเพียงพอ เขาดูเราแป๊บเดียวก็รู้แล้วว่า “ไหว” หรือ “ไม่ไหว”
...
หนึ่งในผู้พิชิตเขาเอเวอเรสต์ กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เห็นมา บางบริษัทราคาไม่แพงมาก มีสตาฟฟ์น้อย การดูแลก็อาจจะไม่ทั่วถึง หรืออุปกรณ์ไม่ค่อยดี ฉะนั้นหลายเคสที่เกิดขึ้นที่เดินทางไปแล้วไม่ถึง หรืออาจเสียชีวิต เพราะ “เอเจนซี่” ได้ นี่คือโอกาสหนึ่งที่เป็นไปได้
“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ควรมีคนเสียชีวิตอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นเส้นทางไม่อันตราย เรียกว่าเป็นเส้นทางที่ใครๆ ก็ไปได้ ซึ่งปกติทริปโดยทั่วไปจะใช้เวลา 21 วัน แต่เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่... ปกติแล้วการเดินทางไป เอเวอเรสต์ เบสแคมป์ (5,270 เมตร) ใช้เวลาเดินทาง 9 วัน 11 แคมป์ ขากลับ 3-4 วัน น้อยที่สุดที่ทำได้คือ 8 วัน ส่วนตนเอง 6-7 วัน ยังพอไหว แต่สำหรับคนอื่นไม่แนะนำให้ทำแบบนี้”
โรคป่วยเฉียบพลันจากความสูง!
แสดงว่าเส้นทางการเดินเทรคกิ้งครั้งนี้ไม่ได้สมบุกสมบันมาก...? ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ยอมรับว่า เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพียงแต่...ต้องเจอสภาพอากาศหนาว วิธีการเดินทาง อุปกรณ์ที่ใช้ และร่างกายของเราดีแค่ไหน...ซึ่งบางเรื่องก็ต้องระมัดระวัง อย่าคิดว่าอะไรก็ง่ายไปหมด ซึ่งระยะทางการเดินทั้งรอบก็นับร้อยกิโลเมตร
สิ่งที่อยากจะฝากทุกคนไว้เลยว่า เวลาจัดทริป หรือจะไปทริปลักษณะนี้ อย่าคิดว่าใช้เวลาเพียงสั้นๆ ก็เที่ยวได้ คิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะเราย่นย่อไม่ได้ เพราะว่าร่างกายของเรายังปรับตัวไม่ได้ เพราะโอกาสการเสียชีวิตที่เขาหิมาลัยอาจจะมาจาก 2 ข้อ คือ 1.ร่างกายไม่แข็งแรงพอ และร่างกายปรับตัว 2.ไปเจอสภาพอากาศเลวร้าย
“ถ้าร่างกายดี แต่ร่างกายไม่ปรับตัว สามารถแก้ได้ด้วยการลงจากเขา โดยหาคนช่วยพาลง หากเจอสภาพอากาศเลวร้ายด้วย ซึ่งเดือนนี้ เรียกว่าเริ่มเข้าสู่หน้าหนาวแล้วด้วย อากาศที่นั่นก็จะหนาวเย็นมาก เสื้อผ้าที่เตรียมไปไม่พอ ถ้าเจอแบบนี้คือตายสถานเดียว”
เมื่อถามว่า ระดับความสูงกว่า 5,000 เมตร มีผลต่อการหายใจแค่ไหน นายวิทิตนันท์ กล่าวว่า ถ้าผ่านการปรับตัวมาแล้ว ถือว่าหายใจได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วย เพราะถือว่าเตรียมร่างกาย และไปตามกฎระเบียบที่ตั้งไว้แล้ว เมื่อเดินทางมาถึงระดับความสูงที่ 3,000 เมตร จะมีการหยุดพักก่อนเพื่อปรับสภาพร่างกายก่อน จากนั้นค่อยไต่ระดับไปที่ 4,000-5,000 เมตร ก็จะไม่มีอุปสรรคอะไรมาก เพียงแต่...บางคนไม่ปรับตัว หรือปรับตัวไม่ได้
“บางคนมีอาการ Acute Mountain Sickness (AMS) หรือ โรคป่วยเฉียบพลันจากความสูง จะมีอาการออกตั้งแต่ความสูงในระดับ 2,500-3,000 เมตร โดยจะมีอาการปวดหัวมาก อาเจียน ซึ่งถ้าเรารู้ตัวต้องรีบจัดการตัวเอง หรือแจ้งคนในคณะก่อน เพื่อลงมาในระดับ 500-600 เมตร เช่น อยู่ 3,000 เมตร ก็ลงมาที่ 2,400-2,500 เมตร ด้วยการดื่มน้ำเยอะๆ พักผ่อน กินอาหารให้ร่างกายมีพลังงาน ถ้าอยากไปต่อก็ลองขึ้นไปใหม่ แต่...คนที่ป่วย AMS มันจะเหมือนลูกธนูที่กำลังลอยในอากาศ จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อป่วยแล้ว โรคนี้จะรู้ตัวแบบปัจจุบันทันด่วน รู้ตัวก็เป็นแล้ว สิ่งเดียวที่ต้องทำคือยอมลงจากเขา...”.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ